สังคม
เช็กด่วน! 'คลินิกเถื่อน-คลินิกชื่อดัง' 8 แห่ง ลอบใช้ยาไม่มีทะเบียน ฉีดเครื่องสำอางแทนยาเข้าเส้น
โดย paweena_c
14 มี.ค. 2567
1.5K views
ตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ร่วม สบส., อย. ปูพรม 8 จุด ค้นคลินิกเถื่อน - คลินิกชื่อดัง ลักลอบใช้ยาไม่มีทะเบียน และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ฉีดเข้าเส้นให้แก่ผู้ใช้บริการ
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมปฏิบัติการระดมตรวจค้นคลินิกทั่วประเทศ 8 จุด ลักลอบใช้ยาไม่มีทะเบียน และผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีดเข้าร่างกาย และใช้บุคลากรที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมทำการรักษาประชาชน
พฤติการณ์ สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขอให้ทำการตรวจสอบสถานพยาบาลที่มีการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ โฆษณาเครื่องสำอางที่บรรจุในภาชนะบรรจุรูปแบบแอมพูล/ไวแอล(ขวดแก้ว) มีการนำไปใช้ผิดวิธี/ผิดวัตถุประสงค์ในคลินิกเสริมความงาม โดยอวดอ้างสรรพคุณ ช่วยในการทำงานของสมอง หัวใจและหลอดเลือด การหายใจ การนอนหลับ การซ่อมแซมของ DNA ปฏิกิริยาอนุมูลอิสระต่างๆในร่างกาย ป้องกันการชราภาพและระบบภูมิคุ้มกัน เหมาะกับทุกคนที่อยากดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อให้มีอายุขัยและคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนาน โดยเฉพาะบางกลุ่มเช่น คนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย กลุ่มนอนหลับยาก มีปัญหาด้านระบบประสาท ระบบหัวใจ โรคเบาหวาน อันมีลักษณะการใช้เช่นเดียวกับยารักษาโรค หากฉีดเข้าสู่ร่างกายและเข้าสู่กระแสเลือด อาจมีอันตรายต่อร่างกาย ด้วยเครื่องสำอางดังกล่าวไม่ได้ผ่านการรับรองการฆ่าเชื้อ และผลิตในเชิงการแพทย์ อีกทั้งไม่พบว่าเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานแพทย์ของรัฐ คลินิกบางแห่งใช้หมอเถื่อนในการตรวจรักษา จึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. เพื่อทำการตรวจสอบ
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนแล้ว พบว่ามีสถานพยาบาลชื่อดังหลายแห่ง มีการโฆษณานำเครื่องสำอางมาฉีดให้กับผู้มารับบริการ โดยอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง จนนำมาสู่การร่วมปฏิบัติระดมกวาดล้างสถานพยาบาลที่ทำผิดกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รวม 8 จุด ดังนี้
1. สถานพยาบาลเสริมความงาม ตั้งอยู่บริเวณซอยลาดพร้าว 94 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ขณะเข้าตรวจสอบพบว่ากำลังให้บริการฉีดเครื่องสำอางให้กับประชาชนที่มารับบริการ ตรวจสอบพบผู้ที่ให้บริการฉีดยา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
จับกุม น.ส.ศิราวรรณ (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี ผู้ให้บริการฉีดยา ในข้อกล่าวหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต โดย น.ส.ศิราวรรณฯ รับว่าตนเองจบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล มาทำงานคลินิกนี้ได้ประมาณ 8 เดือน รับเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท และได้แจ้งข้อหาผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ฐาน “เป็นผู้ดำเนินการไม่ควบคุมและดูแลมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพผิดไปจากสาขา ชั้น หรือแผน ที่ได้รับอนุญาตได้แจ้งไว้ในการขอรับใบอนุญาต หรือมิให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล”
ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด จำนวน 1 รายการ ยาแผนปัจจุบัน 4 รายการ เครื่องมือแพทย์ 1 รายการ รวมของกลาง จำนวน 6 รายการ มูลค่าของกลางประมาณ 200,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
2. สถานพยาบาลเสริมความงาม ตั้งอยู่ บริเวณซอยโยธินพัฒนา แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ขณะเข้าตรวจสอบพบว่ากำลังให้บริการฉีดเครื่องสำอางให้กับประชาชนที่มารับบริการ และพบบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเครื่องสำอางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ตรวจสอบพบผู้ที่ให้บริการฉีดยา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
จับกุม น.ส.สุวนันท์ (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี ผู้ให้บริการฉีดยา ในข้อกล่าวหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต โดย น.ส.สุวนันท์ รับว่า ตนเองจบหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ปกติจะเป็นผู้ช่วยแพทย์ ยกเว้นวันที่แพทย์ไม่เข้ามาที่คลินิก ตนเองก็จะเป็นผู้ฉีดยาให้กับผู้มารับบริการ ทำงานที่คลินิกแห่งนี้ได้ประมาณ 1 ปี รับเงินเดือน เดือนละ 18,000 บาท
ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด จำนวน 6 รายการ ยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา 5 รายการ ยาแผนปัจจุบัน 5 รายการ เวชระเบียนผู้มารับบริการโดยใช้เครื่องสำอางฉีด จำนวน 35 ฉบับ เอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง (ป้ายโฆษณา แผ่นพับ โบว์ชัวร์) จำนวน12 รายการ รวมของกลาง จำนวน 64 รายการ มูลค่าของกลางประมาณ 300,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
3.สถานพยาบาลเสริมความงามตั้งอยู่บริเวณ ถนนรัชดาภิเษก แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ตรวจยึด ยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 12 รายการ ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด จำนวน 3 รายการ แผ่นพับ ป้ายโฆษณา จำนวน 2 รายการ รวมของกลาง 17 รายการ มูลค่าของกลางประมาณ 200,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
4. สถานพยาบาลเสริมความงาม ในพื้นที่ ถนนสุขุมวิท แขวงวัฒนา เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 จากการตรวจสอบสถานพยาบาลดังกล่าว เปิดดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต (คลินิกเถื่อน) ขณะเข้าตรวจสอบพบว่ากำลังให้บริการฉีดยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยาให้กับประชาชนที่มารับบริการ ตรวจสอบพบผู้ที่ให้บริการฉีดยา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
จับกุม น.ส.วิภารัตน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ในข้อกล่าวหา ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต,ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต,ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต โดย น.ส.วิภารัตน์ฯ รับว่าตนเองจบหลักสูตรพยาบาล มาทำงานที่คลินิกแห่งนี้ได้ประมาณ 1 เดือน รับเงินเดือน เดือนละ 25,000 บาท
ตรวจยึด ยาที่ยังมิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 5 รายการ ยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 6 รายการ เวชภัณฑ์ จำนวน 8 รายการ เวชระเบียนผู้มารับบริการ จำนวน 45 ราย รวมของกลาง 63 รายการ มูลค่าประมาณ 200,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
5. สถานพยาบาลเสริมความงาม ในพื้นที่ถนนสุขาภิบาล 2 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับประชาชน จำนวน 9 รายการ ยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 5 รายการ เครื่องมือแพทย์ จำนวน 1 รายการ เวชระเบียนผู้มารับบริการ จำนวน 11 ฉบับ แผ่นพับ ป้ายโฆษณา จำนวน 6 รายการ รวมของกลาง จำนวน 31 รายการ มูลค่าประมาณ 400,000 บาท นำส่ง พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
6. สถานพยาบาลเสริมความงาม ในพื้นที่ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับประชาชน จำนวน 1 รายการ ยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา จำนวน 2 รายการ เครื่องมือแพทย์ จำนวน 1 รายการ รวมของกลาง จำนวน 4 รายการ มูลค่าประมาณ 200,000 บาท นำส่ง พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี
7. สถานพยาบาลเสริมความงาม ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 5 ต.หนองป่าครั่ง อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ขณะเข้าตรวจสอบพบว่ากำลังให้บริการฉีดเครื่องสำอางให้กับประชาชนที่มารับบริการ และพบบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเครื่องสำอางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ตรวจสอบพบผู้ที่ให้บริการฉีดยา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
จับกุม น.ส.วันวิสา (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี ในข้อกล่าวหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต โดยน.ส.วันวิสา รับว่า ตนเองจบชั้น ปวช. ทำงานที่คลินิกแห่งนี้ได้ประมาณ 1 ปี รับเงินเดือน เดือนละ 12,000 บาท มีประสบการณ์จากการเคยทำงานในคลินิกอื่นมาก่อน
ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่นำไปใช้ผิดประเภทโดยการนำมาฉีด ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับประชาชน จำนวน 5 รายการ ยาที่ยังมิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 9 รายการ ยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา จำนวน 6 รายการ มูลค่าประมาณ 400,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่ปิง จ.เชียงใหม่ ดำเนินคดี
8. สถานพยาบาลเวชกรรม ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 13 ถนนสายเกาะกลาง ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ตรวจสอบผู้ให้บริการตรวจรักษา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูล
จับกุม น.ส.นัตธกุล(สงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี ในข้อกล่าวหา “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต,ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาต โดย น.ส.นัตธกุล รับว่าตนเองจบการศึกษาระดับปริญญาโท จากต่างประเทศ ด้านการบริหารงานบุคคล แต่มีความสนใจในด้านการแพทย์ จึงมาทำการรักษา ณ คลินิกดังกล่าว ทำมาแล้วหลายปี อาศัยความรู้จากการเคยทำงานที่คลินิกอื่นมากก่อน ผู้มารับการรักษาส่วนมากจะเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
ตรวจยึด ยาแผนปัจจุบัน จำนวน 16 รายการ โดยเป็นยาประเภทวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จำนวน 6 รายการ เวชระเบียน เอกสารอื่นๆ จำนวน 4 รายการ มูลค่าประมาณ 150,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.สารภี จ.เชียงใหม่ ดำเนินคดี
รวมตรวจค้น 8 จุด ตรวจยึดของกลาง จำนวน 205 รายการ มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท โดยเป็น ผลิตภัณฑ์จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง แต่ฉลากระบุฉีด จำนวน 25 รายการ ยามีทะเบียนตำรับยา จำนวน 31 รายการ, ยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยา 29 รายการ, เครื่องมือแพทย์ จำนวน 19 รายการ, เครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 4 รายการ, เวชภัณฑ์ จำนวน 17 รายการ, เวชระเบียนและเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จำนวน 112 รายการ
จับกุมผู้ต้องหา 6 ราย (แพทย์เถื่อน 5 ราย) เจ้าของคลินิก 1 ราย โดยผู้ทำการรักษาจบระดับชั้น ปวช. จำนวน 1 ราย หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล จำนวน 2 ราย ปริญญาตรี 2 ราย ปริญญาโท 1 ราย โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา
อนึ่ง การปล่อยให้บุคคลที่มิใช่แพทย์มาให้บริการรักษา ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ปล่อยปละละเลยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทำการประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีคำสั่งทางปกครองให้ปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรืออาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยหากพบการกระทำความผิดพนักงานสอบสวนจะมีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท “ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท
4. พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึด เจ้าหน้าที่ จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ดำเนินการสถานพยาบาล หากพบจะมีความผิด ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์ Infinadi NAD+ aging solution เลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-1-6400040195
- เป็นเครื่ิองสำอางปลอม ตาม ม.29 (4) ฝ่าฝืน ม.27(2) โทษ ตาม ม.76 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- เป็นเครื่องสำอางที่รัฐมนตรีประกาศห้าม ตาม ม.6(1) ฝ่าฝืน ม.27(4) โทษ ตาม ม.60 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฉลากแสดงข้อความไม่ตรงต่อความเป็นจริง ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของความเป็นเครื่องสำอาง ฝ่าฝืน ม.22 วรรคสอง (1) ฝ่าฝืน ม.32(3) โทษ ม.67 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฉลากแสดงข้อความที่จำเป็นไม่ครบถ้วน ตาม ม.22(3) ฝ่าฝืน ม.32(4) โทษ ม.68 วรรคสองจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ผลิตภัณฑ์ GN Serum เลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-2-6500016903 และ Collagen Plus Skin serum เลขที่ใบรับจดแจ้ง 10-2-6500011009
- เป็นเครื่องสำอางที่รัฐมนตรีประกาศห้าม ตาม ม.6(1) ฝ่าฝืน ม.27(4) โทษ ตาม ม.60 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- เป็นเครื่องสำอางที่ถูกสั่งเพิกถอนใบรับจดแจ้งตาม ม.36 ฝ่าฝืน ม.27(5) โทษตาม ม.83 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท
- ฉลากแสดงข้อความไม่ตรงต่อความเป็นจริง ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของความเป็นเครื่องสำอาง ฝ่าฝืน ม.22 วรรคสอง (1) ฝ่าฝืน ม.32(3) โทษ ม.67 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฉลากแสดงข้อความที่จำเป็นไม่ครบถ้วน ตาม ม.22 (3) ฝ่าฝืน ม.32(4) โทษ ม.68 วรรคสอง จำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า ตามที่ นายแพทย์สุระวิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กรม สบส. เฝ้าระวัง ปราบปราม คลินิกเถื่อน และกวดขันตรวจสอบสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียน มิให้มีการกระทำผิดกฎหมาย ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในการตรวจค้นคลินิกทั้ง 6 จุดในครั้งนี้ ซึ่งสามารถจับกุมผู้กระทำผิด และยึดของกลางได้หลายรายการ
โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงจากการจับกุมในครั้งนี้ นอกจากการลักลอบให้บริการของหมอเถื่อนที่ขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการแพทย์แล้ว ยังมีการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอย่างผิดวัตถุประสงค์ กรม สบส.จึงขอแนะให้ประชาชนสังเกตหลักฐานของคลินิกและแพทย์ก่อนรับบริการทุกครั้ง ซึ่งนอกจากจะต้องตรวจสอบป้ายคลินิกว่ามีการแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลักใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลแล้ว จะต้องตรวจสอบชื่อ-นามสกุล รูปถ่ายและใบอนุญาตของแพทย์ที่ตรวจรักษา
และในกรณี ของการฉีดสารเสริมความงาม หรือสารใดๆก็ตามเข้าสู่ร่างกายควรจะขอดูชื่อผลิตภัณฑ์ และเลขที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ว่ามีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหรและยา (อย.) หรือไม่ เพื่อความปลอดภัย อย่างผลิตภัณฑ์ “Infinadi NAD+ aging solution” ที่ยึดได้ในครั้งนี้ เป็นเครื่องสำอางปลอม ไม่ได้ผ่านการรับรองการฆ่าเชื้อ และได้รับรองจากหน่วยงานแพทย์ของรัฐ หากประชาชนได้รับการฉีดสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายจนเกิดความพิการ หรือเสียชีวิตได้ หากประชาชนท่านใดพบหรือทราบเบาะแสการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว ก็ขอให้แจ้งมาที่กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 หรือหากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่โดยทันที
ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่ร่วมกันเข้าตรวจสอบคลินิกนำเครื่องสำอางในขวดรูปแบบยาฉีด (แอมพูล/ไวแอล) ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยการฉีดเข้าร่างกายหรือใช้ร่วมกับเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ในการผลักดันสารเข้าสู่ผิวหนังเพื่อความสวยงาม โดยอ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่าน อย. และพบการลักลอบใช้เครื่องสำอางที่เพิกถอนใบรับจดแจ้งมาใช้กับผู้รับบริการ
ผลการตรวจสอบพบการใช้ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา, พบการลักลอบใช้เครื่องสำอางที่เพิกถอนใบรับจดแจ้ง และพบการนำเครื่องสำอางที่มีเลขที่ใบรับจดแจ้งที่มีไว้ให้บริการโดยวิธีฉีดจริง ซึ่งทาง อย., กก.4 บก.ปคบ.และ สบส. จะร่วมกันเข้าตรวจสอบกับคลินิกที่ลักลอบนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ และขยายผลถึงแหล่งนำเข้าและจำหน่ายรายใหญ่ หากพบจะดำเนินคดีอาญาและทางปกครองต่อไป
ผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งเป็นเครื่องสำอางจะไม่มีการประเมินความปลอดภัยจากการใช้ไปฉีดเข้าสู่ร่างกายเนื่องจากเครื่องสำอางจะใช้ทาภายนอกเท่านั้น ดังนั้น หากนำเครื่องสำอางไปใช้ผิดวิธีหรือผิดวัตถุประสงค์อาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ ทั้งนี้ อย. ได้มีการเพิกถอนใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่พบว่ามีการนำไปใช้ฉีดแล้ว จำนวน 6 ฉบับ และมีการดำเนินคดีผู้โฆษณาจำนวน 12 ราย
จึงขอเตือนทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการในคลินิกเสริมความงาม โรงพยาบาล ให้ตรวจสอบฉลากและพิจารณาการใช้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบแอมพูล/ไวแอลอย่างละเอียด โดยเฉพาะที่มีการกล่าวอ้างว่า “ผ่าน อย. แล้ว” เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผ่าน อย. มีหลายประเภทตามระดับความเสี่ยง กรณีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกาย จัดว่ามีความเสี่ยงสูง ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นยา หรือเครื่องมือแพทย์เท่านั้น โดย อย. ได้จัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดแจ้งเป็นเครื่องสำอางที่บรรจุอยู่ในแอมพูล/ไวแอล เผยแพร่ให้ประชาชนเข้าตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ อย.
หากพบว่าผลิตภัณฑ์จดแจ้งเป็นเครื่องสำอาง ห้ามนำมาใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกายหรือใช้ร่วมกับเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ เพื่อผลักดันสารเข้าสู่ผิวหนังโดยเด็ดขาดและการใช้ยาในคลินิกเสริมความงาม โรงพยาบาล จะต้องเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วเท่านั้น หากผู้บริโภคพบคลินิกที่มีพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้น สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th, Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ก่อนเข้ารับการรักษาโรค หรือเสริมความงาม ตามสถานพยาบาลต่างๆ ควรตรวจสอบการได้รับอนุญาตของคลินิกและแพทย์ที่ทำการรักษาก่อนในเบื้องต้น เพราะอาจทำให้ได้รับความเสี่ยงในการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องจากบุคลากรที่ไม่ใช้แพทย์ เนื่องจากบริเวณใบหน้ามีเส้นเลือดและเส้นประสาทเป็นจำนวนมาก
หากทำการฉีดรักษาโดยบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์อาจทำให้ได้รับความเสี่ยงต่อการรักษาที่ผิดพลาด และเกิดผลกระทบกับใบหน้าได้ง่าย บางรายอาจถึงขั้นเสียโฉมยากต่อการแก้ไข และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด พี่น้องประชาชนหากพบสถานพยาบาลหรือแพทย์ที่ต้องสงสัยว่าอาจอยู่ลักษณะหมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค