สังคม

'พิรงรอง' ตั้งคำถามถึงความโปร่งใส การพิจารณาแนวทางคัดเลือก 'เลขาธิการ กสทช.'

โดย weerawit_c

9 มี.ค. 2566

47 views

จากกรณีการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2566 ได้พิจารณาเรื่อง พิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.



โดยที่ประชุมมีมติ 3:3 ซึ่งคะแนนเสียงเท่ากัน ประธาน กสทช. จึงได้ใช้สิทธิในฐานะประธานที่ประชุมลงมติชี้ขาดเพื่อให้ดำเนินการพิจารณาประชุมพิจารณากำหนดคุณสมบัติอื่นของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ต่อไป



ล่าสุด ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Pirongrong Ramasoota’ กรณีการพิจารณาแนวทางคัดเลือก ‘เลขาธิการ กสทช.’ ของบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566



ระบุว่า "ขออนุญาตโพสต์ก่อนหมดวัน ประเด็นคำถามต่อกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่จำกัดการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการ กสทช.



วันนี้ กสทช. มีมติโดยเสียงชี้ขาดของประธาน กสทช. หลังเสียงโหวตของกรรมการ (รวมประธานด้วย)ออกมา 3-3 เท่ากัน ในประเด็นการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. โดยฝั่งหนึ่งเห็นว่าจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นเลขาธิการกับกระบวนการคัดเลือกไปพร้อมๆ กัน ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งมองประเด็นกระบวนการคัดเลือกแยกขาดจากคุณสมบัติ โดยฝ่ายหลังมองว่าประธานมีอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ ทั้งนี้โดยอ้างถึงมาตรา 61 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่ว่า "ให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช."



​ในการลงมติวันนี้ สำนักงาน กสทช. โดยอำนาจการบรรจุวาระของประธานได้เสนอกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. เป็นวาระเพื่อทราบ และเสนอเรื่องคุณสมบัติเป็นวาระเพื่อพิจารณาแยกจากกัน ซึ่งกรรมการสามเสียงที่โหวตให้ถอนวาระการพิจารณาแบบแยกส่วนอย่างนี้ออกไป ตั้งคำถามอย่างชัดเจนต่อการกระทำที่ขัดต่อมติ กสทช. ที่เคยบอกให้รวมทั้งสองเรื่องอยู่ในวาระเดียวกัน และต่อข้อเสนอของประธาน กสทช. ที่เสนอให้กระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน รวม 5 สัปดาห์ ได้แก่



1.กสทช. เห็นชอบกำหนดคุณสมบัติอื่น ตามมาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯ พ.ศ.2553

​2.​ประธาน กสทช. ส่งหนังสือเชิญทาบทามผู้ที่มีคุณสมบัติ ใช้เวลา 7 วัน

​3.​ผู้ประสงค์ส่งหนังสือตอบรับพร้อมเอกสารแนบคุณสมบัติ คุณสมบัติอื่น ประวัติ ประสบการณ์ และความเหมาะสม ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 14 วัน

​4.​ประธาน กสทช. คัดเลือกบุคคลที่ผ่านคุณสมบัติและมีความเชี่ยวชาญผ่านการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ เสนอให้ กสทช. เห็นชอบตามมาตรา 61 วรรค 1 พ.ร.บ.องค์กรฯ 53 ใช้เวลา 14 วัน

​5.​กรรมการกสทช. พิจารณาเห็นชอบรายชื่อตามที่ประธานคัดเลือกมา



(สรุปข้อมูลตามเอกสารที่มีการนำเสนอในที่ประชุมโดยประธานกสทช. ในวันนี้ )

แม้กฎหมายหลักของ กสทช. คือ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ จะมีการปรับปรุงแก้ไขถึงสองครั้ง แต่สาระที่เกี่ยวกับการคัดเลือกเลขาธิการไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด ตั้งแต่มีการตั้ง กสทช. มาใน พ.ศ. 2554 มีเลขาธิการหนึ่งคน โดยผ่านการสรรหาที่มีการออกประกาศซึ่งกำหนดคุณสมบัติและกระบวนการสรรหาที่กรรมการ กสทช.ทุกคนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการอย่างชัดเจน เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ และปรับปรุงกฎหมาในปีพ.ศ. 2559 บอร์ดกสทช.ในขณะนั้นก็มีมติให้เลขาธิการคนเดิมทำงานต่อไป เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสำนักงาน กสทช. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสำนักงาน กสทช. ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อตอบสนองการทำงานของภาครัฐและประชาชนได้อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งในกรณีหลังนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ และเป็นมติบอร์ดกสทช.ไม่ใช่การใช้อำนาจของประธานแต่เพียงลำพัง



ทั้งนี้ ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกสทช. เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก เพราะ

• เป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการรับผิดชอบในการรับและจ่ายเงินรายได้ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีวงเงินมหาศาล  จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตรวจสอบและติดตามการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ฯลฯ

• เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ กสทช. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา



• นอกจากนี้ตามกฎหมายเลขาธิการ กสทช. ยังจะมีตำแหน่งเป็นกรรมการและเลขานุการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน กทปส. ซึ่งต้องรับผิดชอบงบประมาณเงินกองทุน และตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมอีกปีละนับหมื่นล้านบาท

และแม้ประธาน กสทช. จะมีอำนาจในการกำกับดูแล สำนักงาน กสทช. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เลขาธิการ กสทช. คือ เลขานุการของประธาน แต่จะต้องทำงานเพื่อสนองนโยบายกรรมการ กสทช. ทุกคนอย่างเท่าเทียม



ในฐานะกรรมการเสียงหนึ่งที่โหวตให้ถอนวาระการพิจารณาแบบแยกส่วน และไม่เห็นด้วยกับกระบวนการคัดเลือกที่ประธาน กสทช. นำเสนอและกล่าวอ้างว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของท่านโดยชอบธรรม  ดิฉันขอตั้งคำถามและแสดงความกังวลต่อกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ที่จำกัดการมีส่วนร่วมของกรรมการ กสทช. ไว้ในประเด็นต่อไปนี้



1. การลดทอนความโปร่งใส ตรวจสอบได้ขององค์กรอิสระ ที่ดูแลกิจการอันเป็นพื้นฐานสำคัญของชาติ การที่ประธานจะเป็นผู้ส่งหนังสือเชิญทาบทามผู้ที่มีคุณสมบัติให้มาเป็นเลขาธิการ กสทช. นั้น อาจขัดกับหลักการธรรมาภิบาลที่ดีขององค์กรเนื่องจากไม่ได้สะท้อนความโปร่งใสของกระบวนการคัดเลือกที่ควรจะเปิดกว้างและตรวจสอบได้ ด้วยความสำคัญที่สูงมากของตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.ดังได้กล่าวไปแล้ว  กระบวนการคัดเลือกยิ่งควรจะสะท้อนความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมการคัดเลือก อีกทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงจากการแทรกแซงทางการเมืองและภาคธุรกิจ เพื่อจะเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่าเลขาธิการ กสทช. จะปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของชาติอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

นอกจากนี้ ขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า การคัดเลือกผู้บริหารสูงสุดในองค์กรอิสระ หรือองค์กรของรัฐ มักประกาศเปิดรับสมัครเป็นการทั่วไปล่วงหน้า มีระยะเวลาให้ยื่นใบสมัครพอสมควร (15-30 วัน) และมีกระบวนการคัดเลือกที่ชัดเจนโดยออกเป็นกฎหมาย เช่น เลขาธิการคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตามข้อ 6 ของประกาศ กขค. เรื่อง รับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กขค. (ปี 2565),  ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตามมาตรา 42 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามข้อ 6.2 ของประกาศ เรื่อง การรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ปี 2566) โดยในข้อ 7.1 ได้กำหนดว่า “คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดวิธีการเปิดรับรายชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการ 2 วิธีการ ได้แก่ (1) การเปิดรับสมัครเป็นการทั่วไปตามประกาศนี้ และ (2) การเสนอชื่อโดยกรรมการ ก.ล.ต. โดยแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อไม่เกินคนละ 1 รายชื่อ”



2. การขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ  มาตรา 61 บัญญัติให้ประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการกสทช. ไม่ได้หมายความว่าไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการสรรหาที่เปิดกว้างให้ผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้าสมัครรับการสรรหา อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่าการที่ประธาน กสทช. เป็นผู้ส่งหนังสือเชิญซึ่งเป็นวิธีการคัดเลือกที่ไม่มีการแข่งขัน อาจเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมอันขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 ที่ระบุว่า “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่อง … สถานะของบุคคล … การศึกษาอบรม… หรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้”  



ซึ่งศาลได้เคยมีคำพิพากษาเพิกถอนการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปแล้วในหลายกรณี ส่งผลให้ตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. อาจมีความสุ่มเสี่ยงกับการถูกฟ้องเพิกถอนการแต่งตั้ง และจะกระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคต อีกทั้งการให้ กสทช. ทั้งคณะร่วมพิจารณาคุณสมบัติของเลขาธิการ กสทช. และกระบวนการคัดเลือกไปพร้อมๆ กัน ยังสอดคล้องกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 58 และสอดคล้องกับแนวทางการสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ผ่านมาด้วย



ยิ่งไปกว่านั้น หากกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการกสทช.สามารถทำได้ในลักษณะตามที่ประธานกสทช.ได้นำเสนอมาคือประธานเป็นผู้ทาบทามและดำเนินการคัดเลือกเป็นหลักก็จะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ที่ไม่สะท้อนแนวปฏิบัติที่ดีของการทำงานแบบองค์คณะที่ควรจะมีการมีส่วนร่วมของกรรมการทุกคนอย่างเท่าเทียม



3. รายชื่อกสทช.ท่านที่ 7 ซึ่งเป็นท่านสุดท้าย ได้ผ่านกระบวนการสรรหาและได้ผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่มีเหตุผลที่ประธานกสทช.ควรจะเร่งทำกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการฯ โดยไม่รอกรรมการท่านใหม่นี้ เพราะที่ผ่านมา ประธานก็ได้ปล่อยให้ว่างเว้นตำแหน่งนี้มายาวนาน โดยมีรักษาการเลขาธิการทำหน้าที่แทน แม้จะมีการทำหนังสือทักท้วงจากกรรมการอย่างน้อยสามคนตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ก็ไม่ได้ริเริ่มกระบวนการในขณะนั้นแต่อย่างใด จึงขออนุญาตสรุปมาเพื่อเป็นข้อมูลกับสาธารณะค่ะ ขอบพระคุณที่อ่านมาจนจบนะคะ



หมายเหตุ ภาพประกอบมาจากตอนท้ายวันที่ประชุมอีกนัดเพิ่งเสร็จ และกำลังเดินขึ้นไปที่พระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่5 ที่สำนักงานกสทช. เพื่อไหว้สักการะท่านอย่างที่ทำประจำทุกสัปดาห์ค่ะ ขอบคุณช่างกล้องทีเผลอค่ะ"



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/brANWT_mvD0

คุณอาจสนใจ

Related News