สังคม
ดาวหางสีเขียวเข้าใกล้โลกที่สุดครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี
โดย onjira_n
2 ก.พ. 2566
2K views
นักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างพากันตื้นเต้น เมื่อดาวหางสีเขียวโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด ระหว่างวันที่ 1 – 2 กุมภาพันธ์ 2566
โดยกล้องโทรทรรศน์ทางไกล (Remote telescope) ได้บันทึกภาพดาวหางสีเขียวที่สามารถพบเห็นได้ยากนี้เอาไว้ เมื่อช่วงเช้าตรู่ที่ผ่านมา ขณะที่ดาวหางอยู่ห่างจากโลกประมาณ 41 ล้านกิโลเมตร
นายจานลูกา มาซี (Gianluca Masi) นักดาราศาสตร์ผู้ก่อตั้ง Virtual Telescope Project ได้นำภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์ควบคุมเสมือนจริงที่สังเกตดาวหางนี้จากพื้นที่ห่างไกลในอิตาลี และสเปน ออกมาเผยแพร่
การมาเยือนของดาวหางสีเขียวนี้เป็นสิ่งที่พบได้ยากมาก เพราะเป็นการโคจรเข้ามาใกล้โลกครั้งแรกในรอบ 50,000 ปี โดยเชื่อว่า ครั้งสุดท้าย ที่ดาวหางนี้โคจรมาใกล้โลก เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคหินเก่าตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกยังมีมนุษย์ยุคหิน “นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal)” อาศัยอยู่ และ ทวีปแอฟริกาตอนเหนือยังชุ่มชื้น, อุดมสมบูรณ์, และมีฝนตกชุก
แสงสว่างของดาวหางนี้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ไม่มีมลภาวะทางแสงรบกวน และท้องฟ้ามืดสนิท แต่สามารถมองเห็นชัดขึ้น หากใช้กล้องส่องทางไกล ซึ่งจะมองเห็นเป็นแสงสีขาวจาง ๆ
ทั้งนี้ ดาวหางสีเขียว ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า C/2022 E3 (ZTF) ถูกค้นพบเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ Zwicky Transient Facility ที่หอดูดาวพาโลมาร์ ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย หรือ แคลเทค (Caltech) ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย
ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ก่อตัวขึ้นจากน้ำแข็งและฝุ่น มีแสงออร่าสีเขียว และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 กิโลเมตร
แท็กที่เกี่ยวข้อง ดาวหางสีเขียวใกล้โลก ,ดาวเข้าใกล้โลก ,ดาวหางสีเขียว