สังคม

ชาวตรังน้ำตาร่วง! โครงการขุดคลอง 'อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ' ดันโค่น 'ต้นสาคู' หลายพันต้น เสียหายกว่า 70%

โดย nattachat_c

31 ม.ค. 2566

413 views

วานนี้ (30 ม.ค. 66) เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวได้รับเรื่องราวความเดือดร้อนจากชาวบ้าน ในพื้นที่ หมู่ 3, หมู่ 10 ต.โคกสะบ้า และ หมู่ 7 ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง และพื้นที่ใกล้เคียง หลังจากที่สํานักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 สงขลา (กรมทรัพยากรน้ำ) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ พร้อมระบบกระจายน้ำ สนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ ข้าวลำชานสามัคคี คนทำนาโคกสะบ้า ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง โดยระบุผลลัพธ์ของโครงการฯในเอกสารว่า จะช่วยเก็บกักน้ำและช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยใช้งบประมาณปี พ.ศ.2566 จำนวน 25,000,000 บาทถ้วน


ชาวบ้านได้นำผู้สื่อข่าวไปดูสภาพจากการขุดลอกคลอง และก่อสร้างคันคลอง ปรากฏว่ารถแบคโฮ และรถจักรกลได้ทำการขุดนำเอาต้นสาคู ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจวิถีชุมชนนับหลายพันต้น ที่ขึ้นอยู่ริมลำคลอง โค่นล้มเกือบทั้งหมดริมสองฝั่ง ห่างจากลำคลองไปกว่าข้างละ 15 เมตร


ซึ่งมีทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ โดยต้นที่สูงประมาณ 15 เมตร ก็โดนโค่นลงมาด้วยเช่นกัน มีเหลือให้เห็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ก่อนจะนำลำต้นมาทับถมกันเป็นแนวคันคลอง ซึ่งโครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ประมาณเดือน พ.ย. 2565 และคาดว่าจะสิ้นสุดโครงการประมาณเดือน ก.ย. 2566

----------

นายประศาสน์ สองสัน อายุ 61 ปี ชาวบ้านหมู่ 10 ต.โคกสะบ้า กล่าวว่า โครงการดังกล่าวทำไมถึงต้องมาทำลายป่าสาคูของชาวบ้าน ซึ่งป่าสาคูแห่งนี้ได้ขึ้นและจดทะเบียนในการอนุรักษ์ดูแลป่าสาคู มาตั้งแต่ พ.ศ. 2543


ชาวบ้านได้หาอยู่หากินกับป่าสาคู มากันตั้งแต่บรรพบุรุษ เช่น การทำด้วงสาคู, แป้งสาคู และอื่นๆ เพราะป่าสาคูแห่งนี้ถือเป็นป่าสาคูแห่งเดียว ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ชาวบ้านต่างรู้สึกเสียดาย ที่ทุกคนต่างอุตส่าห์อนุรักษ์กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ


จนกระทั่ง มาถึงปีนี้ 2566 ทางกรมทรัพยากรน้ำ กลับมาทำลายป่าสาคู ที่มีทั้งขึ้นเองโดยธรรมชาติ และชาวบ้านร่วมกันปลูก ตลอดริมคลองลำชาน เพื่อไว้หาอยู่หากิน


อีกส่วนหนึ่ง เพราะสาคูหนึ่งต้นกว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากแป้ง ต้องอายุ 20-25 ปีขึ้นไป ตอนนี้ตนอายุ 61 ปีแล้ว ป่าสาคูมีมาตั้งแต่รุ่นคุณทวด และก่อนหน้านั้นอีก


นายประศาสน์ กล่าวอีกว่า ก่อนดำเนินโครงการ ได้มีการทำประชาพิจารณ์ ผลสรุปในการทำประชาพิจารณ์ ขณะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งว่าจะไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ต้นสาคู หรือต้นไม้ต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ตามแนวสายน้ำคลองลำชาน


แต่ปรากฏว่า หลังจากดำเนินโครงการ กลับไม่มีป้ายโครงการติดประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้รายละเอียด เช่น ระยะทาง กว้าง ยาว ลึก ในการขุดลอกลำคลอง จึงอยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาเปิดเผยให้กับชาวบ้าน


นายประศาสน์ กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้ระยะทางสองฟากฝั่งที่มีการดำเนินโครงการ ต้นสาคูที่ถูกทำลายระยะทางไม่ต่ำกว่า 3-4 กิโลเมตร ทั้งต้นสาคูอ่อนและต้นแก่ ซึ่งหากคาดการณ์ต้นสาคูที่ถูกทำลายจาก 100 เปอร์เซ็นต์ ถูกทำลายไปแล้วกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้คงเหลือป่าสาคูอยู่เพียงแค่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ไม่สามารถคาดการณ์จำนวนต้นได้ เนื่องจากถูกทำลายเป็นจำนวนมาก


และตอนนี้ ที่กังวลมากคือ ทางผู้รับเหมาและเจ้าหน้าที่อาจจะทำลายส่วนที่เหลืออยู่ 30-40 เปอร์เซ็น เพิ่มเติมไปอีกด้วยหรือไม่ เพราะไม่รู้ระยะทางที่มีการดำเนินการเลย

----------

ด้านนายวีรพล เกิดผล อายุ 61 ปี คณะกรรมการชมรมอนุรักษ์ป่าสาคู อ.นาโยง กล่าวว่า สาคูที่ชาวบ้านเคยอนุรักษ์และเคยได้หาอยู่หากิน ถือเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของลูกหลาน ถูกทำลายไปหมดเลย


วันนี้ความรู้สึกที่เคยภาคภูมิใจว่าเรามีสิ่งที่ดีอยู่ในชุมชนมันหายไปเกือบหมดแล้ว ด้วยโครงการนี้ ที่อาจจะเป็นความต้องการของประชาชน หรือของหน่วยงานใด ซึ่งชุมชนต้องการได้โครงการนี้ เพราะเป็นผลดีกับชาวบ้าน แต่ต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ


ถึงหน่วยงานใดจะออกมาชี้แจงหลังจากนี้ ก็ไม่ได้เป็นผลอะไรแล้ว เพราะทรัพยากรที่โดนทำลายไปแล้ว มันก็ไม่สามารถที่จะหวนกลับคืนมาให้กับชุมชนได้เหมือนเดิมอีกแล้ว ได้แต่เพียงขอร้องว่า อย่าได้ทำลายในส่วนที่ยังมีเหลืออยู่อีกเลย

----------

นางละเมียด รัตนะ อายุ 71 ปี ชาวบ้านหมู่ 7 ต.นาข้าวเสีย กล่าวว่า

สาคูสำคัญทุกอย่าง เพราะเป็นวิถีชุมชน และเมื่อปี 2564 สถานการณ์โควิด ชาวบ้านหลายครัวเรือนสามารถขายแป้งสาคูกันได้ถึงวันละหลายแสนบาท เฉลี่ยเพียงแค่ตนคนเดียวได้ถึงวันละ 4,000 บาท เนื่องจากมีการนิยมกันในปัจจุบัน


การมาทำแบบนี้ เหมือนเป็นการทุบหม้อข้าวคนในชุมชน คนในชุมชนเติบโตเลี้ยงดูลูกหลานได้เพราะสาคู หากไม่มีต้นสาคูแล้ว ระบบนิเวศก็จะเสียหายไปทั้งหมด น้ำจะแห้ง ปลาจะหาย ฯลฯ

----------

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องของโครงการว่า

1. ไม่มีป้ายโครงการติดไว้ปรากฏให้เห็นเด่นชัด

2. ไม่ปรากฏเอกสารหรือลายเซ็นของชาวบ้านและผู้นำชุมชน ของผลสรุปการทำประชาพิจารณ์

3. ผู้นำชุมชนทราบและรับรู้การดำเนินโครงการหรือไม่

4. หน่วยงานท้องถิ่นใดเข้ามาเป็นกรรมการโครงการ

5. ในโครงการระบุว่าดำเนินการในพื้นที่ ต.โคกสะบ้า แต่ได้มีการดำเนินการในพื้นที่ ต.นาข้าวเสียด้วย ข่าวคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป
----------



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/ZLduAdjS7Iw

คุณอาจสนใจ

Related News