สังคม

สพฉ. แจงปม 1669 ไม่รับผู้ป่วย ยืนยันมีการคัดกรอง เพื่อช่วยเหลือตามอาการ

โดย paranee_s

20 ม.ค. 2566

161 views

จากกรณีผู้ใช้ติ็กต็อกรายหนึ่ง โพสต์คลิปเล่าว่า แฟนตนมีอาการหายใจไม่ออก แต่หน่วยแพทย์ฉุกเฉินปฏิเสธ บอกให้หายากินแล้วนอนพัก ด้าน สพฉ. ออกมาชี้แจงประเด็นกล่าว ยืนยันมีการคัดกรองเพื่อเข้าช่วยเหลือตามอาการป่วย


ทีมข่าว ได้พูดคุยกับ เรืออากาศเอก นายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน แจงเหตุการณ์นี้ว่า ได้รับทราบข้อมูลจากทีม สพฉ. และทางจังหวัดปทุมธานีแล้ว


ทั้งนี้หมายเลขฉุกเฉิน 1669 มีขั้นตอนการรับเรื่อง ประเมินอาการคนไข้ ซึ่งมี 3 ระดับ คือ ฉุกเฉินวิกฤติ รุนแรง และ เร่งด่วน และส่งต่อรถหน่วยตามความรุนแรงของอาการ


โดยหลักการถามของหน่วยฉุกเฉิน 1669 จะมี 2 แบบ คือ

1.ให้คำแนะนำเพื่อพยุงชีวิตก่อนทีมมาถึง

2.ประเมินว่าผู้ป่วย ควรส่งทีมใดลงพื้นที่ และเข้ารักษาโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ


ส่วนเคสที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นอยู่ในกลุ่มที่ ไม่รุนแรง เนื่องจากไข้เลือดออกมีระยะเวลาของมัน แต่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่อาจไม่ทราบว่าผู้ป่วยที่แจ้งเป็นไข้เลือดออก


“หากเป็นไข้แต่ยังสามารถสื่อสารหรือทำกิจกรรมได้ ก็จะมองว่าไม่ใช่วิกฤติ แต่จะรุนแรงไหมต้องอาศัยผลตรวจในการพิสูจน์ แต่เชื่อว่าทางเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการน่าจะมีการสักถามไปสักระยะหนึ่ง และให้คำแนะนำเพื่อรักษาไปยังสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้” เรืออากาศเอก นายแพทย์ อัจฉริยะ กล่าว


ส่วนเรื่องจำนวนเจ้าหน้าที่และรถหน่วยฉุกเฉินมีจำนวนน้อย ยืนยันว่า มีเพียงพอ โดยหน่วยแพทย์ขั้นสูงมีอยู่ 1,000 หน่วยตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ และขั้นพื้นฐาน 6,000 หน่วย กระจายตามท้องถิ่นและมูลนิธิ


“ในการบริการของ 1669 เราคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนสูงสุดและให้บริการด้วยความพร้อม แต่ต้องขออภัยที่อาจทำได้ไม่ตรงตามที่ประชาชนคาดหวัง”


ทั้งนี้เลขาธิการ สพฉ. กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราจะนำเอาบทเรียนตรงนี้ มาทบทวนการบริการในพื้นที่ ว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ทั้งนี้ทาง สพฉ. จะเป็นสื่อกลางให้ประชาชนกับผู้ให้บริการ พร้อมซักถามเพื่อหาข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย


สำหรับการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน มี 3 ระดับ คือ


ฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) : จะเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงคุกคามชีวิต เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ ปากเบี้ยว อาการที่มีผลต่อระบบหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบสมอง


ฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) : อาการยังตอบสนองร่างกายได้ แต่หากทิ้งไว้เวลานาน อาจมีผลกระทบต่อชีวิต (เข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ)


ฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) : เช่น งูกัด สุนัขกัด อุบัติเหตุมีแผลถลอก ไม่เสียเลือดอย่างรุนแรง แขนหักส่วนนิ้ว ขาหักส่วนเท้าหัก

คุณอาจสนใจ