สังคม

ผงะ! ยึดเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกระทะ 25,000 กก. - 'อ.อ๊อด' ชี้อันตราย อาจถึงตายได้

โดย thichaphat_d

5 ธ.ค. 2565

958 views

สาวกหมูกระทะสุดช็อก กรมปศุสัตว์บุกทลายโรงงานแปรรูปวัตถุดิบเนื้อสัตว์ในบ่อวิน ชลบุรี อึ้งใช้ฟอร์มาลีนแช่หมู-เนื้อ-เครื่องใน ของกลาง 25,000 กก. มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท พบหลักฐานใบเสร็จกว่า 2,300 ใบ ส่งขายร้านหมูกระทะ ร้านอาหารอีสาน กว่า 66 ราย ล่าสุดสั่งอายัด เก็บตัวอย่างตรวจและให้นำเอกสารมาแสดงก่อนดำเนินคดีตามกฎหมายที่จนถึงที่สุด


วานนี้ (4 ธ.ค. 65) กรมปศุสัตว์ ส่งเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี บุกตรวจสอบแหล่งลักลอบผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเนื้อสัตว์แช่ในถังน้ำผสมฟอร์มาลินรายใหญ่ ส่งขายร้านหมูกระทะ และร้านอาหารอีสาน กว่า 66 แห่งในพื้นที่ใกล้เคียง ปริมาณน้ำหนักรวม 25,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท


ซึ่งเจ้าของยังไม่สามารถแสดงแหล่งที่มาของชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสัตว์ได้ จึงไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมีความเสี่ยงแพร่เชื้อโรคระบาดสัตว์ร้ายแรง เช่น อหิวาต์แอฟริกาในสุกร โรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย เป็นต้น


นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายสัตวแพทย์ชุติพล มงคลรัตน์ ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 65 ว่า นายสัตวแพทย์จิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตแปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์รายใหญ่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการลักลอบผลิตเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต หวั่นแพร่โรคระบาดสัตว์ร้ายแรง


ผลการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่า สถานประกอบการดังกล่าว ไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหาร ไม่มีเอกสารใบอนุญาตค้าซากสัตว์ (ร.10) ไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายซากสัตว์ (ร.3) และไม่มีเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์(รน.) ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559


อีกทั้ง ยังพบการผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องในโค ชิ้นส่วนเครื่องในสุกร มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ประกอบด้วย ฟอร์มาลิน โซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์


พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการยึดอายัดของกลางชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสุกรและโค ที่อยู่ในสถานประกอบการ และในตู้แช่เย็นคอนเทนเนอร์ จำนวนกว่า 25,000 กิโลกรัม


นอกจากนี้ ได้ยึดอายัดของกลางสารเคมีและแกลอนบรรจุสารฟอร์มาลินขนาด 25 ลิตร จำนวนกว่า 50 แกนลอน รวมถึงได้ยึดใบเสร็จกว่า 2,300 ใบ ที่มีหลักฐานการขายให้กับลูกค้าร้านหมูกระทะ และร้านอาหารอีสาน จำนวนกว่า 66 ราย


และในส่วนของชิ้นส่วนสไบนาง ที่ผลิตแปรรูปนั้นแช่อยู่ในถังน้ำผสมสารฟอร์มาลิน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้สั่งยึดอายัดไว้ เก็บตัวอย่างเนื้อและเครื่องในสัตว์ นำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจหาเชื้อโรคปนเปื้อนที่เป็นอันตรายและตรวจหาสารเคมีตกค้าง (ฟอร์มาลิน)


โดยได้ให้เจ้าของกิจการห้ามโยกย้ายถ่ายเทของกลางที่อายัดไว้ และให้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาแสดงภายใน 15 วัน หากไม่สามารถนำมาแสดงได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการทำลายด้วยการฝังหรือเผา และดำเนินคดีถึงที่สุด ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ ขยายผลในการตรวจสอบสถานประกอบการในลักษณะเดียวกันนี้ และหากพบการกระทำผิดให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไปด้วย อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด


ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

----------------

ด้าน 'อาจารย์อ๊อด' รองศาสตรจารย์วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า ทางด้านของกฎหมายฟอร์มาลิน ห้ามใช้ในเนื้อสัตว์หรืออาหารโดยเด็ดขาด


ในส่วนของความอันตรายจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ ถ้าได้รับสูงเกิน 0.1 ppm ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อตา จมูกและทางเดินหายใจ แต่ถ้าได้รับปริมาณเข้มข้นสูงเกิน 100 ppm อาจทำให้หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด


ที่ความเข้มข้นสูงของสารฟอร์มาลิน จะเปลี่ยนรูปเป็นกรดฟอร์มิค (Formic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายระบบการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งเมื่อฟอร์มาลีนเข้าไปในร่างกายแล้วจะส่งผลกระทบระยะยาว หรือก่อให้เกิดมะเร็งได้


อาหารที่มักพบสารฟอร์มาลินปนเปื้อน ได้แก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้ ซึ่งวิธีสังเกตง่ายๆ คือ

  • ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ ก็ไม่ควรซื้อ
  • ถ้าเป็นอาหารทะเลที่เนื้อแข็งบางส่วน เปื่อยยุ่ยบางส่วน ไม่ควรซื้อ
  • ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ ให้ดมที่ใบ ผล หรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นแสบจมูก แสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน


เมื่อซื้ออาหารมาแล้ว ควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจาง ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 - 5 ลิตร ประมาณ 5 - 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ เพราะฟอร์มาลีนทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วได้เกลือฟอร์เมตซึ่งละลายน้ำได้

--------------



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/uqHRpjsbSNE

คุณอาจสนใจ

Related News