สังคม

นพ.ธีระ ชี้สถานการณ์ไทยป่วยโควิดพุ่ง

โดย onjira_n

15 พ.ย. 2565

483 views

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับสถานการณ์การติดโควิด-19 ในช่วงนี้



โดยระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 134,206 คน ตายเพิ่ม 503 คน รวมแล้วติดไป 640,493,594 คน เสียชีวิตรวม 6,616,130 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส



เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.14 ของทั้งโลก

ขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 90.45



“แม้ติดเชื้อมาก่อน ก็มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้”



Kahn F และคณะจากสวีเดน เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv เมื่อวานนี้ โดยศึกษาในกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่ จำนวน 71,592 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าคนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 ก่อนหน้าสายพันธุ์ Omicron และคนที่ติดในช่วง Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.1 มาก่อนนั้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้


 ในขณะที่คนที่เคยติดเชื้อในช่วงสายพันธุ์ Omicron มาก่อน หากเป็นช่วง BA.2 อาจช่วยลดโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ราว 85% และคนที่ติดในช่วง BA.5 อาจช่วยลดโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ราว 66% อย่างไรก็ตาม ผลในการป้องกันจะลดลงอย่างมากหลัง 5-6 เดือนนับจากที่ติดเชื้อมา



ผลการศึกษานี้ตอกย้ำ ให้เราตระหนักถึงความสำคัญ ในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างระมัดระวัง ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ แม้จะเคยติดเชื้อมาก่อนก็ตาม การติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ ป่วย หรือตาย แต่ยังมีความเสี่ยงต่อเรื่องผลกระทบระยะยาวอย่าง Long COVID จากการติดเชื้อแต่ละครั้งอีกด้วย “กว่า 90% ของคนติดเชื้อครั้งแรกโดยสายพันธุ์ Omicron นั้นจะมีอาการ”



Doll MK และคณะจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv วันที่ 14 พ.ย.65 ศึกษาในกลุ่มประชากรอายุ 30-64 ปี ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน สุขภาพแข็งแรง โดยไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน จำนวน 274 คน ติดตามดูในช่วงมิ.ย.64 ถึงก.ย.65 เป็นระยะเวลา 48 สัปดาห์ คนที่ติดเชื้อในช่วง Omicron ระบาดนั้น มีถึง 93.3% ที่เป็นการติดเชื้อแบบมีอาการ



ในขณะที่คนที่ติดเชื้อในช่วงเดลต้า ทุกคนก็มีอาการป่วย จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อแบบไม่มีอาการนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นไม่มากนัก ผลการศึกษานี้ชี้ให้เราเห็นความสำคัญของการปฏิบัติตัว



หากใครมีอาการป่วย เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ จำเป็นต้องนึกถึงเรื่องโควิด-19 เสมอ ควรทำการตรวจ ATK และแยกตัวจากคนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่ไปให้ผู้อื่น ทั้งในบ้าน ในที่ทำงาน และในชุมชน



ในขณะเดียวกัน ประชาชนในสังคมก็สามารถสังเกตคนที่เราพบปะในชีวิตประจำวัน หากมีอาการไม่สบายข้างต้น ก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปคลุกคลีใกล้ชิด ลดระยะเวลาพบปะ รักษาระยะห่างจากคนป่วย และป้องกันตัวอย่างเหมาะสม “สตรีที่มีครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 อาจทำให้รกอักเสบ และสัมพันธ์กับทารกตายคลอด”

Schwartz DA และคณะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานวิชาการในวารสารทางการแพทย์สูตินรีเวช American Journal of Obstetrics and Gynecology เมื่อต.ค.ที่ผ่านมา จากการศึกษาพยาธิสภาพของรกจากสตรีที่ตั้งครรภ์แล้วเกิดภาวะทารกตายคลอด (Stillbirth)ชี้ให้เห็นสมมติฐานของกลไกพยาธิสภาพที่จะเกิดขึ้นในรก โดยหากเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ไวรัสจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด และไปที่รก ติดเชื้อในเซลล์ Syncytiotrophoblast และทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของรกตามมา โดยเชื่อว่ากลไกนี้จะสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาทารกตายคลอด



สถานการณ์ในไทยตอนนี้ หลายคนทราบกันดีว่ามีการติดเชื้อรอบตัวมากขึ้นชัดเจน จากรายงานทางการเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วย ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลในสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวประเมินว่าจำนวนติดเชื้อใหม่อย่างน้อย 15,077 คนต่อวัน จึงควรใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างการทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ความใส่ใจสุขภาพ (Health consciousness) เป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นตัวกำหนดความเสี่ยงของแต่ละคนแต่ละครอบครัว

คุณอาจสนใจ