สังคม

ผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงราย ยืนยัน ไม่เกี่ยวโกงเงินแพทย์หญิง สูญกว่า 100 ล้านบาท

โดย paranee_s

10 ต.ค. 2565

1.2K views

จากกรณีแพทย์หญิง อดีตแพทย์อายุรกรรม โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ชุมพร และบุตรสาว ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์กบตำรวจ สภ.เมืองชุมพร ว่าถูกคนร้ายฉ้อโกงเงิน โดยกลุ่มคนร้ายอ้างว่าเป็นตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย และเป็น ผกก.สภ.เมืองเชียงราย ทำให้ต้องสูญเงินไปกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเหตุเกิดในช่วงปลายเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมานั้น


ล่าสุดทาง พ.ต.อ.กิตติพงษ์ สุขวัฒนพันธ์ ซึ่งเป็น ผกก.สภ.เมืองเชียงราย และมีชื่ออยู่ในการกล่าวอ้างของคนกลุ่มร้าย ได้ออกมาเปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าทางสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย และตนในฐานะผู้กำกับ ไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด


พ.ต.อ.กิตติพงษ์ เปิดเผยว่า การฉ้อโกงเงินดังกล่าวเป็นฝีมือของแก๊งคอลเซนเตอร์แน่นอน ที่นิยมใช้ชื่อของสถานีตำรวจในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 5 โดยเฉพาะที่ จ.เชียงราย และจ.เชียงใหม่ ไปหลอกลวงเหยื่อที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเช่นพื้นที่จังหวัดทางภาคกลางหรือภาคใต้ เพราะเชียงรายอยู่เหนือสุด ทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก


ซึ่งสภ.เมืองเชียงราย และชื่อของตนถูกนำไปหลอกเงินเหยื่อครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่มีมากว่า 10 คดีแล้ว โดยเหยื่อบางคนไหวตัวทันก็โทรมาสอบถามตนโดยตรงจึงไม่ตกเป็นเหยื่อ บางคนอยู่ภาวะตกใจไม่ทันระวังตัวก็ถูกหลอกเงินไปหลายรายเช่นกัน แต่ไม่มากเท่าครั้งนี้ที่มีมูลค่าถึงกว่า 100 ล้านบาท


พ.ต.อ.กิตติพงษ์ กล่าวว่า ตามระเบียบทางราชการแล้วไม่มีที่พื้นที่ไหน ที่จะให้ผู้กำกับเป็นผู้กล่าวร้องทุกข์แก่ผู้กระทำผิด และการออกหมายเรียกก็จะดำเนินการโดยพนักงานสอบสวน ซึ่งหากพบการกระทำผิดจะออกหมายเรียกมาสอบตามระเบียบราชการ ไม่มีการที่จะมาติดต่อหรือขอแอดไลน์ในกลุ่มสถานีตำรวจหรือไลน์ผู้กำกับ เว้นแต่ผู้ถูกกล่าวหาจะเดินทางมาพบแล้วขอแลกไลน์ เพื่อง่ายต่อความสะดวกในการประสานเรื่องของคดี ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นพนักงานสอบสวนเสียหายมากกว่า ไม่มีการโทรหาผู้ถูกกล่าวหาให้ติดต่อกับทางผู้กำกับโดยตรง เว้นแต่ผู้ถูกกล่าวหาจะประสงค์ที่จะติดต่อกับผู้กำกับเอง


พ.ต.อ.กิตติพงษ์ กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีการกล่าวอ้าง สภ.เมืองเชียงราย และชื่อตนไปหลอกลวงผู้อื่นมีข้อสังเหตุในหลายด้าน ทั้งโลโก้ตำรวจ ตราประทับ และลายเซ็น ก็เป็นการปลอมขึ้นมาทั้งสิ้น โดยข้อสังเกตง่าย ๆ บางหมายเรียกจะใช้ตัวเลขหลักน้อย ทั้งที่แต่ละเดือนมีคดีต่าง ๆ เกิดขึ้นหลายร้อยคดี


จึงอยากแนะให้ผู้หลอกลวง แต่ได้หลงเชื่อแก๊งคอลเซนเตอร์เหล่านี้ ควรตั้งสติคิดวิเคราะห์ไม่ตื่นตระหนก หากไม่แน่ใจก็สามารถโทรสอบถามมา สภ.เมืองเชียงราย โดยตรง เพื่อตรวจสอบชื่อพนักงานสอบสวนที่ออกหมายเรียกว่ามีอยู่จริงไหม หรือขอเบอร์พนักงานสอบสวน รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์ของตน เพื่อตรวจสอบรายละเอียดว่ามีการออกหมายเรียกจริงหรือไม่และเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริงไหม เพื่อที่จะไม่ได้ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย


พ.ต.อ.กิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับคดีฉ้อโกงที่เกิดขึ้น สภ.เมืองเชียงราย หรือตัวเองไม่น่าจะถูกสอบสวน เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เป็นเพียงการกล่าวอ้าง ซึ่งการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์หรือบัญชีการถ่ายโอนเงินก็จะเป็นข้อเท็จจริงริงได้เป็นอย่างดี แต่หากจะมีการสอบถามด้านไหนเพิ่มเติม ก็พร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน

คุณอาจสนใจ

Related News