สังคม

เสียงดังสนั่น กลางเจ้าพระยา! เรือขนส่งสินค้า ชนตอม่อสะพานเต็มๆ ชาวบ้านแตกตื่นคิดว่าสะพานพัง

โดย nattachat_c

24 ส.ค. 2565

17 views

คลิปเหตุการณ์ ขณะที่เรือยนต์ลากจูงเรือขนส่งสินค้าเสียหลัก พุ่งชนตอม่อสะพาน เสียงดังก้องสนั่นแม่น้ำเจ้าพระยา 3 ครั้งติด สร้างความแตกตื่นให้กับชาวบ้าน ในคลิปจะเห็นเรือบรรทุกลำที่ 4 เสีย หลักจากเรือพวงลากจูง หมุนเคว้งกลางแม่น้ำ ไหลล่องไปตามกระแสน้ำ หลังคนเรือตัดเชือกโยงออก


วานนี้ (23 ส.ค. 65) เวลาประมาณ 09.15 น. มีรายงานว่า เรือขนส่งสินค้าลากจูง ในแม่น้ำเจ้าพระยา ประสบเหตุพ่วงท้ายกระแทกตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (เลี่ยงเมือง 356) ดังสนั่นหวั่นไหวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสะพานดังกล่าวอยู่เขตรอยต่อ อ.พระนครศรีอยุธยา และอ.บางปะอิน จ.อยุธยาฯ.


เหตุดังกล่าว ทำให้คนประจำเรือต้องตัดพ่วงท้ายที่ประสบเหตุทิ้ง และลอยอยู่กลางน้ำ มีรายงานว่า เจ้าท่าสาขาอยุธยา กำลังเข้าพื้นที่เกิดเหตุ

พี่หน่อง ผู้ถ่ายภาพ และอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ บอกว่า ระหว่างเกิดเหตุเสียงดังสนั่นหวั่นไหวทั่วคุ้งน้ำ หลายคนตกใจ ต่างวิ่งออกมาดู นึกว่าสะพานพัง กระทั่งพบว่า คนเรือตัดเชือกโยงเรือลำท้ายออก และตะโกนกันลั่นแม่น้ำ ยังไม่รู้ว่าเรือที่ตัดเชือกออกจะจมหรือไม่


ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบไปพบกับ นางสาวพิณทอง นิลเพชร เจ้าของร้านอาหารครัวรุ่งแจ้ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุ เล่าว่า ขณะเกิดเหตุนอนอยู่ในร้านได้ยินเสียงเรือชนดังสนั่น ด้วยความตกใจรีบวิ่งออกมาดู พบว่า เรือลากจูงสินค้า เป็นเรือโป๊ะ ใช้เรือยนต์ลากจูงมาด้วยกันทั้งหมดจำนวน 4 ลำ ลากมาตามกระแสน้ำรอดใต้สะพาน 356 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านรุน อำเภอพระนครศรีอยุธยา มุ่งหน้าออกไปยังท่าเรือที่ กทม.


ปรากฏว่า เรือยนต์ได้ฉุดเรือโป๊ะทั้งหมดรอดใต้สะพาน เหลือลำที่ 4 เป็นลำสุดท้ายเกิดเสียหลัก หัวเรือด้านซ้ายไปกระแทกเข้ากับเสาตอม่อของสะพาน ผู้ควบคุมเรือได้ตัดเชือกโยงเรือทิ้ง ปล่อยให้เรือลอยตามน้ำเพื่อความปลอดภัย หากเรือประสบอุบัติจมลง จะฉุดเรือที่ผูกเชือกติดไว้จมตามลงไปด้วย และได้ถ่ายคลิปเรือหลังเกิดเหตุไว้ได้ พร้อมกับน้ำเสียงในคลิปที่บ่งบอกถึงความตกใจ


ซึ่งนางสาวพิณทอง บอกว่า ตกใจมากเพราะเมื่อปีที่ผ่านมา ฤดูน้ำหลากอย่างนี้ เรือลากจูงขนส่งสินค้าเคยเสียหลักเข้ามากระแทกกับแพกระชังปลาข้างร้าน ยังหวาดระแวงไม่หาย ก็มาพบเรือชนเสาตอม่อสะพานอีก นางสาวพิณทอง ยังบอกอีกว่า เรือบรรทุกสินค้าที่ลากจูงมาด้วยกันทั้งหมด 4 ลำ ไม่มีเรือยนต์โต่งท้าย เพื่อช่วยควบคุมเรือ ขณะวิ่งรอดใต้สะพาน หรือลากจูงสินค้าผ่านโค้งคุ้งน้ำแต่อย่างไร


นายพีรธร นาคสุข ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าสาขาอยุธยาที่ 2 บอกว่า กรมเจ้าท่าได้ประกาศแจ้งเตือนการเดินเรือช่วงฤดูน้ำเหนือไหลหลากมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยาเริ่มปล่อยระบายน้ำลงมาด้วยความเร็วน้ำ 700 ลูกบาศม์เมตรต่อวินาทีแล้ว


ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 65 สำนักงานกรมเจ้าท่าที่ 2 ได้มีประกาศการควบคุมเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่แยกวัดพนัญเชิง แม่น้ำป่าสักขึ้นไปจนถึงอำเภอนครหลวง และตั้งแต่แยกวัดพนัญเชิงของแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงจังหวัดอ่างทอง ให้ลากจูงลำเลียงเรือบรรทุกสินค้าได้ไม่เกินพวงละ 3 ลำ ห้ามบรรทุกสินค้าเกินกำหนดจำนวนเจ้าท่าอนุญาตไว้ โดยให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ และให้ผู้ควบคุมเรือสวมใส่เสือชูชีพทุกครั้งขณะปฏิบัติงาน


ส่วนสาเหตุที่เรือบรรทุกสินค้าชนครั้งนี้ นายพีรธร แจ้งว่าเกิดจากเชือกโยงเรือบรรทุกสินค้าลำที่ 1 หรือลำแรกหย่อน จึงเป็นสาเหตุทำให้เสียหลักลำสุดท้าย หรือลำที่ 4 สะบัดหัวหัวด้านซ้ายไปกระแทกเข้ากับตัวตอม่อของสะพาน ทำให้กาบเรือด้านซ้ายแตก


กรมเจ้าท่าทราบเหตุ นำเรือเร็วพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ นำเรือไปจอดในที่ปลอดภัย บริเวณท่าเรือบางปะอิน ห่างจากจุดที่เกิดเหตุไปประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อความปลอดภัย และได้ส่งเจ้าหน้าเข้าตรวจสอบสภาพความเสียหายของเรืออยู่ในขณะนี้


สำหรับความเสียหายนอกจากตัวเรือ ที่ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ประกอบการแล้ว พบว่าเสาตอม่อของสะพาน ที่ถูกแรงกระแทกจากเรือชน พบว่า ได้รับความเสียหายในส่วนของคอนกรีตบิ่นกระเทาะแตก ซึ่งได้แจ้งให้แขวงทางหลวงชนบทที่รับผิดชอบดูแลสะพาน นำวิศวกรที่ชำนาญเข้ามาตรวจสอบว่า อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ในอนาคต แต่ยังคงปล่อยให้รถวิ่งสัญจรได้ตามปกติ  และให้แขวงทางหลวงชนบทเข้าแจ้งความไว้แล้ว ที่โรงพักพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นหลักฐานหากตรวจพบความเสียหาย


ส่วนที่ผู้ประกอบการลากลำเลียงเรือบรรทุกสินค้าเกิน 3 ลำ ซึ่งเกินข้อกำหนดตามประกาศของกรมเจ้าท่านั้น นายพีรธร บอกว่า ตามประกาศให้ลากจูงเกิน 3 ลำได้ ในช่วงเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำลงมาที่ความเร็วน้ำ 1600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


แต่วันนี้ พบว่า เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำมาเร็วมากเป็น 1700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามกำหนดต้องลากจูงเหลือเพียง 3 ลำเพื่อความปลอดภัย แต่เป็นช่วงคาบเกี่ยวของกระแสน้ำ ผู้ประกอบการไม่สามารถตัดแบ่งพ่วงได้ทัน จึงลากลำเลียงจูงสินค้ามา ซึ่งกรมเจ้าท่ากำลังเข้าตรวจสอบ หากพบความผิดก็จะดำเนินคดีกับผู้ประกอบการด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News