สังคม

เปิดไทม์ไลน์ผู้ป่วย 'ฝีดาษลิง' รายที่ 3 ในไทย - สธ.จัดซื้อวัคซีน เน้นบุคลากรทางการแพทย์-กลุ่มเสี่ยง

โดย nattachat_c

4 ส.ค. 2565

74 views

วานนี้ (3 ส.ค. 65) ที่ห้องประชุม สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ภูเก็ต แถลงข่าวกรณี พบผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง รายที่ 3 ว่า ...


กรมควบคุมโรครายงาน โรคฝีดาษวานรเคสที่ 3 ของประเทศ เป็นเคสที่ 2 ของ จ.ภูเก็ต เคสนี้ สสจ.ภูเก็ตได้รับรายงานเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ว่ามีผู้ป่วยเดินเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง เป็นการดักจับเฝ้าระวังเป็นปกติอยู่แล้ว


ทางโรงพยาบาลเอกชนสงสัยว่าจะเป็นฝีดาษลิง เนื่องจากมีอาการเข้าข่ายน่าสงสัย คือ มีไข้ มีผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต จึงได้เจาะเลือด เพาะเชื้อสวอบส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ บางโจ ภูเก็ต สามารถตรวจ RT-PCR ของฝีดาษลิงได้ ใช้เวลาประมาณไม่เกิน 1 วัน


นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวว่า คนไข้รายนี้แอดมิตมาตอนสายของเมื่อวาน และทราบผลพบเชื้อตอนเย็น สสจ.ภูเก็ต โดยทีมสอบสวนโรคได้ร่วมกับสาธารณสุขเมืองและโรงพยาบาล ลงสอบประวัติผู้ป่วย ทราบว่า เป็นชายชาวเยอรมนี อายุ 25 ปี เดินทางบินตรงเข้า จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 18 ก.ค. เข้ามาพักกับแฟนเป็นคนไทย ไม่ได้เป็นกลุ่มรักร่วมเพศ และครอบครัวของแฟน โดยพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ส่วนมากท่องเที่ยวกับแฟนไม่ได้ไปเที่ยวสถานบันเทิง


นพ.กู้ศักดิ์ กล่าวว่า วันที่ 23-24 ก.ค. เริ่มมีไข้ มีผื่นขึ้นเล็กน้อย แต่ในช่วงวันที่ 30-31 ก.ค. มีผื่นมากขึ้น เริ่มที่อวัยวะเพศและลามไปที่แขน ข้อมือ ลำตัว จนถึงวันที่ 1 ส.ค.เริ่มมีไข้ ผื่นมากขึ้น ลุกลามไปลำตัว ในวันที่ 2 ส.ค.จึงเข้าตรวจที่โรงพยาบาล ได้เจาะเลือดเพาะชื้อ รับรักษาตัว


“กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดเป็นแฟนและครอบครัวของแฟน ในขั้นต้นรวมแล้ว 7 คน ตอนนี้ทั้ง 7 คนที่ใกล้ชิดผู้ป่วย ยังไม่มีอาการ ส่วนแฟนของเขาได้ทำการเจาะเลือด สวอบ อยู่ระหว่างรอผลให้เขากักตัวอยู่ที่บ้าน


“สิ่งที่ดำเนินการคือได้กักตัวตามตัวผู้ป่วย เขาให้ความร่วมมือดี การตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดในเบื้องต้น จำนวน 7 คน อยู่ในครอบครัวของแฟน ซึ่งโรคนี้ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยแบบเนื้อแนบเนื้อ การแพร่กระจายไม่ง่าย”


นพ.กู้ศักดิ์กล่าวย้ำว่า ขอให้ความมั่นใจว่าฝีดาษลิงติดกันไม่ง่าย อาการไม่รุนแรง ส่วนมากจะหายเองภายใน 2-4 อาทิตย์ ผู้ป่วยรายนี้เดินทางเข้ามาไทยได้ไม่นานจึงเริ่มมีอาการ หลังจากอยู่เมืองไทยได้ประมาณ 5-6 วัน น่าจะมีอาการฟักตัวมาจากต่างประเทศ เพราะระยะฟักตัว 21 วัน


“ปัจจุบันมีการเฝ้าระวังโรค มีการดักจับโรคฝีดาษวานรที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ กับการเฝ้าระวังตามโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกโรคเพศสัมพันธ์ ซึ่งทางโรงพยาบาลรัฐและเอกชนแจ้งมาว่ามีผู้ป่วยเข้ามาตรวจและอาการเข้าข่ายประมาณ 4-5 ราย เป็นชาวพม่า ชาวเคนยา สเปน ฯลฯ รวมแล้ว 7-8 คน ที่เดินเข้ามาตรวจ เจาะเลือดสวอบ ผลตรวจไม่พบเชื้อ


“ขอชี้แจงว่า โรคนี้ติดกันไม่ง่าย ต้องสัมผัสใกล้ชิด โรคนี้รักษาหายเองใน 2-4 อาทิตย์ ทั่วโลกติดเชื้อกว่า 2 หมื่นคน เสียชีวิตประมาณ 3 คน คนที่เสียชีวิตเป็นโรคภูมิคุ้นกันบกพร่อง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนคนปกติถ้าเป็นโรคนี้มักจะหายเอง”

-------------
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข


โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานในที่ประชุมว่า พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานรรายที่ 3 ของประเทศไทย เป็นชายชาวเยอรมัน อายุ 25 ปี เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 เข้ามายัง จ.ภูเก็ต เพื่อท่องเที่ยว หลังจากนั้นไม่นานมีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร คือ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีตุ่มผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศ ลำตัวและแขนขา จึงมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เบื้องต้นคาดว่าเป็นผู้ติดเชื้อนำเข้า คือ ติดเชื้อตั้งแต่ก่อนเข้าประเทศแต่เพิ่งมาแสดงอาการ ทีมสอบสวนโรคในพื้นที่อยู่ระหว่างตรวจสอบไทม์ไลน์เพื่อติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดและกลุ่มเสี่ยงต่อไป


"โรคฝีดาษวานรสามารถหายเองได้ เช่น ผู้ป่วย 2 รายก่อนหน้านี้ก็อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องกินยาต้านไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสทุกราย ยกเว้นผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี อาจจำเป็นสำหรับการรักษา ปัจจุบันทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยประมาณ 2 หมื่นกว่าราย ในจำนวนนี้ต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 9% เพื่อการควบคุมโรค และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งพบว่ามีโรคร่วมทำให้อาการรุนแรง เช่น มีภาวะสมองอักเสบ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง"

-----------

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเตรียม พร้อมทั้งสถานพยาบาล รองรับผู้ป่วย รวมถึงได้จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง และยารักษา ซึ่งได้มีการลงนามไปแล้ว


โดยวัคซีนจะเป็นการใช้ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่นกลุ่มเสี่ยงสูงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ โดยยังไม่จำเป็น ต้องได้รับวัคซีนทุกคน


ขณะนี้ ข้อมูลเบื้องต้นโรคฝีดาษลิง ยังคงพบในกลุ่มที่มีพฤติกรรมทางเพศที่นิยมเปลี่ยนคู่นอน และพบมากในกลุ่มรักร่วมเพศ จึงขอให้สังเกตอาการในกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

----------

กรมการแพทย์ ออกประกาศฉบับล่าสุด (31 ก.ค. 2565) แนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง หรือ ฝีดาษวานร (Monkeypox)


อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการไข้และผื่น จะเริ่มจากตุ่มแดงประมาณ 5-7 วันหลังรับเชื้อและตุ่มจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแห้งเป็นสะเก็ด ตุ่มมีจำนวนมากน้อยตามความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของผู้ป่วย รวมระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์


การแพร่กระจายเชื้อและการติดต่อส่วนใหญ่โดยการสัมผัสผื่นผู้ป่วยโดยตรงในระยะแพร่เชื้อ หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยยืนยัน มีการติดต่อทางละอองฝอยได้ โดยเฉพาะหากมีการทําหัตถการที่ทําให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็ก


ผู้ป่วยต้องสงสัยเข้าข่ายติดเชื้อ ฝีดาษลิง มีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ไข้ (38 องศาเซลเซียส) หรือ ให้ประวัติมีไข้ร่วมกับอาการอย่างน้อย 1 อย่าง ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต


2. มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง หรือเคยมีผื่น หรือตุ่มกระจายตามใบหน้า ศีรษะ ลําตัว อวัยวะเพศ และรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า


เป็นผื่นหรือตุ่มลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด โดยเป็นผื่นระยะเดียวกันพร้อมกันทั้งตัว หรือ เป็นผื่นที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาปกติ


รวมถึง การมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายในเวลา 21 วันที่ผ่านมา 1 ข้อ ดังต่อไปนี้

- สัมผัสที่ทําให้แพทย์วินิจฉัยสงสัยโรคฝีดาษวานร

- มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ หรือเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมที่เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศ

- มีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ที่นําเข้ามาจากถิ่นระบาด เช่น ทวีปแอฟริกา


การรักษา

ต้องแอดมิดทุกราย เพื่อจำกัดเชื้อโรค


ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อโรครุนแรง ได้แก่

  • กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี 
  • มะเร็งเม็ดเลือด ได้แก่ leukemia, lymphoma,
  • โรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ 
  • ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ปลูกถ่ายไขกระดูกมาภายใน 2 ปี หรือตั้งแต่2 ปีขึ้นไป แต่มีภาวะ graft-versus-host disease หรือโรคเดิมกำเริบ
  • โรค autoimmune disease ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะเด็ก , เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปี



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/peJUAEzzQ8w

คุณอาจสนใจ

Related News