สังคม

รื้อแล้ว! คานสะพานกลับรถถล่ม คาดสาเหตุรื้อถอนผิดขั้นตอน ตร.พบขณะเกิดเหตุไม่มีวิศวกรคุมงาน

โดย nattachat_c

3 ส.ค. 2565

22 views

จากเหตุการณ์คานและแผ่นปูนขอบทางบนสะพานกลับรถ หน้าโรงพยาบาลวิภาราม กม.ที่ 34 ถนนพระราม 2 ช่องทางด่วน ขาเข้ากรุงเทพฯ ที่อยู่ระหว่างการปิดซ่อมบำรุง พังถล่มลงมาทับรถยนต์ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เสียชีวิต 2 ราย


วานนี้ (2 ส.ค. 65) เวลา 17.00 น. นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุตรวจสอบโครงสร้าง โดยคนงานได้นำเครื่องจักรหนักรถเครน รถแบคโฮ เข้ามาเคลียร์พื้นที่ ก่อนดำเนินการรื้อคานสะพานกลับรถที่เหลือ 4 อันแต่ละชิ้นหนัก 14 ตัน ความยาว 15 เมตร ออกทั้งหมดแล้ว ตั้งแต่ 21.00 น. ที่ผ่านมา เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน


สำหรับขั้นตอนการรื้อคานสะพานลอยกลับรถ เริ่มจากการสกัดและตัดราวสะพาน หลังจากนั้นได้ใช้รถเครน ขนาด200 ตัน ยกคานลง แล้วทำการขนย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้าง พร้อมตรวจสอบความสะอาดและความปลอดภัยก่อนคืนผิวการจราจร คาดว่าประชาชนจะสามารถเดินทางได้ตามปกติในวันนี้ (3 ส.ค. 65) เวลา 9.00 น. และเปิดให้รถสัญจรยืนยันมีความปลอดภัยแน่นอน

------------

วานนี้ (2 ส.ค. 65) พันตำรวจเอกยงลิต ศุภผล รักษาราชการแทน ผู้กำกับการ สภ.เมืองสมุทรสาคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องกรณีการซ่อมแซมสะพานกลับรถบนถนนพระราม 2 แล้วเกิดแผ่นปูนหล่นลงมาทับรถยนต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 2 คน เมื่อคืนวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา


ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ ผู้ควบคุมงาน วิศวกร ผู้ช่วยวิศวกร และผู้เสียหายไปแล้วรวมประมาณ 20 คนโดยส่วนใหญ่ได้สอบสวนถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน และวิธีการซ่อมแซมสะพาน มีความรอบคอบมากน้อยแค่ไหน


ซึ่งคนงานก็ให้การว่า มีการใช้รถกระเทาะปูนออกก่อนจะตัดเหล็กเส้นออกโดยใช้แก๊ส ซึ่งในขณะเกิดเหตุไม่มีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตควบคุมงาน มีเพียงหัวหน้าคนงานอยู่ที่หน้างาน


หลังจากนี้ ก็จะสอบปากคำผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรของหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ มาประกอบในคำให้การของผู้เกี่ยวข้อง หากพบว่าปฏิบัติงานผิดหลักความปลอดภัย หรือประมาทก็จะต้องดำเนินคดีในความผิดประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยวิศวกรผู้ควบคุมงาน รวมทั้งผู้ช่วยวิศวกร ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดนี้


ส่วนเรื่องการเยียวยาผู้เสียหาย ทางพนักงานสอบสวนได้นัดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง คือ ศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) เข้ามาพูดคุยเจรจากับผู้เสียหาย แต่จากการสอบถามกับนายสมพงษ์ โพธาราม คนขับรถกระบะที่ได้รับความเสียหาย บอกว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากบุคคลใดให้มาเจรจากับความเสียหายที่เกิดขึ้น

-----------

วานนี้ (2 ส.ค. 65) เวลา 12.00 น. ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมทีมวิศวกร เดินทางมาที่จุดเกิดเหตุชิ้นส่วนสะพานกลับรถถล่ม บริเวณถนนพระรามที่ 2 กิโลเมตรที่ 34 เพื่อตรวจสอบโครงสร้างซ้ำอีกครั้ง และหาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น


ดร.ธเนศ เปิดเผยว่า การตรวจสอบวันนี้ ได้เห็นเพียงแค่สภาพชำรุดคงค้าง แต่ไม่เห็นตัวคานหลักที่ร่วงลงมาแล้ว และได้ถูกเคลียร์ออกไปแล้ว ทั้งนี้ เบื้องต้นสามารถคาดการณ์ถึงสาเหตุที่เป็นไปได้สูงว่า อาจเกิดจากขั้นตอนของการรื้อถอน ซึ่งโดยปกติการก่อสร้างทั่วไป จะต้องสร้างจากด้านล่างขึ้นด้านบน ส่วนการรื้อถอนก็ต้องรื้อตรงกันข้ามกัน คือ จากด้านบนลงด้านล่าง


ในกรณีของสะพานนี้ ลักษณะโครงสร้าง จะมีตัวคานหลักรูปตัวไอ และมีคานซอยเป็นตัวยึด 4 อัน แล้วปูพื้นทับลงไปส่วนแบริเออร์แผงกันตก จะถูกนำมายึดกับบริเวณส่วนที่ยื่นออกมาของคานหลัก ซึ่งต้องติดตั้งส่วนนี้เป็นขั้นตอนท้ายๆ ดังนั้น ในขั้นตอนของการรื้อถอน ก็ควรจะต้องรื้อตัวแบริเออร์แผงกันนี้ก่อน แล้วค่อยไล่ลำดับการรื้อถอนกลับมา


เท่าที่เห็นจากการตรวจสอบเบื้องต้น มีการรื้อส่วนที่เป็นตัวพื้นออกก่อนแบริเออร์ ทำให้น้ำหนักที่ลงบนตัวคานหลัก ไม่สมดุล โดยตัวคานที่เคยถูกทับด้วยพื้น ไม่มีน้ำหนักอะไรทับไว้แล้ว แต่ส่วนริมของคานที่ยื่นออกมายังต้องแบกรับน้ำหนักของแบริเออร์ ทำให้อาจเกิดการบิดได้ จนในที่สุดคานร่วงลงมา


ทั้งนี้ข้อสันนิษฐานดังกล่าว เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุนั้นเกิดจากเรื่องใด ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นความประมาทได้หรือไม่ เพราะตนก็ไม่เห็นการทำงานที่แท้จริง ต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง ข้อสันนิษฐานเป็นการคาดการณ์จากสภาพที่เห็นเท่าที่เหลืออยู่เท่านั้น


ส่วนสาเหตุเรื่องการเสื่อมสภาพของตัววัสดุนั้น ก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมด โดยอุบัติเหตุอาจมีหลายสาเหตุประกอบกันแต่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นเพราะการเสื่อมสภาพจากเหตุไฟไหม้หรือไม่ 


หลังจากนี้ กรมทางหลวง และวิศวกรรมสถาน จะเร่งตรวจสอบโครงสร้างของสะพานอย่างละเอียด ด้วยการสแกน 3 มิติ และเก็บตัวอย่างไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ


อธิบดีกรมทางหลวง เผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเมื่อปี 2547 มีไฟไหม้บนตัวสะพาน จึงต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด หลังจากนั้นจะประเมินว่าโครงสร้างเดิมแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ หากไม่แข็งแรงก็จะทุบออกและก่อสร้างใหม่รวมถึงจะมีการตรวจสอบสะพานเกือกม้าทั้ง 16 ตัว บนเส้นถนนพระราม 2 ว่ามีความปลอดภัยดีหรือไม่


ส่วนจะเป็นความประมาท สะเพร่า หรือสุดวิสัยนั้น ขอชี้แจงว่านี่เป็นการซ่อม ซึ่งวิธีการจะมีขั้นตอนในการซ่อม มีแผนการทำงานต่าง ๆ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบ เช่น อุปกรณ์ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ หากมีอุปกรณ์สายสลิง เจ้าหน้าที่ที่อยู่ด้านบนก็ไม่ตกลงมา เป็นต้น


ส่วนวิธีการ ขั้นตอนในแต่ละวัน แผนงานเป็นอย่างไร มีการดำเนินการตามแผนหรือไม่ มีเครื่องป้องกันต่าง ๆหรือไม่ทำไมจึงมีการทำงานในช่วงเวลาที่มีรถวิ่งอยู่ ก็จะต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลว่าเป็นการกระทำที่ถูกขั้นตอนครบกระบวนการหรือไม่ เป็นความประมาท หรือบกพร่องของเจ้าหน้าที่หรือไม่ หากถามว่าประมาทหรือสะเพร่าหรือไม่ ต้องขอดูรายละเอียดตรงนี้ก่อน


ส่วนสาเหตุที่แท้จริง ต้องรอผลการตรวจสอบ แต่จากการสันนิษฐานก็เป็นได้หลายสาเหตุ อย่างการรื้อพื้นสะพานเดิมออก ปกติตัวคานจะมีแผ่นยางรองคาน เมื่อมีน้ำหนักกดทับมากก็จะค่อนข้างแน่น แต่เมื่อน้ำหนักตรงสะพานทุบพื้นออกไป เพื่อเตรียมเทพื้นใหม่ ทำให้น้ำหนักเบาลง จึงเกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นยางก็เป็นได้ ประกอบกับรถวิ่งมีแรงสั่นสะเทือน จึงเป็นเหตุให้คานตัวริมร่วงลงมา


ส่วนอีกข้อสันนิษฐานคือสะพานเก่า และมีความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้ ตัวคอนกรีตหรือเหล็กอาจจะมีการเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้น


ส่วนข้อสันนิษฐานที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ระบุถึง สาเหตุความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ มาจากการไม่รื้อพาราเฟตก่อน ก่อนที่จะมีการรื้อพื้น อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า ตัวพาราเฟต ก็มีน้ำหนักและจะไปแฝงกับคานตัวริมตรงนี้ก็มีส่วน แต่ปกติแล้วหากมีการยึดคานซอย กับคานตัวริมทั้งแผงก็จะอยู่ด้วยกันก็สามารถรับน้ำหนักได้เหมือนกัน แต่ต้องไปตรวจสอบในเชิงลึกก่อน


เมื่อถามว่าการรื้อโดยไม่ถอดพาราเฟตออกถือเป็นความประมาทหรือไม่ อธิบดีระบุว่า อาจจะมีปัจจัยอะไรอย่างอื่นที่เป็นส่วนประกอบ แต่ในมุมส่วนตัวมองว่า อาจจะเป็นการไม่ระวังให้พอ ก็จะถือว่าเป็นการประมาทส่วนหนึ่ง


ส่วนที่ระบุว่าไม่มีวิศวกรในการควบคุมงานนั้น ตนเองยังไม่ได้รับรายงาน ทราบจากข่าวซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ปกติต้องมีวิศวกรควบคุมดูแลอยู่ตลอด

-------------

ด้านครอบครัวของ นายชาญ หัวหน้าช่างที่ตกลงมากับคาน แล้วเสียชีวิต คุณแม่บุตรดี บอกว่า หน่วยงานต้นสังกัดยังไม่ได้เข้ามาดูแล ตอนนี้จัดงานตามมีตามเกิด แล้วต่อจากนี้ไปคงลำบาก เพราะลูกชายเป็นคนดูแล อยากให้กรมทางหลวงมาดูแล 

------------

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีดังกล่าวได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาตรวจสอบแล้ว โดยให้รายงานกลับมาภายใน 14 วัน และจากการประชุมร่วมกับอธิบดีกรมทางหลวงเกี่ยวกับการบริหารเดินทางของประชาชน และสั่งการเด็ดขาดให้งดการก่อสร้างช่วงที่ประชาชนเดินทาง

-----------

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ตอบประเด็นที่ระบุว่า “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า ตนรับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงเมื่อตุลาคม ปี 62 ถนนเส้นพระราม 2 การจราจรติดขัดเพราะอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างพื้นราบ ที่อยู่ระหว่างการขยายช่องทาง 14 ช่อง ผลงานก็ไม่ได้คืบหน้า คนด่าเยอะ ทัวร์ลงเยอะ เจ็ดชั่วโคตร ซึ่งผ่านมาปีกว่า การก่อสร้างในส่วนพื้นราบก็เรียบร้อย

----------

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า กทพ. มีโครงการที่ดำเนินการอยู่บนถนนพระราม 2 คือ โครงการทางพิเศษ(ด่วน) พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก


ซึ่งได้รายงานให้ รมว.คมนาคม รับทราบมาตรการเพิ่มเติมแล้วว่า จะปิดช่องจราจรเพิ่มขึ้นจาก 1 ช่องจราจร เป็น 1 ช่องจราจรครึ่ง เพื่อเพิ่มระยะปลอดภัยให้มากขึ้น และจะลดเวลาการทำงานลง โดยเริ่มทำงานดึกขึ้นจากเวลา 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-04.30 น.


หลังจากนี้ ผู้รับเหมาทุกสัญญาจะเข้าพื้นที่ก่อสร้างทุกจุดพร้อมกัน และเริ่มงานที่จะส่งผลกระทบต่อการจราจร ซึ่งบนถนนพระราม 2 จะเกิดปัญหาการจราจรติดขัดมากแน่นอน ต้องขอโทษประชาชนล่วงหน้า ไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้ กทพ. จะเร่งประชาสัมพันธ์จุดที่จะปิดช่องจราจร และระยะเวลาการปิดให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า โดยจะปิดประมาณ 1 ปี-1 ปีครึ่ง หรือประมาณกลางปี 67 แต่ในจุดที่ต้องสร้างทางด่วน 2 ชั้น(ดับเบิ้ลเด็ค) ซึ่งสร้างทางด่วนบนทางด่วนนั้น ถือว่าอันตรายมาก จึงจำเป็นต้องปิดช่องจราจรถาวร เพราะเป็นงานก่อสร้างที่ต้องมีรถยนต์บนทางด่วนวิ่งอยู่ใต้งานก่อสร้างตลอดเวลา สิ่งของจึงหล่นลงมาไม่ได้ ซึ่ง กทพ. จะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/Pc-dEjC57Gk

คุณอาจสนใจ

Related News