สังคม

แพทย์ยันติดโควิดเสี่ยงเบาหวาน เผยโอกาสเป็นสูง 1.4 เท่า

โดย taweelap_b

10 ก.ค. 2565

1.5K views

นับตั้งแต่ต้นเดือนก.ค.65 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดจะสูงขึ้น และเชื้ออาจจะกลับมาระบาดซ้ำอีกระลอกหนึ่ง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญออกมาคาดการณ์ว่าประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย.65 อาจจะต้องจับตาเป็นพิเศษ แม้คนที่ติดโควิดมาก่อนหน้านี้ จะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ แต่ก็ยังติดโควิด BA.4 และ BA.5 ซ้ำได้เพราะสายพันธุ์นี้ดื้อต่อภูมิคุ้มกันร่างกาย และหลบภูมิได้เก่ง


พญ.รัตนพรรณ สมิทธารักษ์ อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อ และเมตะบอลิสม กล่าวว่า เมื่อติดเชื้อโควิดแล้วมีโอกาสสูงถึง 1.4 เท่า ที่จะทำให้เกิดโรคเบาหวานตามมาได้ เนื่องจากเบาหวานจากโควิดเกิดจากการติดเชื้อจนเกิดการอักเสบในหลายระบบและส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จึงส่งผลให้ตัวโรคแย่ลง ถ้าไม่สามารถคุมได้จะทำให้เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น จนทำให้สมองทำงานผิดปกติ แสดงความรู้สึกได้ลดลงจนเกิดอาการซึม และเชื้ออาจทำลายตับอ่อนจนทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เป็นปกติ ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่


ในฝั่งยุโรปโอกาสเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็กเพิ่มขึ้น 20 % และกว่าครึ่งจะเข้ารับการรักษาด้วยภาวะเลือดเป็นกรด ตามด้วยอาการปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง คอแห้ง หายใจเร็ว มีอาการหอบ และเหนื่อย


กรณีที่เกิดจากการรักษา คือ คนไข้ติดเชื้อโควิดรุนแรงจนต้องมีการให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ จนอาจทำให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ใหญ่ได้ชั่วคราว เมื่อหยุดสเตียรอยด์แล้วเบาหวานก็จะดีขึ้น  


นอกจากนี้ เบาหวานยังสามารถเกิดหลังจากรักษาโควิดหายแล้ว 1- 3 เดือนได้ ด้วยการถูกกระตุ้นจากการติดเชื้อที่ผ่านมา โดยเกิดขึ้นได้ทั้งคนที่ติดเชื้ออย่างหนักและคนที่ติดเชื้อไม่มาก จะเรียกว่า โรคแทรกซ้อนจากภาวะ Long COVID ซึ่งจะไม่นับคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้ว แต่จากคนไข้ 40 – 50 % สามารถหายได้เองในช่วงระยะเวลา 1 ปีหลังจากการรักษา


ในคนที่เป็นเบาหวานอยู่แล้วเกิดการติดเชื้อ โควิด ความรุนแรงของโรคจะมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน และตัวโรคเองก็จะคุมได้ยากขึ้น ความรุนแรงของคนที่เป็นเบาหวานแล้วติดเชื้อโควิด จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อที่ได้รับ ซึ่งจะสัมพันธ์กันทั้ง 2 ฝ่าย คือ โควิดทำให้เบาหวานแย่ลง หรือ เบาหวานทำให้อาการจากโควิดแย่ลงได้เช่นเดียวกัน รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานเฉียบพลันได้ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะซึมจากน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น และทำให้ความซับซ้อนของเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งยาบางตัวที่ใช้รักษาอาจจะใช้ไม่ได้ในช่วงที่ติดเชื้อโควิด ต้องคอยปรับยาและการรักษาอยู่เรื่อย ๆ  


อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษาเมื่อเกิดเบาหวานจากการติดเชื้อโควิด ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือ อายุ 60 -65 ปีขึ้นไป มีภาวะน้ำหนักเกิน คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ ความดันสูง ไขมันสูง โรคหัวใจ เป็นต้น ควรตรวจหาเบาหวานแต่เนิ่น ๆ ถ้ามีอาการปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง ดื่มน้ำมากกว่าปกติ หรือในคนที่ประวัติการรับเชื้อโควิดแบบรุนแรง หลังจากรักษาหายแล้ว ควรรับการตรวจเช่นเดียวกัน

คุณอาจสนใจ