สังคม
โควิดกลับมาหนัก! 'หมอนิธิพัฒน์' เผยศิริราชเริ่มรับไม่ไหว - 'หมอมนูญ' ชี้ 'หน้ากากอนามัย' ยังจำเป็น
โดย nattachat_c
5 ก.ค. 2565
204 views
แม้ว่าโรคโควิดในเมืองไทย จะถูกประกาศให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น รวมถึงมีการปรับมาตรการการใส่แมสก์ ให้เป็นไปตามความสมัครใจ และขึ้นอยู่กับสถานที่ของภาคเอกชน แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์โรคโควิดกลับแย่ขึ้นกว่าเดิม
วานนี้ (4 ก.ค. 65) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้โพสต์ภาพ พร้อมระบุข้อความว่า
"ต้องขอออกมาเตือนกันให้ดังๆ ว่า สถานการณ์โควิดขณะนี้เขม็งเกลียวขึ้นมาใหม่ ทุกคนและทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคองภาพรวมไม่ให้กลับไปทรุดหนักอีกรอบ แล้วรอลุ้นให้เกิดการปรับฐานโรคซาลงเองในช่วงอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อจะได้ร่วมเดินหน้าผลักดันประเทศที่กะปลกกะเปลี้ยกันต่อไป
สถานการณ์ที่บ้านริมน้ำ (ศิริราช) เริ่มตึงมือมากว่าสัปดาห์แล้ว จำนวนผู้ป่วยโควิดที่จำเป็นต้องรับเข้าโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งส่วนน้อยที่ป่วยจากโควิดโดยตรง และส่วนใหญ่ที่ป่วยจากโรคอื่นแต่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย จนทำให้บุคลากรด่านหน้าที่กันไว้จำนวนหนึ่งสำหรับงานโควิด ต้องกลับมาทำงานกันหนักขึ้นจากเดิมกว่าเท่าตัว และต้องวิ่งวุ่นหมุนเตียงกันมือระวิง เพื่อลดจำนวนคนไข้ที่ตกค้างรอรับไว้ในโรงพยาบาล
สภาพเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลใหญ่อีกหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สวนทางกับตัวเลขรายวันที่แจ้งว่ายังมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดเหลืออีกมาก ตัวเลขที่ว่านั้นเป็นแค่กรอบจำนวนเตียงที่จะขยายขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไข แต่ที่มีใช้งานอยู่จริงตอนนี้เริ่มร่อยหรอเต็มที ส่วนกรอบที่จะขยายได้ก็ถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดจนเกือบไม่เหลือหรอแล้ว
จากข้อมูลที่รับทราบมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจริงเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน น่าจะอยู่ที่ราววันละห้าหมื่นคนแล้ว ต่างกับตัวเลขรายวันที่เราเห็นกันในรายงาน แถมยังมีปรากฏการณ์ยอดตกช่วงต้นสัปดาห์เช่นดังรูปของวันนี้ ซึ่งเป็นผลจากระบบการตรวจหาเชื้อและรายงานผลช่วงวันหยุด ส่วนตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจาก 600 แล้วมาหยุดแถวก่อน 700 ดังในอีกรูปนั้น ก็เป็นผลจากระบบการรายงานที่จะมียอดวิ่งเข้ามาเป็นก้อนๆ ไม่ได้สม่ำเสมอในทุกวัน
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของระบบการเบิกจ่ายเงินค่าตรวจรักษาโรคโควิด-19 ในรูปแบบเดิม เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รูปแบบปกติของระบบสุขภาพพื้นฐาน เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ที่ได้เตรียมการรองรับกันไว้มานานก่อนหน้าแล้ว
เมื่อประกอบกับสถานการณ์การระบาดที่กลับปะทุขึ้นใหม่ แม้จะยังไม่แรงถึงครึ่งหนึ่งของช่วงพีคโอไมครอนครั้งก่อน แต่ต้นทุนประเทศในการดูดซับปัญหาเราร่อยหรอยอบแยบเต็มที ทั้งด้านงบประมาณและด้านบุคลากร หากไม่ออกแรงฮึดช่วยกันชะลอควบคุมการระบาดให้อยู่มือ อาจเห็นมีผู้ป่วยอาการรุนแรงตกค้างในชุมชนและจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แล้วคงหลีกเลี่ยงดราม่าครั้งใหม่ไม่พ้นแน่
ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องบอกความจริง และออกมาเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือ ไม่ใช่คอยแต่ให้ท้ายเพื่อปลดหน้ากากหรือเพิ่มกิจกรรมทางสังคมที่เสี่ยงแต่เพียงด้านเดียว #โควิดยังไม่หมดอย่ารีบปลดหน้ากาก"
-------------
ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือหมอมนูญ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า
"คนที่ติดโรคโควิดระลอกใหม่นี้ เท่าที่ผมสังเกตส่วนใหญ่ เป็นคนที่ระมัดระวังตัวป้องกันตัวเองเต็มที่ และเป็นคนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิดที่มีประสิทธิภาพสูงครบโดส รวมทั้งได้เข็มกระตุ้น เช่น ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 3 เข็ม วัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็มตามด้วยวัคซีน mRNA 2 เข็ม หรือวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซเนกา 1 เข็มและโมเดอร์นาอีก 2 เข็ม แต่ก็ยังติดเชื้อ
แสดงว่าเชื้อนี้แพร่กระจายเร็ว และหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์เดิมก่อนหน้านี้ แต่โชคดีคนกลุ่มที่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดี และได้รับเข็มกระตุ้น จะมีอาการน้อยมาก หายได้เอง และส่วนใหญ่ไม่มีอาการของลองโควิด
เราไม่สามารถพึ่งวัคซีนรุ่นปัจจุบันในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด จำเป็นต้องพึ่งมาตรการส่วนบุคคล โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ถ้าคนติดเชื้อไม่ใส่หน้ากากอนามัย คนปกติใส่หน้ากาก จะลดการรับเชื้อได้ร้อยละ 30
ถ้าคนติดเชื้อใส่หน้ากากอนามัย คนปกติไม่ได้ใส่หน้ากาก จะลดการรับเชื้อได้ร้อยละ 95 ถ้าทั้งคนติดเชื้อ และคนปกติ ต่างใส่หน้ากากอนามัย จะลดการรับเชื้อได้ร้อยละ 98.5
ขณะนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนควรใส่หน้ากากอนามัยเวลาอยู่ในที่สาธารณะผู้คนแออัด อากาศปิด ถ่ายเทไม่ดี ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ในอนาคตอันใกล้เมื่อเรามีวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถครอบคลุมไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 เราอาจจะพึ่งวัคซีนรุ่นใหม่ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
-------------
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/1d26OaWbnyE