สังคม
หมอเด็กห่วง! ‘ปลดล็อกกัญชา’ ทำเยาวชนเข้าถึงง่าย-ใช้ผิดเสี่ยงสมองพัง พบ 3 ขวบกิน คุกกี้กัญชาเข้ารพ.
โดย petchpawee_k
30 มิ.ย. 2565
35 views
วันที่ 29 มิ.ย. 65 พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางพัฒนาการ และพฤติกรรมเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) และเลขานุการ คณะอนุกรรมการจัดทำข้อแนะนำและติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรายงานผลกระทบจากการใช้กัญชาในเด็กและเยาวชน ว่า อนุกรรมการฯ มีหมอเด็กทั่วประเทศทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 21-26 มิ.ย. เพื่อรายงานไปยังราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ และผ่านเว็บไซต์
เบื้องต้นสัปดาห์ที่แล้วพบ 6 รายที่เข้ารักษาใน รพ. แต่เชื่อว่ามีอีกหลายเคสที่ไม่ได้เข้า รพ. เพราะอาการไม่มาก แต่เราเป็นห่วงทุกเคส ซึ่งถอดบทเรียนใน 1 สัปดาห์แรกคือ เคสเด็กอายุ 3 ขวบที่กินคุกกี้ผสมกัญชาแบบโฮมเมด ไม่มีป้ายฉลากสินค้าติดไว้ และอีกรายหนึ่งที่เพิ่งเจอในสัปดาห์นี้ เป็นขนมที่ขายในชั้นขนมเด็ก มีป้ายฉลากไม่ชัดเจน ทำให้เด็กและพ่อแม่ไม่รู้ว่ามีกัญชาผสมอยู่ ฉะนั้นเด็กเล็ก ๆ ควรได้รับการคุ้มครองในการบริโภค
เมื่อถามถึงการพบรายงานเด็กอายุ 15-16 ปีที่ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ มีการคาดการณ์อย่างไร พญ.อดิศร์สุดา กล่าวว่า หลังจากปลดล็อกกัญชาจะต้องมีเด็กกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการใช้อยู่แล้ว แต่เมื่อเปิดเสรีเด็กจะใช้ตรรกะ มีการรับรู้ว่า กัญชาไม่อันตรายเพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม ทำให้เด็กใช้กัญชามากขึ้น
เมื่อถามถึงเด็กที่ได้รับกัญชาแล้วทำร้ายตัวเอง เห็นภาพหลอนจากการใช้กัญชาอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับยาเสพติด พญ.อดิศร์สุดา กล่าวว่า ส่วนใหญ่คนที่ใช้ยาเสพติดจะไม่ใช้ตัวเดียว จะใช้ร่วมกับอย่างอื่น เช่น ยาบ้า ซึ่งทางแพทย์ก็จะต้องส่งตรวจหาสารเสพติดอื่นๆ อย่างที่เน้นย้ำว่าหากใช้ไม่ระวัง เด็กก็จะเริ่มจากกัญชาและเป็นประตูเปิดไปสู่อย่างอื่น เช่น ยาบ้า เฮโรอีน ยาเสพติดที่ฉีดเข้าเส้น
ถามว่าหลังปลดล็อกจะพบปัญหามากในเด็ก ต้องดูเรื่องข้อกำหนดอายุผู้เข้าถึงกัญชาหรือไม่ พญ.อดิศร์สุดา กล่าวว่า ข้อมูลที่รายงานจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เป็นผลกระทบระยะสั้น เพราะเราเพิ่งเริ่มใช้กัญชา แต่มีผลในระยะยาวแน่นอน โดยเฉพาะการใช้ไม่มาก แต่ยาวนาน หรือใช้ในปริมาณมาก การศึกษาต่างประเทศพบว่าส่งผลต่อไอคิวเด็กลดลงถึง 6 จุด หรือเรียกง่ายๆ ว่า สมองพัง โง่ลง และยังมีผลกระทบระยะยาวว่า เด็กไม่ไปเรียน ออกจากโรงเรียน เรียนไม่จบ ไม่มีงานทำ มีปัญหาทางพฤติกรรม
เมื่อถามถึงจุดตรงกลางของกฎหมายปลดล็อกกัญชากับการป้องกันเด็กในการเข้าถึงกัญชา พญ.อดิศร์สุดากล่าวว่า ในทางของแพทย์ก็จะต้องสะท้อนเป็นเสียงออกไป แต่การออกกฎหมายต่างๆ หน่วยงานต่างๆ ก็จะต้องออกมาควบคุมในลำดับถัดไป ซึ่งการเก็บข้อมูลผลกระทบจะมีประโยชน์ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หรือประกาศอะไรเพิ่มเติม
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/6gXG2aQGBtQ