สังคม
ทนายแนะฟ้องแพ่ง-อาญาร้านแซลมอน เอาผิดฐานฉ้อโกง-พ.ร.บ.คอมฯ
โดย taweelap_b
18 มิ.ย. 2565
525 views
กรณีดรามาร้านแซลมอน ปิดตัวเงียบ หลังเปิดขาย Voucher ในราคา 199 บาท กระทั่งพบผู้เสียหายหลายกลุ่ม ทั้งลูกค้า พนักงาน นักลงทุน และซัพพลายเออร์ ทั้งนี้กลุ่มเฟซบุ๊ก คนรักบุฟเฟต์ Buffet Lovers ได้เปิดประเด็นดรามาเกี่ยวกับร้านบุฟเฟต์แซลมอนชื่อดัง เพราะจู่ ๆ เพจของร้านก็ปิดตัวไป ลูกค้าบางรายจองไว้แล้ว แต่ถูกโทรยกเลิก ขณะที่บางรายไปถึงหน้าร้านพบว่าร้านปิด โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร
สำหรับร้านดังกล่าว เป็นร้านบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น ราคา 499 บาท ซึ่งมีหลายสาขาในกรุงเทพฯ และมีลูกค้าประจำพอสมควร ต่อมาร้านจัดโปรโมชัน Voucher ในราคา 199 บาท และต้องซื้อขั้นต่ำ 5 ใบ ทำให้ลูกค้าหลาย ๆ คนซื้อเก็บเอาไว้หลาย ๆ ใบ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบข้อมูลของ Voucher ทั้งหมดที่ขายได้
แต่ล่าสุดร้านปิดช่องทางติดต่อ จึงติดต่อผู้บริหารร้านไม่ได้ กระทั่งเมื่อวานนี้ จู่ ๆ ช่องทางต่าง ๆ ของร้านก็ปิดไป ทั้งเว็บไซต์ และแฟนเพจ รวมถึงสาขาต่าง ๆ ของร้านบุฟเฟต์ ทำให้เกิดกระแสดรามาขึ้นในกลุ่มเฟซบุ๊กหลายกลุ่ม ต่อมาไม่นาน มีการรายงานว่าร้านปิดเพราะปรับปรุงระบบ เพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าจำนวนมาจำนวนมากต่อไป แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่า ร้านจะพร้อมกลับมาเปิดให้บริการ ลูกค้าหลายคนเริ่มมีการรวมตัวกัน โดยตั้งกรุ๊ปไลน์ขึ้นมาสำหรับผู้เสียหายเพื่อเรียกร้องถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะกลัวว่าจะซ้ำรอยกรณีร้านซีฟู๊ดชื่อดังในอดีต
นอกจากนี้ มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ระบุว่าเป็นนักลงทุนของร้านซูชิชื่อดัง โพสต์ว่าขออนุญาตชี้แจงเรื่องร้านที่ได้ซื้อแฟรนไชส์มาทั้งหมด 6 สาขา ซึ่งในขณะนี้ตนและเจ้าของสาขาต่าง ๆ อีก 10 กว่าสาขา ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้รวมตัวกันรวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทและผู้บริหารต่อไป ขณะที่ในส่วนของพนักงานต่างไม่รู้ล่วงหน้า รู้อีกทีก็ตกงานกะทันหัน พร้อมกับให้ข้อมูลว่า "ร้านเจ๊งแล้ว เจ้านายหนีไปแล้ว" อีกทั้งยังมีกลุ่มซัพพลายเออร์ โพสต์ว่าร้านบุฟเฟต์ค้างค่าวัตถุดิบกว่า 30 ล้านบาท
สรุปตอนนี้ มีกลุ่มที่ระบุว่าตัวเองว่าเป็นผู้เสียหาย 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มลูกค้า ที่ซื้อคูปองไปแล้ว ขณะนี้ยังไม่ทราบมูลค่าความเสียหาย 2.กลุ่มพนักงาน ลูกจ้าง ที่อาจจะต้องตกงาน และไม่ได้รับเงินเดือนที่ค้างจ่าย 3.กลุ่มคนซื้อแฟรนไชส์ ที่ซื้อไปแล้วยังไม่ทันคืนทุน และ 4.กลุ่มซัพพลายเออร์ เสียหายกว่า 30 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในโลกออนไลน์มีแชร์ข้อมูลว่า เจ้าของร้านบุฟเฟต์ดังกล่าว นอกจากปิดร้านปิดเพจหนีแล้ว ยังปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวแถมยังเด้งออกจากกรุ๊ปไลน์ผู้บริหาร มือถือส่วนตัวก็ปิดเครื่อง โทรศัพท์ไปไม่ติด รายงานข่าวแจ้งว่าหนีไปดูไบตั้งแต่ช่วงเวลา 01.00 น. ของวันศุกร์แล้ว
นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร ทนายอิสระ เปิดเผยว่า หากผู้บริโภคซื้อคูปองอาหารแล้วไม่ได้รับประทานตามข้อตกลง หรือไม่ได้เงินคืน ถ้าพบว่าเป็นการซื้อขายทางออนไลน์ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจะมีผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์และเจ้าของกิจการ ซึ่งมีความผิดทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง
โดยคดีอาญาจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท และยังมีความผิด ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในฐานความผิดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท และสุดท้ายหากผู้ที่จำหน่ายคูปอง หรือเจ้าของกิจการไม่คืนเงินกับลูกค้าก็จะเป็นความผิดในคดีแพ่ง ซึ่งเจ้าของแฟรนไชส์ ผู้ที่รับซื้อแฟรนไชส์ จะปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้ประกอบการหรือผู้บริหารไม่ได้ ทั้งนี้ แนะนำว่าผู้ที่ซื้อคูปอง ควรไปร้องเรียนที่ สคบ.ด้วย เพื่อให้ผู้ที่จำหน่ายคูปองคืนเงินให้
อย่างไรก็ตาม หากยังจำกันได้ เมื่อปี 62 ร้านซีฟู้ดแหลมเกต ก็เปิดโปรขาย Voucher เพียงหลักร้อย เสิร์ฟอาหารทะเล แต่เมื่อนำบัตรไปใช้ ปรากฏว่าบางเมนูอาจต้องจ่ายเพิ่ม หรือต้องจองคิวโต๊ะล่วงหน้านาน ทำให้หลายคนใช้ไม่ทันเวลา ต่อมามีกระแสข่าวร้านปิดถาวรทุกสาขา จนทำให้บรรดาลูกค้าที่ซื้อ Voucher ต่างเป็นห่วง จึงรวมตัวกันเข้าแจ้งความดำเนินคดี
กระทั่งวันที่ 10 มิ.ย. 63 ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง บริษัท แหลมเกตอินฟินิท จำกัด, นายอพิชาต บวรบัญชารักษ์ พารุณจุลกะ, น.ส.ประภัสสร บวรบัญชา เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดร่วมกันโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน เเละพ.ร.บ.คอมฯ ทำให้ศาลสั่งจำคุกจำเลยที่ 2, 3 คนละ 1,446 ปี ซึ่งร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังหากยังไม่ออกมารับผิดชอบลูกค้า ก็อาจย้อนรอยเหมือนร้านแหลมเกตที่ถูกดำเนินคดีก็เป็นได้