สังคม

ศบค.ปรับพื้นที่เฝ้าระวังสีเขียวทั่วประเทศ อนุมัติถอดแมสก์ได้ในที่โล่ง

โดย paranee_s

17 มิ.ย. 2565

89 views

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,967 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,963 ราย มาจากเรือนจำ 3 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 1 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,123 ราย อยู่ระหว่างรักษา 21,030 ราย อาการหนัก 598 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 288 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19 ราย เป็นชาย ราย หญิง ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ราย มีโรคเรื้อรัง ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,494,880 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,443,428 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,422 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 543,091,611 ราย เสียชีวิตสะสม 6,338,021 ราย


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กรมควบคุมโรครายงาน ช่วงปลายเดือน พ.ค.ถึง ก.ค. จะทราบว่าสถานการณ์จะไปอย่างไร ขณะนี้อยู่ในช่วงระยะหลังเกิดโรคติดต่อ โดยที่ประชุมได้รับทราบตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอภาพการระบาดใน 77 จังหวัด ว่า มี 50 จังหวัดมีทิศทางลดลงสอดคล้องกัน แต่มี 17 จังหวัดที่ตัวเลขลดลง แต่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังไม่ให้เพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะบอกว่าหมดการระบาดแล้วนั้น ก็ยังไม่เชิง แต่คาดการณ์กันว่า อาจจะมีการเกิดเป็นระลอกเล็กๆ ขึ้นมาได้บ้าง จึงต้องเฝ้าระวัง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันโรคที่หมายถึงการฉีดเข็มกระตุ้นและการสวมหน้ากาก เพราะการให้ถอดหน้ากาก อาจทำให้เกิดการระบาดเล็กๆ ได้


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบปรับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้ง 77 จังหวัด และยกเลิกกำหนดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ทั้งประเทศ รวมถึงเห็นชอบข้อเสนอผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศ ได้แก่ ควรใส่หน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่แออัด สถานที่ปิด หรืออยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก


ส่วนการบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ในพื้นที่เฝ้าระวังให้เปิดบริการได้ตามปกติ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค กฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง สถานประกอบการประเภทสถานบันเทิงเปิดให้บริการ และให้ผู้รับบริการดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึง 24.00 น. โดยเปิดให้บริการตามกฎหมายเดิมกำหนด ผ่อนคลายให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวได้ตามปกติ ยกเลิกการคัดกรองด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิในอาคารสถานที่ แต่อาจให้มีการคัดกรองอุณหภูมิในสถานที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาด ให้มีการเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม


สำหรับการรวมกลุ่มให้ตรวจคัดกรอง ATK สำหรับผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการทางเดินหายใจ และหากมีการรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คน ให้แจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทั้งนี้ เริ่มวันที่ 1 ก.ค.


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการหารือที่ใช้เวลาพอสมควรถึงข้อเสนอให้เปิดสถานบันเทิงและบริโภคสุราถึงเวลา 02.00 น. เนื่องจากต้องศึกษาข้อกฎหมายที่มีความเชื่อมโยงกัน 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 กฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ.2547 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2558 ที่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 11.00 – 14.00 น. และอีกช่วงคือ เวลา 17.00 – 24.00 น.


โดยที่ประชุมมอบให้ฝ่ายกฎหมาย ให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผอ.ศปก.ศบค. หาข้อสรุปโดยไปดูกฎหมายเก่าว่าจะผ่อนคลายอย่างไร ต้องผ่านกระบวนการจัดการเรื่องกฎหมาย และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ขอให้ทำให้เร็วที่สุด โดยอยากให้เกิดขึ้นในวันที่ 1 ก.ค. แต่เลขาฯ สมช.ขอเวลาตรงนี้ให้ฝ่ายต่างๆ ได้ไปทำงานให้เต็มที่ เพื่อให้กฎหมายและข้อมูลที่รวบรวมมาแก้ไขได้ถูกต้อง และจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบมาตรการเข้าราชอาณาจักรโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ประกอบด้วย ยกเว้นการลงทะเบียนแบบไทยแลนด์พาสทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้เดินทางแสดงเอกสารการฉีควัคซีนหรือผลการตรวจเชื้อ สุ่มตรวจผู้เดินทาง หากสุ่มแล้วผู้เดินทางไม่มีเอกสารรับรองใดๆ ให้ตรวจ ATK ที่สนามบินจนกว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งคงระบบและเปลี่ยนหน้าที่ไทยแลนด์พาส เพื่อให้ผู้เดินทางใช้แจ้งรายงานกรณีมีอาการต้องสงสัยโรคติดต่ออันตรายและโรคติดต่อที่ต้องรายงานตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข


ขณะที่การเดินทางเข้าประเทศทางด่านพรมแดนถาวร ได้มีการยกเลิกการลงทะเบียนไทยแลนด์พาสและหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศของคนต่างประเทศ ขอให้แสดงเอกสารวัคซีน หรือผลการตรวจหาเชื้อแบบต่างๆ โดยให้มีการสุ่มตรวจเอกสารที่ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ยกเลิกมาตรการคัดกรองอุณหภูมิ ณ ช่องทางเข้าออก ยกเลิกการกำหนดวงเงินประกัน แต่ให้ส่งเสริมการซื้อประกันเพื่อไม่ให้เป็นภาระในเวลาเจ็บป่วย


และในที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการผ่อนคลายทางสังคม ชุมชน และองค์กร โดยในเรื่องของการสวมหน้ากากอนามัยนั้น นายกฯ เน้นว่า ขอให้เป็นไปโดยความสมัครใจ เพราะยังมีประโยชน์ในการป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อ จึงควรพกหน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน และสามารถนำมาสวมเมื่อมีความเสี่ยง สำหรับประชาชนกลุ่มเฉพาะคือ กลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรสวมหน้ากากเมื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น ผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น


ในส่วนของประชาชนทั่วไปให้สวมหน้ากากเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นที่มีความแออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หรือมีการระบายอากาศที่ไม่ดี เช่น ขนส่งสาธารณะ ตลาด สนามกีฬา หรือสถานที่แสดงดนตรีที่มีผู้ชม สามารถถอดหน้ากากได้หากอยู่คนเดียว แต่ถ้าอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในที่เดียวกันต้องสามารถเว้นระยะห่าง หากมีกิจกรรมที่จำเป็นต้องถอดหน้ากาก รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย บริการบริเวณใบหน้า ศิลปะการแสดงให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็ให้สวมหน้ากาก


“ที่ประชุมได้พูดถึงความสำคัญในเรื่องนี้ว่าในต่างประเทศการสวมหน้ากาก บางครั้งอาจแสดงถึงเป็นผู้ติดเชื้อ คนนี้จะถูกรังเกียจ มีการบูลลีกัน แสดงทัศนคติที่ไม่ดีกัน จึงต้องประชาสัมพันธ์กันว่าผู้สวมหน้ากากเป็นผู้รับผิดชอบต่อสังคม ไม่จำเป็นต้องเป็นคนติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงสูงอย่างเดียว ใครที่รักสุขภาพรักตัวเองที่ต้องการจะใช้หน้ากากในการดูแลสุขภาพตัวเองเป็นสิทธิที่จะเข้าสวมใส่หน้ากากได้ เรื่องนี้จึงอยากให้เป็นภาพของความสมัครใจ เพราะนายกฯรับฟังมาจากหลายคน บางคนยังไม่อยากถอดด้วย จึงอยากจะให้คงกันไว้อยู่” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการปฏิบัติการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ โดยผู้ปฏิบัติการหน้าฉากสามารถถอดหน้ากากได้อย่างมีเงื่อนไข จากเดิม กสทช.อนุญาตให้เฉพาะละคร แต่ขณะนี้ผ่อนคลายให้พิธีกรและผู้ร่วมรายการสามารถถอดหน้ากากได้ แต่ต้องมีมาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง โดยมอบหมายให้ กสทช.ออกมาตรการและช่วงเวลาบังคับใช้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ที่จะประกาศบังคับใช้ได้เลย


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องการให้บริการวัคซีน ซึ่งมีความสำคัญมาก ก่อนเข้าสู่การประกาศเป็นโรคประจำถิ่น ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะต้องถึง 60% นั้น วันนี้ทำได้ 41.8% ฉีดไปแล้ว 138.9 ล้านโดส


ทาง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงในที่ประชุมด้วยว่า วัคซีนที่มีอยู่จะต้องส่งไปให้ถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือหน่วยงานที่ใกล้ประชาชนมากที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อม ให้พร้อมใช้ และให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหิ้วเป็นกระเป๋าไปฉีดให้กับประชาชน ถือเป็นความเหมาะสมสำคัญที่จะนำวัคซีนไปให้ถึงประชาชนให้ได้ไกลมากที่สุด และฉีดได้เร็วที่สุด


แต่อย่างไรก็ตามยอมรับว่า วัคซีนที่รับบริจาคมาบางส่วนจะมีการหมดอายุ และเราต้องพยายามใช้ประโยชน์ของวัคซีนนั้นๆ โดยเร็ว ขอความร่วมมือประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 608 ได้รับวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพื่อลดอัตรา การป่วยหนักและการเสียชีวิต


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมศบค. อธิบดีกรมควบคุมโรครายงานเรื่อง ลองแอ็คติ้งแอนติบอดี้ (LAAB) ตามที่ศบค. เมื่อ 2 มิย. ให้จัดหา LAAB ประเมินผลการศึกษา ประเมินความคุ้มค่า ซึ่งพบว่ามีความคุ้มค่า โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากใช้ในคนกลุ่มนี้จะช่วยลดการสูญเสียได้เป็นอย่างดี


ดังนั้น ให้ไปดูว่าคนที่ต้องการใช้ที่มีอยู่ประมาณ1.7 แสนคน นั้น จึงขออนุมัติในการเปลี่ยนวัคซีน ที่ทำสัญญากับแอสตร้าเซเนก้า บางส่วนไปเป็น แอนติบอดีตัวนี้ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติไว้และขยายเวลาการส่งมอบวัคซีนจากเดือนมกราคม-กันยายน 2565 เป็น มกราคม 2565 -มิถุนายน 2566 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เข้าร่วมประชุมศบค.ด้วย รายงานว่าสถานการณ์โรคในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทำได้ดี สามารถจัดการสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี และจากที่เราเคยมีศูนย์แก้ไขสถานการณ์บริการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งในอดีตมีการติดเชื้อสูงมากนายกรัฐมนตรีต้องมาเป็นหัวหน้าศูนย์ดังกล่าว แต่ถึงวันนี้สามารถกลับไปใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็น ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้แล้ว


ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้ศูนย์บริหารสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นหมดหน้าที่ไป และทำให้เหมือนกับทุกจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณ ชื่นชม ถึงสถานการณ์ที่คลี่คลายไป นายกรัฐมนตรีรับฟังเต็มที่และขอขอบคุณทุกคนที่ได้มาร่วมแสดงความคิดเห็น ให้ข้อคิดเห็นร่วมกัน มีแพทย์อาวุโสต่างๆ ในที่ประชุมวันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรี บอกว่าการคิดร่วมกันในฐานะเราเป็นผู้ที่ต้องดูแลประชาชนร่วมกัน ดังนั้นการที่มาร่วมปรึกษาหารือกัน เพื่อเป็นทางออกเพื่อให้ประชาชนดูแลตัวเองให้ได้ และผ่านพ้นสถานการณ์ที่หนักกันมาแล้ว


นายกรัฐมนตรีจึงขอขอบคุณเป็นอย่างมาก และที่สำคัญตอนนี้ต้องมองไปข้างหน้านายกรัฐมนตรี อยากให้เห็นภาพการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศและนำประชาชนไปสู่อนาคตที่ดี เพื่อพัฒนาทำให้ประชาชนมีความสงบสุข ดูแลกิจการกิจกรรมของตัวเองได้


และที่สำคัญ อยากแสดงให้เห็นศักยภาพของประเทศไทย ที่จะมีความพร้อมในการดึงเม็ดเงินการลงทุนของต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยให้เกิดความเชื่อมั่นด้านสาธารณสุข การค้าการลงทุน และด้านอื่นๆ ที่จะตามมา

คุณอาจสนใจ

Related News