สังคม

'บิ๊กตู่' ห่วงเด็กเล็กติดโควิด - สปสช.ดึงร้านยาร่วม เจอ แจก จบ กลุ่มสีเขียว ประเดิมแล้ว 700 ร้าน

โดย thichaphat_d

7 เม.ย. 2565

251 views

วานนี้ (6 เม.ย. 65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตือนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในไทยว่า ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ และยังเป็นห่วงกลุ่มเด็กเล็ก ที่พบมีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น


จึงอยากขอความร่วมมือผู้ปกครองเฝ้าระวังและสังเกตอาการเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด หากมีอาการป่วยผิดปกติจากคนในบ้านเป็นผู้ป่วยโควิด-19 หรืออยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องรีบนำพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว


นอกจากนี้ นายกฯ ขอแนะนำผู้ปกครองให้เร่งพาบุตรหลาน กลุ่มวัยเรียน อายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เข้ารับวัคซีน จะช่วยป้องกันการป่วยหนักได้อย่างดี เพราะกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันก็มีเด็กที่เสียชีวิตเพราะไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วยเช่นกัน


นายธนกรกล่าวว่า นายกฯ ยังฝากเตือนผู้ที่ติดเชื้อไปแล้ว หมั่นสังเกตร่างกายของตัวเองให้ดี แม้ว่าจะตรวจไม่พบเชื้อแล้วก็ตาม เพราะยังอาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดเมื่อยตามตัว ไอเรื้อรัง มีภาวะวิตกกังวล ซึ่งอาจเป็นภาวะที่เรียกว่า ลองโควิด (Long Covid) จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย


ด้าน สปสช.ร่วมสภาเภสัชฯ ดึง “ร้านยา” ร่วมดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียว รักษาแบบ เจอ แจก จบ ติดตามอาการ หากรุนแรงส่งต่อเข้าระบบ ครอบคลุมสิทธิบัตรทอง ข้าราชการ ยกเว้นประกันสังคม

วานนี้ (6 เม.ย 65) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า


กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวหรือมีอาการเล็กน้อย ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ปรับแนวทางรักษา ดังนี้

  • แบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (OPSI)
  • 'เจอ แจก จบ' ในสถานพยาบาลต่างๆ


ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้ารับบริการ โดยเฉพาะหน่วยบริการใกล้บ้าน สปสช.ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรม เชิญชวนร้านยาที่มีความพร้อมบริการ เพื่อร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีภาวะเสี่ยง ตามที่ สธ.กำหนด เป็นหน่วยบริการดูแลผู้ป่วยโควิด กลุ่มผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้รวดเร็ว


โดย ผู้ที่ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดติดเชื้อโควิดที่มีอาการเล็กน้อยและไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่ สธ.กำหนด สามารถรับยา สำหรับดูแลอาการเบื้องต้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ โดยร้านยาจะรับค่าใช้จ่าย กรณีบริการทางเภสัชกรรมในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดตามหลักเกณฑ์ของ สปสช.ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา เป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 700 บาทต่อราย


โดยจะครอบคลุมบริการ ดังนี้

1.บริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน 

 2.ค่ายาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด รวมค่าบริการจ่ายยากรณีที่แพทย์สั่งจ่ายเฉพาะในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่จำเป็นต้องได้รับตามมาตรฐานที่ สธ.กำหนด โดยรวมค่าจัดส่งยา

3.ค่าบริการให้คำปรึกษา แนะนำการใช้ยา และติดตามอาการผู้ติดเชื้อเมื่อครบ 48 ชั่วโมงแรก 

4.การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ติดเชื้อโควิดมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ

นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายเพิ่มเติมแบบเหมาจ่ายในอัตรา 150 บาท สำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้น เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการเปลี่ยนแปลง และผู้ติดเชื้อโควิดได้ติดต่อกลับร้านยา เพื่อขอรับคำปรึกษาหลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงแล้ว โดยก่อนให้บริการจะมีการพิสูจน์ตัวตนของผู้รับบริการเพื่อยืนยันการเข้ารับบริการ และบันทึกข้อมูลการให้บริการผ่านโปรแกรม AMED Telehealth ระบบบริการการแพทย์ทางไกล


ปัจจุบันมี ร้านยาทั่วประเทศเข้าร่วมแล้วกว่า 700 แห่ง ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช.แล้ว 440 แห่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน สามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยาได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/downloads/197


ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิดที่ไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรง ทางสภาเภสัชกรรมร่วมกับ สปสช. จัดทำหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มารับยาและคำแนะนำต่างๆ โดยเภสัชกรที่ร้านยาได้ โดยต้องเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่ใช่หญิงตั้งครรภ์ ไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีโรคประจำตัว และมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรค เช่น มีภาวะอ้วน เป็นต้น


หากไม่เข้าเกณฑ์เหล่านี้ สามารถโทรติดต่อหรือมาที่ร้านยา สแกน QR code เพื่อยืนยันตัวตนตามระบบของ สปสช.แล้วรับยาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ร้านยาจะจัดเซ็ตยาสำหรับรักษาตามอาการส่งให้ที่บ้าน เช่น ฟ้าทะลายโจร พาราเซตามอล ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ตลอดจนเกลือแร่ สำหรับกรณีมีอาการท้องเสีย จากนั้นจะติดตามอาการไปอีก 48 ชั่วโมง และหากอาการรุนแรงมากขึ้นก็จะส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบเพื่อให้แพทย์รับช่วงดูแลต่อ


“ขณะนี้มีร้านยาเข้าร่วมให้บริการประมาณ 700 แห่งทั่วประเทศ ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถสังเกตสติ๊กเกอร์ที่หน้าร้านยา จะมีข้อความว่า ‘สถานบริการเภสัชกรรมชุมชน’ และบรรทัดล่างจะเขียนว่า ‘เครือข่ายเภสัชกรอาสาปรึกษาโควิดผ่านระบบเภสัชกรรมทางไกล’    


ปัจจุบันร้านยาในโครงการสามารถให้บริการได้เฉพาะสิทธิบัตรทอง ข้าราชการ และพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่รวมผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ดังนั้น จึงขอเชิญชวนไปยังสำนักงานประกันสังคมอำนวยความสะดวก และเพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ผู้ประกันตน สามารถติดต่อมาที่สภาเภสัชกรรมเพื่อหารือแนวทางการร่วมมือกันต่อไปได้


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/_PNfbSEjE2E

คุณอาจสนใจ