สังคม

สธ.แจงเหตุไม่นับยอดรวม RT-PCR และ ATK เหตุข้อมูลซับซ้อน ผู้ติดเชื้อบางราย มีผลตรวจทั้ง 2 แบบ

โดย thichaphat_d

25 ก.พ. 2565

107 views

ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา กระทรวงสาธารณสุข  นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า สถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดตอนนี้ หลายครอบครัวมีการติดเชื้อภายในบ้านเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์ทั่วโลกเป็นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดที่เร็ว แต่ความรุนแรงของโรคยังน้อยอยู่


ประเทศไทยในช่วงนี้ เป็นช่วงขาขึ้นของการระบาดสายพันธุ์โอมิครอน สอดคล้องกับการแพร่ระบาดในหลายประเทศ ที่สำคัญตอนนี้คือ ต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยมีอาการหนัก ที่จะนำไปสู่การเสียชีวิต เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยภาวะปอดอักเสบ ที่ตอนนี้มีอยู่ 905 ราย เมื่อวานนี้ 24 ก.พ. เพิ่มขึ้น 23 ราย


โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ป่วยภาวะปอดอักเสบเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า และใส่ท่อช่วยหายใจ 240 ราย เมื่อวานนี้เพิ่ม 11 ราย  โดยในช่วง 2 สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อโควิดที่ผ่านมา ขณะที่อัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน


ตอนนี้ผู้ติดเชื้อในประเทศส่วนใหญ่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการน้อย โดยอัตราผู้ติดเชื้อโควิด เฉลี่ย 14 วันที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 โดยมีผู้ป่วยโควิดที่ทำการรักษาอยู่ 180,993 ราย  แบ่งเป็นใน HI CI รพ.สนาม 107,223 ราย และรักษาในโรงพยาบาลในส่วนที่มีอาการน้อย 72,865 ราย


สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของเดลต้า การเสียชีวิตถือว่าน้อย ห่างกัน 10 เท่า แต่หากในส่วนอัตราการติดเชื้อทั่วไปใกล้เคียงกับช่วงเดลต้า


ส่วนการตรวจเชื้อโควิด หากตรวจด้วยชุดตรวจ ATK และพบผลบวก การที่จะตรวจ RT-PCR แล้วผลบวกมีความเป็นไปได้สูง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ


ส่วนกรณีที่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ จะเป็นในกลุ่มที่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กลุ่มอาการหนัก ซึ่งจะเป็นเฉพาะบางกรณี บางรายเท่านั้น


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การติดเชื้อขณะนี้ เกิดขึ้นในกลุ่มวัยทำงาน กลุ่มที่ไปสถานที่เสี่ยง และนำมาแพร่เชื้อในชุมชนในครอบครัว ขณะที่ในวัยเด็ก อัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ช่วงระบาดสายพันธุ์เดลต้า)


โดย บอกว่า การระบาดในระลอกใหม่นี้ 

กลุ่มที่ติดเชื้อสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 20-29 ปี

ถัดลงมา คือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี

ส่วนกลุ่มที่มาแรงที่สุดคือ กลุ่มอายุ 0-19 ปี


ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราการติดเชื้อที่ต่ำกว่าในกลุ่มวัยอื่นๆ แต่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงอาการหนัก และเสียชีวิตได้ และแนวโน้มผู้สูงอายุที่จะเสียชีวิต เมื่อป่วยรุนแรงจากโควิด มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


โดย ผู้เสียชีวิตจากโควิด 666 ราย เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ถึงร้อยละ 82 และเมื่อแยกผู้สูงอายุที่เสียชีวิต กับ ประวัติการฉีดวัคซีน พบว่า

ร้อยละ 58 ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน

ร้อยละ 30 มีประวัติฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม

ร้อยละ 10 มีประวัติกับวัคซีน 1 เข็ม

ร้อยละ 2 มีประวัติรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป

จึงทำให้ต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และฉีดเข็มกระตุ้น


ขณะที่ ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์

มีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ร้อยละ 76.6 

มีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ร้อยละ 71.3

มีผู้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ร้อยละ 28.2


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุถึงสถานการณ์เตียงทั่วประเทศตอนนี้ ครองเตียงไปแล้วร้อยละ 52 จากเตียงทั้งหมด 1 แสน 8 หมื่นเตียง เหลือเตียงรองรับร้อยละ 40 ซึ่งเตียงที่นอนในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ตอนนี้ผู้ป่วยสีเขียว ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ยังคงมีเตียงรองรับได้อยู่


สำหรับสถานการณ์เตียงเพิ่มเติม เช่น ที่โรงพยาบาลสนาม ของโรงพยาบาลเลิดสิน มี  200 เตียง  ตามเดิมรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง แต่ตอนนี้ยังคงมีเตียงว่างอยู่ จึงนำมาให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวบางส่วน


ส่วนการเปิดศูนย์พักคอยฯ หรือ CI  เพิ่มในกรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ ไม่นิยมเข้ารับการรักษาใน CI จึงยังไม่ได้มีการเปิดเต็มรูปแบบ แต่หากผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับร้อยละ 70 ถึงร้อยละ 80  อาจจะมีการพิจารณาเปิดในส่วนนี้เพิ่มเติม


ทั้งนี้ หากเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการเลย ไม่จำเป็นต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่หากมีอาการอื่นๆ ก็จะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการจ่ายยา ซึ่งจะเน้นการจ่ายยารักษาตามอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ


ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสาธารณสุข ให้เหตุผลที่จะไม่รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ ว่าจะเน้นรายงานการติดตามและผลการรักษาผู้ป่วยสีเหลือง - สีแดง ซึ่งเป็นผู้ป่วยอาการหนัก เพื่อเน้นควบคุมการรักษาและแพร่ระบาด


ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ ไม่แสดงอาการ และเข้าสู่ระบบการรักษา HI และ CI มีมากกว่าร้อยละ 60 ส่วนผู้ป่วยกลุ่มอาการหนัก สีเหลือง - สีแดง ขณะนี้มี 700 คน ซึ่งถือว่า ยังยอมรับได้


นพ.เกียรติภูมิ ชี้แจงถึง การรายงานผลหาเชื้อ RT-PCR และ ATK ที่ไม่สามารถนับยอดผู้ป่วยรวมกันได้ เนื่องจากเป็นคนละระบบ มีการรักษาที่แตกต่างกัน และบางครั้งผู้ติดเชื้อบางราย มีผลการตรวจทั้ง 2 แบบ อาจทำให้ข้อมูลซับซ้อน หลังจากนี้การตรวจ RT-PCR จะใช้กับกลุ่มผู้ป่วย ที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล เพื่อยืนยันผลการติดเชื้อ


ขณะที่การพิจารณา UCEP โควิด กระทรวงได้กลับมาทบทวนและจะส่งข้อมูลใหม่ ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา หากเห็นชอบ ก็สามารถนำมาประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะไม่กระทบต่อสิทธิการรักษาของประชาชน ทั้งนี้ ได้เตรียมแผนประกาศโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นภายใน 4 เดือน โดยจะต้องประเมินความรุนแรงของโรค และอัตราการเสียชีวิตที่ลดต่ำ


ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิดที่สูงขึ้น มาจากหลายครอบครัวติดเชื้อภายในบ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นช่วงขาขึ้นของการระบาดโอมิครอนในไทย เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ขณะนี้ต้องเฝ้าระวัง ผู้ป่วยอาการหนักที่นำไปสู่การเสียชีวิตมากขึ้น


โดย 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า ส่งผลต่ออัตราผู้เสียชีวิตก็เพิ่ม 2 เท่าเช่นกัน


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การติดเชื้อโควิดเกิดขึ้นในกลุ่มวัยทำงาน กลุ่มที่ไปสถานที่เสี่ยง และนำมาแพร่เชื้อในชุมชน ในครอบครัว ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน


ส่วนสถานการณ์เตียงทั่วประเทศ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ตอนนี้ครองเตียงไปแล้วร้อยละ 52 จากเตียงทั้งหมด 180,000 เตียง โดยเหลือเตียงรองรับร้อยละ 40 โดยผู้ป่วยอาการหนัก ยังคงมีเตียงรองรับได้อยู่


หากผู้ป่วยตรวจ ATK ผลเป็นบวก ไม่จำเป็นต้องยืนยันด้วยผล RT-PCR เข้าสู่ระบบการรักษาได้


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/zYpp01g--ps

คุณอาจสนใจ

Related News