สังคม

ปรับ Test&Go เหลือตรวจ RT-PCR ครั้งเดียว – ปลัด สธ.แจงหลัง ครม.สั่งชะลอถอดโควิดจาก UCEP

โดย thichaphat_d

24 ก.พ. 2565

39 views

เมื่อวานนี้ (23 ก.พ. 65) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุมศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธาน ว่า


"ระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง โดยมีพื้นที่ควบคุม 44 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 25 จังหวัด พื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด จังหวัดอื่นที่ดำเนินการบางพื้นที่ 18 จังหวัด"


สำหรับรายงานการจ่ายค่าบริการโควิด -19 ในปี 2563 จ่ายแล้ว 3,841.15 ล้าน โดยเป็นส่วนของกรมบัญชีกลาง ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่นเดียวกันกับปี 2564 จ่ายไปแล้ว 97,747.94 ล้าน ในส่วนปี 2565 หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายไปแล้ว 32,488.00 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเสนอของบเพิ่มอีก 51,065.13 ล้าน


อย่างไรก็ตามยอดการจ่ายชดเชยค่าบริการ โควิด-19 ปี 2563- 2565 ประเภทโรงบาลรัฐจำนวน 3,506 แห่ง ประมวลผลจ่าย 74,084 ล้านบาท ตรวจสอบผ่าน 70,994 ล้านบาท ตรวจสอบไม่ผ่าน 3,090 ล้านบาท ขณะที่เอกชน 672 แห่ง ประมวลผลจ่าย 27,260 ล้านบาท ตรวจสอบผ่าน 27,160 ล้านบาท ตรวจสอบไม่ผ่าน 100 ล้านบาท รวมแล้วประเทศไทยจ่ายไปเกือบ 100,000 ล้านบาท


ขณะที่สัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับ UCEP COVID แยกรายสีผู้ป่วย จำนวนบริการ 768,491 ครั้ง ข้อมูลระหว่างปี 2563- 2564 เขียวโดยกลุ่มสีเขียว 88% กลุ่มสีเหลือง 11% และกลุ่มสีแดง 1% สีเขียว


กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำเสนอการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศแบบ Test & Go ให้ปรับมาตรการป้องกันโรคโดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 โดยให้ตรวจ RT-PCR วันแรกที่เข้าประเทศไทย และให้ไปตรวจแบบ ATK และแจ้งผลผ่านแอพพลิเคชั่น ในวันที่ 5 ของการเดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทย รวมถึงเสนอปรับลดประกันสุขภาพจากเดิมไม่น้อยกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐ เป็นวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐ โดยจะจะมีผลบังคับใช้ 1 มีนาคม 2565 นี้


นายกรัฐมนตรี ยังฝากขอบคุณโดยเฉพาะคนที่ทำงานหนักไม่ว่าจะเป็นคอลเซ็นเตอร์ทั้งหลาย ซึ่งได้มีการโทรไปเองและได้ให้กำลังใจกับทุกคน และขอบคุณผู้ที่ทำงานในภาคประชาสังคมที่ไปช่วยทีมภาครัฐดูแลคนที่เจ็บป่วยและรอคอยการดูแลอยู่ตามบ้าน รวมถึงส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


ขณะเดียวกัน ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสั่งชะลอ และทบทวนการปรับโรคโควิด-19 ออกจากยูเซ็ป หรือสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ว่า


"ตนไม่ทราบในรายละเอียดว่าเหตุใดจึงต้องชะลอออกไป ขอให้ไปถามทางครม. เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอตามที่คณะกรรมการของกระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณา ส่วนเหตุผลทำไมจึงต้องมีการปรับรูปแบบ ที่ผ่านมาเราเพิ่งรู้จักโควิดและสภาพการระบาดค่อนข้างรุนแรง มีการป่วยตายจำนวนมากในช่วงแรก เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ดูแล เตียงส่วนใหญ่จะเป็นของมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน และเตียงของภาครัฐนั้นไม่พอ จึงมีการประกาศให้เป็นโรคฉุกเฉิน เมื่อมีการติดเชื้อก็เข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปตามสิทธิ"


"แต่ความจริงแล้ว คนไทยกว่าร้อยละ 99 มีสิทธิอยู่แล้ว เพียงแต่หากมีการยกเลิกยูเซ็ปก็ไปรักษาตามสิทธิ แต่ขณะนี้ล่วงเลยมา 2 ปีกว่าแล้ว ความรุนแรงของโรคก็ลดลง การเจ็บป่วยร้ายแรงก็ลดลง ซึ่งจากที่กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูเตียง พบว่ากว่าร้อยละ 50 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว ส่วนผู้ป่วยเหลืองและแดงใช้ไม่ถึงร้อยละ 20 ของจำนวนเตียงที่มีอยู่ ก็คิดว่าน่าจะมีเตียงที่เพียงพอ"


"ซึ่งข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ยังคงรักษาในระบบยูเซ็ปได้ แต่เพื่อความรอบคอบและปลอดภัย จึงมีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปทบทวน ส่วนจะมีการเสนอกลับมาเมื่อใดตนยังไม่ทราบ เพราะเพิ่งจะนำกลับไปเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา และยังไม่ได้นัดประชุม พร้อมกับมองว่าการที่ถูกเลื่อนออกไป จะไม่ส่งผลกระทบอะไร และมองว่าการที่ผู้ป่วยไม่ได้นอนเตียง เป็นเพราะการบริหารจัดการมากกว่า ซึ่งวันนี้ตนจะเสนอให้ที่ประชุมศบค. รับทราบถึงสถานการณ์เตียงในปัจจุบัน"


"ส่วนเหตุปัจจัยที่จะนำโควิดออกจากยูเซ็ปเกี่ยวกับปัจจัยเรื่องงบประมาณหรือไม่ นายแพทย์เกียรติภูมิ ยืนยันว่า ไม่ได้พูดกันถึงเรื่องงบประมาณ เนื่องจากเป็นแผนที่จะทำให้โควิดนั้นเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งในต่างประเทศก็ดำเนินการไปเยอะแล้ว และขณะนี้เอง ก็ยังไม่ได้มีการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น"


"ยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกลไก หากโควิดยังเป็นโรคฉุกเฉินอยู่ก็จะเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันเองก็มีการผลักดันให้รักษาตัวเองที่บ้านหรือ Home isolation หรือ Community isolation ซึ่งเป็นการดูแลมากกว่าการรักษา และผู้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลเฉพาะกรณีจำเป็นเท่านั้น เพราะประเทศไทยไม่ได้มีโควิดโรคเดียว โรคอื่นก็ยังมีอีกมากก็ต้องดูแลรักษากันไป"


"ส่วนจะต้องมีการประสานให้โรงพยาบาลสนามกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งหรือไม่นั้น นายแพทย์เกียรติภูมิ ระบุว่า ขณะนี้ยังมีปริมาณเตียงเพียงพอ ยืนยันว่าแผนการรองรับระบบ Home isolation และ Community isolation ยังเพียงพออยู่ โดยขอให้ไปย้อนดูในพื้นที่ต่างจังหวัด และระบบ Community Isolation ในกรุงเทพมหานครก็ยังดีอยู่ ซึ่งคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ในหอพักและบ้านพัก ทำให้เข้าระบบ Home Isolation ไม่ได้ จะมีข้อเสนอให้เข้าระบบ Hotel isolation ซึ่งก็อยู่ในข้อเสนอยูเซ็ปครั้งที่แล้ว"


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/5zejMFm5qT8

คุณอาจสนใจ

Related News