สังคม

ศบค.ยันไม่มีล็อกดาวน์ ปลัด สธ.แจงแค่ย้ำเตือนภัยโควิดระดับ 4 ก่อนออกหนังสือ 'ด่วนที่สุด' ถึง รพ.ทั่วประเทศ

โดย thichaphat_d

22 ก.พ. 2565

98 views

จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข แถลงเตือนภัยในระดับ 4 ได้ขอความร่วมมือให้ประชาชน สำหรับมาตรการป้องกันโควิด ดังนี้

-งดเข้าสถานที่เสี่ยง

-งดทานอาหารร่วมกัน-ดื่มสุราในร้าน

-เลี่ยงไปซื้อของที่มีคนจำนวนมาก เช่นตลาด ห้าง

-เลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นนอกบ้าน

-งดร่วมกิจกรรม

-มาตรการทำงานที่บ้านให้ได้ร้อยละ 50 -ร้อยละ 80

-ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด หากจำเป็นใช้รถยนต์ส่วนตัว

-เลี่ยงไปต่างประเทศ

-หากเข้าประเทศต้องปรับตัวในสถานที่กักกัน

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการออกมาย้ำให้ทุกจังหวัดยังคงปฏิบัติตามคำแนะนำการแจ้งเตือนภัยโควิดระดับ 4 ว่า

เดิมที สธ.ได้ประกาศเตือนภัยโควิดระดับที่ 4 จากทั้งหมด 5 ระดับมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว และยังไม่เคยประกาศลดระดับการแจ้งเตือนลง เพียงแต่ช่วงก่อนหน้านี้เราเน้นย้ำแจ้งเตือนในจังหวัดเสี่ยงที่มีรายงานการติดเชื้อโควิดสูง แต่ปัจจุบันต้องเน้นย้ำเตือนภัยระดับ 4 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดให้อยู่ในระดับคงที่

เมื่อถามว่าการเตือนภัยระดับ 4 มีข้อกำหนดห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ห้ามรวมกลุ่มคนทำกิจกรรมเสี่ยง ขณะที่ศบค.อนุญาตให้ทำได้ในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดความสับสน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การแจ้งเตือนภัยจะระบุสิ่งที่เป็นข้อแนะนำสำหรับประชาชน เป็นการประกาศเตือน แต่ถ้าไม่ได้มีผล จะต้องมีมาตรการออกมารองรับ ซึ่งนั่นจะเป็นข้อกำหนดที่ออกโดยศบค. ดังนั้นเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ต้องรอศบค.พิจารณาอีกครั้ง

“ที่เราออกมาเน้นย้ำ เนื่องจากที่เคยประกาศมันนานมาแล้ว ประชาชนอาจจะหลงลืมว่าเรายังอยู่ในการเตือนภัยระดับ 4 อยู่ เหมือนที่หมอให้คนป่วยควบคุมอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม แต่พอกลับมาติดตามอาการอีกครั้ง พบว่าสุขภาพยังไม่ดีขึ้น เราก็ต้องเน้นย้ำให้ลดหวาน มัน เค็ม เข้าไปอีก เป็นต้น” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

เมื่อถามว่า สธ.เสนอเพิ่มมาตรการควบคุมป้องกันโรคในการประชุม ศบค.วันพุธนี้หรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราไม่ได้จะมีการถอยกลับไปใช้มาตรการเดิม เพราะตอนนี้เตียงรักษาผู้ป่วยยังเพียงพอ อยากให้ดูผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เตียงไอซียูทั่วประเทศมีประมาณ 2 พันเตียง

ส่วนเตียงที่เห็นว่าใช้เยอะ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาการน้อย อาการสีเขียวแต่เข้าไปอยู่ใน รพ. จึงทำให้มีอัตราการครองเตียงเยอะ อย่างไรก็ตาม ผลการประชุม ศบค.จะมีการปรับมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ไม่สามารถยืนยันรับปาก


ด้าน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันพุธที่ 23 ก.พ.นี้ อาจจะพิจารณาล็อกดาวน์ และยกเลิกระบบ Test&Go ว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ ไม่ได้พูดถึงเรื่องการล็อกดาวน์

ทั้งนี้ ศบค.ชุดใหญ่คงไม่ได้พิจารณา และประเมินแค่ยอดติดเชื้อใหม่ ยอดผู้ป่วยหนัก หรือยอดผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน

ดังนั้นบางครั้งในช่วงที่ประชาชนมีความกังวล จึงอาจไปบริโภคข้อมูลจากนักวิชาการ อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความตกอกตกใจว่าจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ โดยต้องยืนยันว่า ปัจจุบันยังไม่มีทิศทางที่จะประกาศล็อกดาวน์

นอกจากนี้ อยากจะขอความร่วมมือจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญว่า ในตอนที่ให้ความเห็นขอให้ระบุด้วยว่า เป็นความเห็นส่วนตัวของตัวเอง เพื่อไม่ให้ประชาชนและผู้ประกอบการเกิดความกังวล

ส่วนระบบ Test&Go ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จะระงับการเดินทางเข้าประเทศด้วยระบบนี้ แต่เมื่อไปดูในยอดของระบบ Test&Go นับตั้งแต่วันที่ 1- 20 ก.พ.65 มีผู้เดินทางเข้าประเทศมาจำนวน 137,090 คน พบรายงานติดเชื้อ 3,495 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.55 คือในจำนวน 100 คนมีติดเชื้อไม่ถึง 3 คน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่สธ.(ศปค.) 0248/44

เรื่อง การเตรียมการสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด , ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ , โรงพยาบาลทั่วไป

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลก มีการระบาดอย่างรวดเร็ว สำหรับในประเทศไทย พบว่า ขณะนี้ตรวจพบการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

เพื่อให้การดูแลผู้ติดเชื้อโควิดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด ขอให้ดำเนินการ ดังนี้

1) เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร เตียง บุคลากรทางการแพทย์ และระบบการดูแลรักษาแบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) รวมทั้งการรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (Admit) ในกรณีที่มีอาการมากและรุนแรง

2) ประชาสัมพันธ์หมายเลขโทรศัพท์ของจังหวัด และโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจที่จะเข้าถึงระบบบริการ เมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

3) เร่งรัดการฉีดวัคซีนโควิด19 เข็มกระตุ้น หรือบูสเตอร์โดส ในประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ตลอดจนลดความรุนแรงจากการติดโควิด

4) สื่อสารให้ประชาชนป้องกันตนเองและครอบครัวด้วยมาตรการ Universal Prevention และ VUCA และสร้างการรับรู้การดูแลรักษาผู้ป่วยจากการติดโควิด เพื่อให้สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/ZoQUNlwT4cM

คุณอาจสนใจ

Related News