สังคม

'หมอประสิทธิ์' ชี้ทั่วโลกเริ่มมองโควิดเป็น 'โรคประจำถิ่น' ด้าน 'นพ.ธีระวัฒน์' ย้ำอย่าเพิ่งประมาทโอมิครอน

โดย thichaphat_d

9 ก.พ. 2565

352 views

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ทั่วโลกเริ่มมีแนวโน้มปรับเป็นโรคประจำถิ่นว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคำที่ถูกค้นหาในกูเกิลมากที่สุดในโลกคือ Endemic เนื่องจากแต่ละประเทศไปในแนวทางเดียวกัน


อย่างในยุโรปติดเชื้อใหม่วันละกว่าแสนราย แต่สเปนก็เพิ่งประกาศไปว่าจะเริ่มผ่อนคลายเต็มที่ ทั้งๆ ที่ติดเชื้อวันละ 2-3 หมื่นราย ดังนั้น ความมั่นใจเริ่มเกิดขึ้น เพราะโอมิครอนตั้งแต่ 24 พ.ย.2564 ตอนนี้ก็ 2 เดือนกว่าแล้ว มีข้อมูลตัวเลขยืนยันว่าติดเชื้อและแพร่ระบาดเร็วจริงๆ แต่ความรุนแรงชัดเจนเมื่อเทียบกับเดลต้าที่มีความรุนแรงมากกว่า


พบว่าโอมิครอนทำให้คนนอนโรงพยาบาล (รพ.) เพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 ของเดลต้า ส่วนอัตราเสียชีวิตก็ลดลง แต่ขณะเดียวกันคือ หากติดเชื้อมาก จำนวนเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ตัวอย่างคนเสียชีวิตเลข 3 หลักของสหราชอาราชจักร ฝรั่งเศส แต่พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีน ฉีดไม่ครบ หรือมีโรคร่วม


“ฉะนั้น ข้อมูลทั้งหลายกำลังบ่งชี้ว่าโลกกำลังน่าจะไปสู่ปลายทางของการระบาดโควิด อีกหน่อยจะเหมือนกับโรคหวัดที่ทั่วโลกเกิดเยอะ แต่เราไม่ได้จับตาว่าเป็นสายพันธุ์ใด ตราบใดที่โรคไม่รุนแรง ก่อเป็นการเสียชีวิต ดังนั้น โควิดมีหลายอย่างที่เริ่มเข้าสู่นิยามโรคประจำท้องถิ่น คือโรคซึ่งไม่หายไป อีกหลายปียังเจออีก แต่มีบางอย่างที่พอจะคาดการณ์ได้” 


"โรคประจำถิ่นบางโรคเกิดประจำถิ่นจริงๆ เจอบางภูมิภาค หรือเรารู้ว่าโรคจะเกิดในช่วงใดของปี คาดการณ์ปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องกันได้ เช่น โรคไข้เลือดออกที่เจอในฤดูฝน มักพบในประเทศที่อากาศร้อนชื้น ส่วนวิธีเลี่ยงคือกำจัดยุงลายที่เป็นพาหะ หรือไข้หวัดใหญ่ที่ติดเชื้อแล้วก็รับยา นอนพักผ่อน ไปจนถึงการฉีดวัคซีน ฉะนั้น เมื่อเรารู้เช่นนี้ก็สามารถลดอัตราเสียชีวิตได้ จะกลายเป็นโรคที่อยู่กับเราไปเรื่อยๆ"


“ไวรัสโควิดเองก็อาจกลายพันธุ์ไป ก็จะอยู่กับเราต่อไป เพราะโอกาสที่จะรุนแรงหรือแพร่เร็วกกว่าโอมิครอน ตามทฤษฎีถือว่าโอกาสน้อยมากๆ แล้ว ซึ่งโควิดจะก่อเรื่องต่อเมื่อสายพันธุ์ใหม่รุนแรงกว่าและแพร่เร็วกว่า แต่โอกาสเกิดน้อยมาก เราอาจจะได้ยินใหม่อีก แต่ก็จะขึ้นมาแล้วหายไป ตราบใดที่โอมิครอนยังครองโลก เมื่อคนติดแล้วไม่เสียชีวิตก็มีภูมิคุ้มกัน หลังจากนั้นคนมีภูมิก็จะยิ่งขึ้นไปอีก” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว


"ขณะนี้การทำความเข้าใจกับประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ การดูเฉพาะตัวเลขติดเชื้อรายใหม่ เช่น “พุ่งอีก” “พุ่งไม่หยุด” จะทำให้เกิดความกลัว ตื่นตระหนก หรือเกิดอารมณ์ร่วม ดังนั้น ขณะนี้โควิดเลยจุดที่รุนแรงจากตอนเดลต้าแล้ว เมื่อมาเจอสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเร็วก็ทำให้เกิดผู้ติดเชื้อใหม่ขึ้น แต่ความรุนแรงไม่เพิ่ม เราจึงต้องมาดูเรื่องตัวเลขผู้ป่วยหนัก ปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตมากกว่า พร้อมกับการสื่อสารเพื่อให้คนมารับวัคซีนมากขึ้นเพื่อลดความรุนแรงของโรค สร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกคนที่ติดแล้วไม่เสียชีวิต สุดท้ายเชื้อก็จะสงบลงไปโดยปริยาย"


ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า

"อย่าประมาทโอไมครอน
อิสราเอลและเดนมาร์กที่ฉีดวัคซีนทั้งประเทศ รวมทั้งเข็มกระตุ้นยังคงมีอัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
(และระบบสุขภาพของเดนมาร์กดีเยี่ยม คนในประเทศสุขภาพดี ไม่ได้เปราะบางมาก)"



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/DGKUTwpoJuU

คุณอาจสนใจ

Related News