สังคม
เปิดรายชื่อไส้กรอก-หมูยอ 32 ยี่ห้อ ผลิตจากโรงงานเถื่อน ใส่สารกันบูดไม่ยั้ง
โดย thichaphat_d
4 ก.พ. 2565
29.9K views
วานนี้ (3 ก.พ. ) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันแถลงผลจับกุมแหล่งผลิตไส้กรอกปนเปื้อนในพื้นที่ จ.ชลบุรี โดยสามารถตรวจยึดของกลางได้ 32 รายการ มูลค่ากว่า 700,000 บาท
การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการประสานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
กรณีพบผู้บริโภคซึ่งเป็นเด็กหลายรายเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากการรับประทานไส้กรอกและเกิดภาวะ methemoglobinemia (เมธฮีโมโกลบินนีเมีย) มีอาการซีด เขียว หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย จึงประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ , สระบุรี , เพชรบุรี และตรัง เพื่อสืบทราบแหล่งจำหน่ายและขยายผลทำการสืบสวนจนทราบแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ร่วมกับ อย.และ สสจ.ชลบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานเป้าหมายใน จ.ชลบุรี จากการตรวจค้นพบ นางสาวรักทวี (ขอสงวนนามสกุล) แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอกลูกชิ้น หมูยอ
โดยรับว่าทำการผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด และฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกหลายรายการตรงกับฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้ข้อมูลจากผู้ป่วยว่า บริโภคแล้วเกิดอาการผิดปกติดังกล่าว โดยฉลากดังกล่าวไม่แสดงเลขสารบบอาหารและเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โดยได้มีการส่งขายให้กับตลาดนัดพื้นที่ จ.ชลบุรี และ ตลาดมหาชัย ก่อนจะกระจายไปยังแหล่งขายอื่นๆ
จากการตรวจสอบสถานที่ผลิตแห่งนี้ตามหลักเกณฑ์ GMP ที่กฎหมายกำหนด พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ (ได้คะแนนรวม 19 คะแนนคิดเป็นร้อยละ 16.67) และพบข้อบกพร่องได้แก่ ไม่มีการควบคุมการผลิตในกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างเหมาะสม เช่น ใส่สารไนเตรต-ไนไตรต์ มากถึง 2,000 มิลลิกรัม/กก. ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ซ้ำยังพบว่านำเอาเนื้อไก่มาแปรรูปเป็นไส้กรอกหมู และหมูยอ รวมถึงขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฎหมาย
จึงได้ตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฝ่าฝืนสถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และฝ่าฝืนมาตรา 6(10) ผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ผลิตแสดงฉลากผลิตภัณฑ์ยี่ห้อต่าง ๆ มากถึง 32 ยี่ห้อ รวมทั้งยังมีสัญลักษณ์ฮาลาลปลอมอีกด้วย ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจวิเคราะห์
เบื้องต้นพบว่าโรงงานแห่งนี้มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 คือ สถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
และถ้าตรวจพบสารต้องห้ามในอาหารก็จะเข้าข่ายความผิดฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นอาหารปลอมด้วย ก็จะมีโทษหนักขึ้นคือ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท
พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ อนันต์ ผู้กำกับการ 4 ปคบ. เผยว่า ประชาชนท่านใดที่ซื้อสินค้าประเภทไส้กรอกลูกชิ้นที่ไม่มีสลากเครื่องหมาย อย. ขอให้หยุดบริโภค รวมถึงบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่รับของที่ไม่ได้มาตรฐานมาขายควรหยุดพฤติกรรมดังกล่าวทันที สำหรับครอบครัวที่ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการบริโภคไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐานสามารถนำใบรับรองแพทย์เข้าไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ได้เลย
ด้าน พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. เตือนประชาชนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิตไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขอเน้นย้ำผู้ประกอบการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอาหาร ให้เลือกซื้อไส้กรอกหรือผลิตภัณฑ์อาหาร จากสถานที่ผลิตอาหารที่ได้รับอนุญาตมาจำหน่ายต่อเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
โดยสังเกตที่ฉลากจะระบุชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน แสดงส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. และผลิตภัณฑ์มีการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ตลอดการจำหน่าย
ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังโรงงานผลิตไส้กรอกดังกล่าว ใน ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี พบว่ามีคนงานอยู่ในโรงงาน 2 คน และปิดประตูไส้ตลอดเวลา และไม่พบตัวเจ้าของ ถามสอบคนงานชายรายหนึ่ง แต่บ่ายเบี่ยงที่จะให้ข้อมูล รวมถึงวิธีการทำ อ้างว่าตนเองมีหน้าที่ต้มไส้กรอกเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะช่วยกันทำ ต้มเสร็จก็แพ็คใส่ถุง เสร็จแล้วเจ้าของจะมาดู ไม่รู้ว่านำไปส่งขายที่ไหนบ้าง ก่อนที่คนงานอีกคนจะโทรแจ้งเจ้าของโรงงาน และให้หยุดพูดห้ามให้สัมภาษณ์ใดๆ
จากการสอบถามชาวบ้านรายหนึ่ง เปิดเผยว่า โรงงานได้มาเช่าตรงนี้ประมาณ 3-4 เดือน แล้วก็มีมาทำลูกชิ้นทำไส้กรอก มีคนงานประมาณ 10 คน ส่วนใหญ่เป็นญาติกัน ไม่รับคนงานจากที่อื่น มีแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาไม่กี่คน นอกจากนี้มีชาวบ้านละแวกเดียวกัน ได้เข้าไปทำงานในโรงงานดังกล่าว เพราะคนงานขาด ซึ่งทำได้เพียง 1 วันและได้นำไส้กรอกกลับมากินด้วย 1 ถุง
โดยชาวบ้านรายนั้นนำไส้กรอกมาให้ตนลองทอดให้หลานกิน แต่มันมีสีแดงผิดปกติ ไม่เหมือนไส้กรอกที่เคยซื้อกินทอดจนน้ำมันแดง แดงติดกระทะ คาดว่าจะใส่สีมากและลองไปนึ่งดูก็เป็นสีแดงเช่นเดียวกัน จึงโยนทิ้งไม่ได้ให้หลานกินแต่อย่างใดเพราะกลัวท้องเสีย
ช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 โรงงานเพิ่งก่อตั้ง เจ้าของบอกทำโรงงานลูกชิ้น ไม่รู้ว่านำไปส่งที่ไหนบ้าง ชาวบ้านละแวกโรงงานก็ไม่มีใครรับมาขาย หลังเป็นข่าวเห็นสภาพแล้วตกใจ เห็นคนงานใส่รองเท้าบูท ใส่ผ้ากันเปื้อน และใส่หมวก ถุงมือ หน้ากากอนามัย ไม่คิดว่าจะเป็นโรงงานเถื่อน
จะเปิดประตูเฉพาะตอนนำลูกชิ้นออกไปส่งข้างนอก และเปิดประตูตอนคนงานออกมากินข้าว เห็นวิธีการทำแล้วรับไม่ได้ มันสกปรกและมีขยะ เห็นแล้วไม่อยากกิน เห็นในตลาดขาย 3 แพ็ค 100 บาท สีแปลก ๆ ยังไม่ซื้อกินเลย ต้องไปซื้อในห้าง
ด้านนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบโรงงานดังกล่าวแล้วพบว่าโรงงานดังกล่าวไม่ได้มีการจดทะเบียนขออนุญาตก่อตั้ง จึงมีความผิดอยู่แล้วตอนนี้อยู่ระหว่างสอบสวน เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/lpAonYGD684
แท็กที่เกี่ยวข้อง ไส้กรอก ,หมูยอ ,โรงงานไส้กรอก ,ชลบุรี ,โรงงานไม่ได้มาตรฐาน