สังคม

เจ้าของฟาร์มรับ ต้องปิดข่าวหมูตาย หวั่นกระทบส่งออก-ราคาดีดลง ด้านโรงเชือดโอด เป็นแพะรับบาป

โดย thichaphat_d

13 ม.ค. 2565

426 views

จากกรณีมีการตรวจพบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever: ASF) ในซากสุกรในไทย และเกิดระบาดของโรคหมูตายจำนวนมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลายราย ต้องเร่งขายหมูที่ ยังไม่ตายในราคาถูก


ขณะที่เจ้าของฟาร์มหลายแห่งบางรายไม่กล้าออกมาเปิดเผยข้อมูล เพราะกลัวเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสวนโรค ทำลายหมูที่สงสัยว่าเป็นโรค และหวั่นว่าหมูที่เหลือจะขายไม่ได้    


เมื่อวานนี้ (12 ม.ค. 65) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ฟาร์มหมูขนาดกลางแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี เลี้ยงหมูทั้งแม่พันธุ์ หมูขุน หมูอนุบาล หมูรุ่น รวมทั้งหมด 3,000 กว่าตัว ติดเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever: ASF) ตายประมาณ 400 ตัว โดยเจ้าของฟาร์มเป็นสัตวแพทย์ ไม่ขอเปิดตัวเพราะยังอยู่ในวงการเลี้ยงหมู ในฟาร์มยังมีหมูเหลืออยู่ ไม่อยากมีปัญหาเรื่องการค้าขายหมู แต่ให้ข้อมูลว่า โรค ASF ระบาดมาในฟาร์มของตนตั้งแต่ มิ.ย. ปี 64    


จากนั้นจึงคัดแยกหมูที่ยังไม่แสดงอาการ รีบขายทิ้งออกจากฟาร์มสู่ตลาด เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ระบาด ซึ่งไม่สามารถเลี้ยงต่อได้ เพราะรู้ว่าเมื่อไหร่ที่หมูติดเชื้อ ASF อัตราการตายสูงมาก ตนอยู่ในวงการเลี้ยงหมูมานาน รู้ว่าหมูที่ตายวิกาลโรคแบบนี้ไม่ใช่โรคปกติ ช่วงแรกๆ ที่เจ้าของฟาร์มส่วนใหญ่ไม่ออกมาพูดกัน เพราะไม่อยากให้ระบบเศรษฐกิจของหมูมีปัญหา วันที่ยังไม่มาถึงจุดนี้ คิดว่าพวกเราสามารถบล็อคกันได้ หรือจัดการปัญหากันได้    


หากพูดฟาร์มอื่น ๆ จะเกิดภาวะตกใจ เกิดการเทขาย ราคาหมูจะดีดลง และจะมีปัญหาเรื่องการส่งออกทั้งหมูเป็น ชิ้นส่วน แปรรูป แต่หมูที่ส่งออกจะไม่มีหมูที่มีปัญหาหลุดออกไป  เพราะก่อนส่งออกจะมีการตรวจโรค เนื้อแปรรูปที่ส่งออกก็ต้องตรวจโรค ฉะนั้นหมูในฟาร์มคนอื่นที่ยังไม่ติดโรคจะได้ไม่โดนผลกระทบตรงนี้ด้วย


เมื่อถามว่า ได้แจ้งให้ปศุสัตว์จังหวัดทราบหรือไม่ ว่ามีหมูในฟาร์มตายด้วยโรค ASF เจ้าของฟาร์ม ระบุว่า ไม่ได้แจ้ง หมูที่ตายก็จัดการทำลายฝังกลบเองภายในฟาร์ม หากเจ้าหน้าที่รับทราบต้องมีการฝังทำลายทั้งหมด หากไม่ได้รับการชดเชยจากภาครัฐ เงินทุนอาจหายไป บางรายกู้ยืมเงินจะทำให้ระบบการเงินของฟาร์มมีปัญหา สุดท้ายต้องเป็นฟาร์มที่แบกรับเอาไว้


เรื่องการควบคุมโรค ทุกฟาร์มพยายามควบคุมอย่างดีที่สุดแล้ว ยอมรับว่าเชื้อโรคตัวนี้มีความ ทนทานสูง หากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยไม่ได้อยู่ในระบบสุกร ซึ่งไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ASF เมื่อเลี้ยงหมูด้วยเศษอาหารตลาดเป็นตัวนำโรคมาสู่ฟาร์ม เชื้อก็จะระบาดไปยังฟาร์มอื่น ๆ ได้ง่ายเพราะมีหลายพาหะเป็นตัวนำเชื้อ เช่น นก แมลงวัน หนู  ยุง  ยิ่งช่วงฝนตกทำให้การกระจายโรคเร็วขึ้น


ประเด็นที่กรมปศุสัตว์แถลงพบอหิวาต์แอฟริกาหมู 1 ตัวอย่าง ในโรงฆ่าสัตว์ จ.นครปฐม นั้น “หากมีการขนย้ายหมูต้องมีใบรับรองผลการตรวจว่าปลอดเชื้อ ASF จึงจะออกใบขนย้ายได้ ปัญหาคือบางฟาร์มสุ่มตรวจเลือด ไม่ได้ตรวจทุกตัวที่ขาย บางตัวผลเป็นลบจริง แต่เวลาที่ไปส่งโรงเชือด อาจมีหมูที่ติดเชื้อ ASF หลุดไปด้วย พอเชือดแล้ว เจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างในโรงเชือด แล้วพบเชื้อ  เชื้อตัวนี้อยู่ได้เป็นปี อาจอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ยังไม่สุกมาก เช่น กุนเชียง


เจ้าของฟาร์มยังบอกอีกว่า ถ้าราคาเนื้อหมูในตลาดไม่ดีดขึ้น ผู้บริโภคไม่ร้องเรียน ประเด็นหมูติดโรค ASF  เรื่องก็จะไม่แดง ตนเชื่อว่าหากกรมปศุสัตว์มีการประกาศโรคระบาด ASF ตั้งแต่แรก อาจทำให้วงการหมูไม่แย่ วันนี้ประกาศหรือไม่ประกาศ ระบบเศรษฐกิจหมูก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว ทั้งนี้หากมีการประกาศเรื่องโรคระบาดแล้วฟื้นตัวได้เร็ว ก็จะเป็นกำแพงอย่างหนึ่งสำหรับการส่งออกหมู


นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้ลงพื้นที่โรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครปฐม (ไม่ใช่จุดที่พบเชื้อ ASF ตามที่กรมปศุสัตว์แถลง) โดยเจ้าของกิจการโรงเชือดหมู เผยว่า นครปฐมมีโรงเชือดมากกว่า 30 แห่ง เพราะเป็นแหล่งศูนย์กลางอาหาร ตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 จนถึงต้นปี 65 ค่อนข้างเงียบแทบจะไม่มีหมูเข้าโรงเชือด เพราะหมูขาดเนื่องจากติดโรคตาย ซึ่งก่อนที่หมูจะมาถึง โรงเชือดมีการตรวจโรคอย่างเข้มงวดทั้งต้นทางและปลายทาง โดยเฉพาะโรค ASF       


หากต้นทางคือฟาร์มหมูตรวจพบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ก็จะทำลายทิ้ง ทั้งนี้ตนเป็นเพียงโรงเชือดรับจ้างฆ่าสัตว์และชำแหละเท่านั้น เมื่อหมูถูกขนย้ายจากฟาร์มส่งมายังโรงเชือด จึงจะดำเนินการเชือด ชำแหละได้ โดยหมอของฟาร์มและปศุสัตว์ท้องที่นั้นๆ ตรวจโรคจากต้นทางแล้ว ก่อนจะเซ็นรับรองอนุญาตออกใบขนย้ายให้ หากไม่มีเอกสารรับรองดังกล่าว ก็ไม่สามารถขนย้ายได้


ทุกวันนี้โรงเชือดแต่ละแห่งแทบไม่มีหมูให้เชือด อย่างโรงเชือดของตนปกติรับหมูจากฟาร์ม 400-500 ตัวต่อวัน ตอนนี้เหลือวันละ 20 ตัว เนื่องจากหมูติดโรคตาย ตัดวงจรหมด บางฟาร์มไม่เหลือหมูสักตัว สำหรับเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ตนทราบว่าแพร่ระบาดมานานแล้ว กระทั่งมาแพร่ระบาดอย่างหนัก หมูตายเกลื่อน    


เจ้าของกิจการโรงเชือดหมู กล่าวต่อว่า  เชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นมาตั้งนานแล้ว ทำไมภาครัฐไม่เร่งควบคุม ไม่ตัดไฟแต่ต้นลมปล่อยให้หมูตาย มัวทำอะไรอยู่ เจ้าของฟาร์ม เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเดือดร้อนกันหมด หมูตายจะหมดอยู่แล้วเพิ่งออกมาพูด ทำไมไม่รีบตัดวงจรของโรค ยังดีที่วัว ควาย ไม่เป็นโรคด้วย “น่าจะมีวัคซีน โควิดยังมีวัคซีน ถ้าคนตายเหมือนหมูคงไม่เหลือในประเทศไทย ไม่รู้ว่าบริหารจัดการกันยังไง”


ส่วนกรณีที่กรมปศุสัตว์แถลงว่า พบอหิวาต์แอฟริกาหมู 1 ตัวอย่าง ในโรงฆ่าสัตว์ จ.นครปฐม นั้น  ตนมองว่าเป็นคำอ้างปัดให้พ้นตัวหรือไม่ “โรค ASF มันมากับหมูจากฟาร์ม โรงฆ่าอยู่กับที่ ถ้าโรคเกิดจากโรงฆ่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เชื้อมันมากับหมู แล้วใครปล่อยหมูมาก็ปศุสัตว์ และหมอที่ควบคุมฟาร์มนั้น ปล่อยมาได้ยังไง แล้วมาโทษโรงฆ่า จ้างเราฆ่าเราก็มีหน้าที่ฆ่า ส่งมาเราก็ฆ่า เราอยู่ปลายทางเป็นแพะรับบาป เขานำหมูมาส่งเอง เชื้อมันมากับหมูจากฟาร์มต้นทางไม่ได้เป็นโรคเกิดจากโรงฆ่า”


และยังระบุว่า โรงเชือดมีทั่วประเทศ ทำไมมาเจอที่นครปฐม แล้วทำไมไม่มีการตรวจพบเชื้อ ASF ที่ฟาร์ม แต่นี่มาเจอปลายทาง โรคมันเกิดที่โรงฆ่าหรือไง โรงเชือดของตนก็ควบคุมโรงทำความสะอาดอย่างดีที่สุดแล้ว จากการแถลงของกรมปศุสัตว์มันเสียความรู้สึก หากโรงฆ่าในพื้นที่ถูกสั่งปิดก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อ เชื่อว่าเป็นขบวนการต้องการล้างหมูนอกระบบฟาร์มต่างๆ ซึ่งเป็นฟาร์มเปิดหรือไม่ เพื่อเอื้อประโยชน์นายทุนที่มีฟาร์มปิด


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/bu2pJnWmEb8

คุณอาจสนใจ

Related News