สังคม
นิติคอนโด ยันไม่ได้ขัดขวาง ตร. 'สมศักดิ์' ชี้ รปภ.หื่น เข้าข่ายนักโทษชัันเลว เล็งปรับโทษประหาร
โดย thichaphat_d
7 ม.ค. 2565
8 views
วานนี้ (6 ม.ค. 65) ตัวแทนนิติบุคคลคอนโดมิเนียมที่เกิดเหตุ เข้าให้ปากคำเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวนสน. เพชรเกษม พร้อมเปิดเผยถึงการบริหารจัดการการดูแลระบบความปลอดภัยของคอนโดมิเนียม ว่า ทางคอนโดฯ ไม่มีเจ้าหน้าที่นิติบุคคลอยู่คอยมอนิเตอร์ภาพกล้องวงจรปิด เพราะมีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะรายได้ของนิติฯ มาจากค่าส่วนกลางของลูกบ้านที่ชำระรายปีเท่านั้น
แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หรืออย่างในกรณีนี้ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบภาพเหตุการณ์ย้อนหลังได้ ซึ่งวานนี้ (6 ม.ค.) ทางนิติฯ นำภาพวงจรปิดมามอบให้เป็นหลักฐานเพิ่มเติม ทั้งช่วงก่อนและหลังเกิดเหตุ พร้อมบอกว่า หัวหน้า รปภ.ทำผิดขั้นตอนของทางคอนโด คือ การพาช่างทำกุญแจเข้าภายในอาคาร ต้องประสานเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารของนิติบุคคลก่อน ถึงจะขึ้นไปด้วยกัน 3 ฝ่าย คือ หัวหน้ารปภ. , เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคาร และช่างทำกุญแจ
พลตำรวจโท สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกว่า การออกใบอนุญาตของตำรวจให้นาย มนตรี ไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือ รปภ.นั้น ได้มอบหมายให้ ให้ พลตำรวจตรี นิตินันต์ เพชรบรม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตรวจสอบย้อนหลังทั้งหมด ถึงแม้ว่าทางบริษัทจะยืนยันว่าทางตำรวจเป็นผู้ออกให้ก็ตาม
และยืนยันจะไม่เข้าข้างหรือช่วยเหลือ หากพบว่าตำรวจบกพร่องในหน้าที่และออกใบอนุญาตให้โดยมิชอบ ส่วนกรณี นิติบุคคลและ รปภ.ที่ขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่จะมีความผิดหรือไม่ ให้เป็นดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน
ด้าน พลตำรวจตรีนิติธร จินตกานนท์ รองโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ฝ่ายอำนวยการ 5 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตรวจสอบกรณีการออกใบอนุญาตประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยแก่ นายมนตรี ใหญ่กระโทก หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย ข่มขืนลูกบ้าน ที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียมย่านฝั่งธนบุรี
เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับเรื่อง ตรวจสอบ และอนุญาตให้ใบประกอบอาชีพ ว่ามีความบกพร่องในส่วนใด อย่างไรหรือไม่ เนื่องจากนายมนตรีเคยต้องโทษคดีข่มขืนกระทำชำเรา เป็นความผิดทางเพศ ซึ่งคุณสมบัติต้องห้าม สำหรับผู้ที่จะมาขออนุญาตทำใบประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงสั่งให้ตรวจสอบรายละเอียด และอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง
รองโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ยังชี้แจงถึงขั้นตอนการขอใบอนุญาตว่า ผู้ที่มีความประสงค์จะประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย จะต้องมีเอกสารผ่านการอบรมการรักษาความปลอดภัย โดยมายื่นคำร้องด้วยตนเอง หรือยื่นในนามบริษัทรักษาความปลอดภัย เพื่อขอใบอนุญาตที่ฝ่ายอำนวยการ 5 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
จากนั้น จะส่งข้อมูลให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรตรวจสอบ ตรวจสอบประวัติว่า เคยต้องคดีที่ต้องห้ามหรือไม่ จากนั้น ก็จะส่งผลการตรวจสอบกลับมา เพื่อพิจารณาให้ใบอนุญาต เป็นไปตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัยฯ
ขณะที่ดอกเตอร์ วัชรพล บุษมงคล นายกสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นบทเรียน ที่ต้องนำไปปรับปรุง ทั้งเรื่องของบริษัท ที่ต้องตรวจสอบประวัติ รปภ. ที่จะเข้าทำงาน ส่วนหนึ่งคงต้องไปถามทางตำรวจ ว่า คนที่มีประวัติต้องโทษคดีข่มขืน แล้วปล่อยให้ได้รับใบอนุญาตพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตได้อย่างไร
ขณะที่ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ บอกว่าการกระทำของทั้งนิติบุคคล และ รปภ. เป็นการขัดขวางการปฏิบติหน้าที่ และไม่ให้ความร่วมมือกับตำรวจอย่างชัดเจน และอยากฝากไปถึง บริษัท รปภ. ให้มีมาตรการในการรับคนเข้าทำงาน /ตรวจสอบประวัตอย่างละเอียด เพราะบางหมู่บ้าน รปภ. ก็เป็นคนชี้เป้าให้คนร้ายมาก่อเหตุ รวมถึง ฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของตำรวจด้วย
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า พฤติกรรมของ นายมนตรี ถือว่าเข้าข่ายเป็นนักโทษชัันเลว เพราะมีการกระทำผิดซ้ำ ส่วนจะรับลดหย่อนโทษหรือไม่ คงเป็นไปตามระเบียบ ทั้ืงนี้ยอมรับว่า ต้องมีการปรับกฎหมายบทลงโทษให้หนักขึ้น โดยเฉพาะโทษประหาร
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/SxHHtHHLjhw