เลือกตั้งและการเมือง

“สมศักดิ์” เอาจริงลดโรค NCDs สอน อสม.นับคาร์บ ก่อนออกไปให้ความรู้ประชาชน เชื่อมั่นทำคนป่วยลดลง

โดย chawalwit_m

28 ต.ค. 2567

920 views

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานเปิดงานเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน เพื่อต่อสู้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)


โดยมีนายวิชัย ไชยมงคล ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายโฆสิต สุวินิจจิต นายเอกฤทธิ์ ศาตะมาน ที่ปรึกษา นายสรวิศ ธานีโต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงฯ และอสม.เข้าร่วม


นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมจะเปิดโครงการลดคนป่วยจาก NCDs ดังนั้น จะเห็นว่า บุคลากรสำคัญที่จะลดคนป่วยหรือทำให้คนไม่ป่วยไม่น่าเชื่อว่าพระเอกนางเอกจะเป็น อสม. แต่หมอพยาบาลก็ยังเป็นหลักอยู่ เพียงว่างานนี้หากเราจะสร้างหนัง พระเอกนางเอกคือ อสม. ปัจจุบันมีกว่า 1 ล้านคน  


ซึ่งโดยเฉลี่ย อสม. 1 คนดูแลประชากรราว 50 คน ดังนั้น อสม.1,080,000 คนคูณด้วย 50 ก็ประมาณ 50 กว่าล้านคน ถ้า 50 กว่าล้านคนเข้าใจเรื่องนี้จะลดโรคNCDs ได้  เมื่อ อสม. 1 ล้านกว่าคนเข้าใจก็จะนำไปสู่ความรู้ให้กับประชากรกว่า 50 ล้านคน ดังนั้นหากคิดเป็นค่าทำประชาสัมพันธ์คน 100 บาทกับ 50 ล้านคนก็เท่ากับค่าทำประชาสัมพันธ์ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินตรงนี้หากทำให้คนไม่ป่วยถือว่าคุ้มค่ามหาศาลแค่ไหน


ปัจจุบันสถิติหมอ 1 คนดูแลประชากร 950 คน เยอะเกินไปแล้วจากสถิติที่ควรอยู่ 1 ต่อ 650 คน คนเป็นเบาหวานเพิ่มปีละ 300,000 คน  ต้องหยุดให้ได้ ความดัน 14,000,000 คน โรคทุกระย 1 ล้านคน  มะเร็ง 4.4 แสนคน รายใหม่ 1.4 แสนคนต่อวัน ตายปีละ 83,000 คน  ซึ่งมะเร็งรวมถึงปัญหาที่เกิดจากบุหรี่ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้  การที่อสม.มาช่วยตรงนี้ไม่ใช่ว่าจะลดคนตายได้ทันทีแต่จะลดผู้ป่วยรายใหม่ได้เนื่องจากรายเดิมเค้าก็มีพฤติกรรมมาก่อนแล้ว


“เราต้องหยุดคนป่วยให้ได้ด้วยการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและเงินที่ลดได้จากการลดผู้ป่วย ก็ควรนำกลับมาให้ อสม. ซึ่งขณะนี้กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.อสม. ยังไม่เข้า ครม.เพราะติดอยู่ที่กรมบัญชีกลาง”นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางหนึ่งที่อยากให้อสม.ไปนำเสนอให้ประชาชนที่อยู่ในการดูแล คือ การคำนวณอัตราการเผาผลาญของร่างกาย(หรือการใช้พลังงาน)ขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวันที่เป็นของนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกา  ซึ่งเป็นการคำนวณปริมาณการรับประทานคาร์โบไฮเดรต หรือข้าวของแต่ละบุคคลในแต่ละวัน


โดยคำนวณจากอายุ ส่วนสูง น้ำหนัก  กิจกรรมทางกายในแต่ละวัน หรือเรียกว่า “กินคาร์บ” จะคำนวณออกมาได้เป็นปริมาณคาร์โบไฮเดรตต่อวันที่เหมาะสมของแต่ละคน กำหนดเป็นทัพพีมาตรฐานที่ 15 กรัมต่อทัพพีหน่วยจะออกมาเป็น “คาร์บ” เช่น หากคำนวณได้ที่ 10 คาร์บหรือ 10ทัพพีมาตรฐานที่ 15 กรัม ก็ควรบริโภคคาร์โบไฮเดรคต่อวันไม่เกิน 10 คาร์บ เป็นต้น


ซึ่งตนทดลองทำแล้วน้ำหนักลดลง 3 กิโลกรัม ภายในเวลา 2 เดือน อสม.จะต้องนำไปสื่อสาร กินเป็นไม่ป่วย ไม่ใช่อด กินได้เต็มที่ เพียงแต่กินให้อยู่ในปริมาณที่คำนวณ และจะทำเป็นโปรแกรมแทนค่าต่างๆในโทรศัพท์มือถือเพื่อง่ายต่อการใช้งานด้วย ส่วนคนที่ไม่ป่วย ไม่กำลังจะป่วย  ไม่ได้อ้วน ก็กินไปเถอะ แต่คนที่จะป่วยแล้วต้องมาเข้าโปรแกรมนี้


นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.อสม. ขณะนี้ติดอยู่ที่กรมบัญชีกลาง เนื่องจากมีประเด็นเพิ่มเรื่องที่มาของแหล่งเงินทุน ที่จะตอบแทนลงไปที่ อสม. เพราะเมื่อไม่ป่วยก็ไม่ต้องรักษาไม่ต้องใช้เงิน เงินที่เหลือก็สามารถเอาไปให้กับ อสม.  เบื้องต้น คือจะนำไปใส่ไว้ในกองทุนที่เขียนไว้ในกฎหมายแต่จะบริหารอย่างไรขึ้นกับในอนาคต ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ต้องเอ่ยขึ้นเพราะว่าตอนนี้ยังมีฉบับเดียวที่เสนอเข้าสู่สภา


เพื่อรอร่างของกระทรวงขณะนี้ผมได้เข้าไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งจะประชุมเรื่องนี้ในช่วงสัปดาห์แรกหรือสัปดาห์ที่สองของเดือนหน้า จึงขอให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้ตามให้ด้วย เพราะผู้ใหญ่ได้คุยกันในระดับหนึ่งแล้ว


ทั้งนี้ระหว่างการให้นโยบาย นายสมศักดิ์ ยังได้แจกกระดาษซึ่งเป็นสูตรการคำนวณนับคาร์บ ให้กับ อสม.ได้ทดลองฝึกเพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้อง ก่อนที่จะออกไปรณรงค์ให้ประชาชน


นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า สำหรับความคืบหน้า ร่างพ.ร.บ.อสม.คาดว่าอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ของเดือน พ.ย. กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจะส่งกลับและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ จากนั้นอีกประมาณ 1 ปี อาจจะแล้วเสร็จขั้นตอนหลังผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร


เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้บริหารโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ออกมาระบุว่า จะไม่รับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ถูกส่งต่อรักษามายังโรงพยาบาลฯ เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังค้างจ่ายชดเชยค่าบริการจากระบบส่งต่อ


ซึ่งอาจกระทบผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่รักษาตัวอยู่กับโรงพยาบาลนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่า การจ่ายชดเชยค่าบริการ ภาครัฐมีงบประมาณ แต่การจ่ายชดเชยอาจจะช้าหรือเร็วก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งมองว่าประเด็นการจ่ายช้าหรือเร็วมีความสำคัญที่ต้องปรับให้เกิดความสมดุลกับการรักษาพยาบาล ไม่ใช่ว่า เมื่อรักษาไปแล้ว ต้องรอนานกว่าจะเบิกชดเชยค่าบริการได้ เราก็ต้องปรับเพื่อให้เบิกจ่ายเงินทองต่างๆ ได้ทันท่วงที


เพราะหากโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องก็อาจมีผลกระทบต่อระบบ หากเราไม่ไปช่วยก็จะเป็นปัญหาอย่างอื่นตามมา ทั้งนี้ ได้พูดคุยกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ถึงประเด็นโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะแล้ว โดยให้ไปอธิบายและปรับความเข้าใจระหว่างกัน อย่าให้เกิดความไม่เข้าใจ และเกิดเป็นการโต้เถียงกัน ซึ่งจะไม่ดี โดยคาดว่ามีการเข้าพบและพูดคุยกันภายใน 1 - 2 วันนี้

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องการเบิกจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OP) ก็เช่นกัน ก็ขอให้ปรับระบบทำให้เร็วมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับหน่วยบริการ และโรงพยาบาล ซึ่งในการประชุม บอร์ด สปสช. ครั้งต่อไปในวันที่ 4 พ.ย. 2567 นี้ก็จะมีการกำชับเรื่องนี้อีกครั้ง


ส่วนผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่กับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะอยู่ก็อย่ากังวล จะเร่งจัดการแก้ปัญหาให้ ส่วนทางโรงพยาบาลนั้น ยืนยันว่ารัฐบาลมีเงินจ่าย จุดใดที่ช้าอยู่ก็ต้องปรับให้เร็วขึ้น แต่ปรับแล้วยังช้าอยู่อีก ปัญหานี้ก็จะเป็นตัวชี้วัดของคนทำงานด้วยเหมือนกัน ซึ่งเขาก็ต้องปรับให้เร็ว ไม่ให้เกิดความเสียหาย" นายสมศักดิ์ ระบุ

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายฯ ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการ และหน่วยบริการนวัตกรรมที่เข้าร่วมแล้ว เหลือเพียงแต่รอการประกาศจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการเพื่อให้เริ่มดำเนินการ

เมื่อถามย้ำว่า ทุกจังหวัดทั่วประเทศจะได้ใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ได้ทันในปี 2567 นี้ใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวตอบว่า ใช่ ยืนยันว่าทุกจังหวัดจะได้ใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ได้ครบทุกแห่งภายในปี 2567 แน่นอน เพราะเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่สะดวกมากยิ่งขึ้น


นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงการตรวจสอบสารตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท ว่า การแสดงความคิดเห็นเรื่องที่เสียหายต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจต้องระมัดระวัง สารตกค้างถ้าไม่มากเกินไปกว่าที่กำหนดก็ควรระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น อย.ก็ต้องดูแลไม่ให้ประชาชนเกิดโรคภัยไข้เจ็บ

คุณอาจสนใจ

Related News