สังคม

วิกฤตแรงงานขาด ส่งผลธุรกิจแย่งแรงงานต่างด้าว ดันค่าแรงพุ่ง 10%

โดย panisa_p

2 ธ.ค. 2564

158 views

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ อีคอนไทย ยอมรับว่า ขณะนี้วิกฤตขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในภาคการผลิตลามหนักไปทุกภาคธุรกิจ ส่งผลให้เกิดปัญหาการแย่งแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่พบว่ามีการดักเสนอราคาค่าแรงที่สูงกว่าถึงหน้าโรงงาน โดยอัตราค่าแรงในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการ มีการเสนอค่าแรงให้สูงกว่าปกติถึง 10% จากเดิมค่าจ้างที่ 400 บาทต่อวัน เพิ่มเป็น 500 - 600 บาทต่อวัน 


ขณะที่ในกลุ่มก่อสร้าง และโลจิสติกส์ มีการเสนอค่าแรงที่สูงกว่าปกติถึง 15% จากเดิมจ่ายกันวันละ 500 บาท ต้องเพิ่มไปถึง 600 - 700 บาทต่อวัน ซึ่งแม้จะเพิ่มค่าแรงให้แล้ว ก็ยังหาคนงานไม่ได้  ส่วนแรงงานที่มีทักษะ เช่น ปูกระเบื้องได้ ก็จะขยับขึ้นไปถึงวันละ 1,000 บาท


โดยเห็นสัญญาณการขาดแคลนแรงงานเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปี 64 และชัดเจนขึ้นในช่วงเปิดประเทศ เมื่อเดือนที่ผ่านมา หลังจากโควิด19 ทำแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ แล้วไม่สามารถกลับมาทำงานในไทยได้ เพราะ MOU จ้างแรงงานต่างด้าวหมดอายุ


โดยองค์การนายจ้างฯ เสนอว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้ได้โดยเร็ว ก็อาจต้องใช้วิธีตั้งโต๊ะเปิดรับแรงงานต่างด้าวกันที่ด่านชายแดน โดยให้ลงทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการคัดกรองโควิด19 และที่สำคัญต้องปรับเงื่อนไข ไม่ให้มีการเปลี่ยนนายจ้าง เพราะจะเกิดปัญหาการแย่งชิงแรงงาน


นอกจากนี้เชื่อว่าวิกฤตขาดแคลนแรงงานขั้นพื้นฐานจะลากยาวไปถึงมีนาคมปีหน้า เนื่องจากขั้นตอนของ MOU จ้างงานต่างด้าว 400,000 คน ของกระทรวงแรงงาน ไม่น่าจะเสร็จทันภายในเดือนนี้

คุณอาจสนใจ

Related News