สังคม

"หมออดุลย์" ชี้ "ฟ้าทะลายโจร" ใช้ได้ผลช่วงรับเชื้อ ไม่ได้เพิ่มภูมิคุ้มกัน-ป้องกัน

โดย narisa_n

23 ส.ค. 2564

63 views

23 ส.ค. 64 ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune ถึงสรรพคุณสมุนไพรฟ้าทะลายโจร โดยเนื้อหาระบุว่า ฟ้าทะลายโจรออกฤทธิ์ตรงไหนถึงยับยั้ง Covid19 เราได้ยินเรื่องฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทย ที่ก่อนหน้านี้มีการใช้รักษาหวัด ลดไข้ แก้เจ็บคอกันมานาน พอยุค Covid19 ก็มีการศึกษาเรื่องการใช้รักษา Covid19 ซึ่งมีผลงานวิจัยที่ฮือฮากันว่าได้ผล แต่ก็ติดขัดเรื่องรายละเอียดด้านสถิติการวิจัย


คนทั่วไปอยากรู้ว่าฟ้าทะลายโจรใช้ได้ผลไหน และถ้าได้ผลใช้ตอนไหนถึงจะดี ขอออกตัวก่อนนะครับ ว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่จากการทบทวนข้อมูลวิจัยต่างๆ ก็มาสรุปเล่าให้ฟัง แบบที่คนทั่วไป น่าจะเข้าใจได้ ไม่ใช่ภาษาหมอหรือนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญนะครับ


องค์ประกอบสำคัญ หรือ สารออกฤทธิ์ ที่มีการค้นพบใน ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata ) คือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ... และ จากการศึกษาที่ใช้ในการรักษา Covid19 จะต้อง เป็นสารสกัดเข้มข้น และ ในปริมาณมากพอ ซึ่งสารแอนโดรกราโฟไลด์ มีอยู่ทั้งในใบ และ ลำต้น แต่มีอยู่ในใบเข้มข้นกว่า และไม่ใช่ใบแก่


สารแอนโดรกราโฟไลด์ ได้ถูกศึกษาว่า มีการออกฤทธิ์ต่อขั้นตอนการทำงานของ gene ที่ระดับ mRNA โดยไปรบกวนขั้นตอน การสร้าง โปรตีน (Mevalonate pathway) จากสารตั้งต้น Acetyl-CoA สาร Acetyl-CoA เป็นตัวการสำคัญในการใช้พลังงาน ทั้งในการใช้งานของระบบ น้ำตาล ไขมัน และ โปรตีน แต่สารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรไปรบกวนขั้นตอนการสร้างโปรตีน ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของเซลล์ ด้วยคุณสมบัติพื้นฐานอันนี้ ทำให้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ที่ต้องสร้าง RNA ในการแบ่งตัว ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เชื้อโรคมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จึงได้รับผลกระทบเยอะ ขณะที่เซลล์อื่นๆในร่างกายแบ่งตัวช้า จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า (ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เซลล์ร่างกายที่แบ่งตัวเร็ว คือ เซลล์เม็ดเลือด เซลล์เยื่อบุผิว เซลล์ตับ)


จากกลไกดังกล่าว จะเห็นว่า แอนโดรกราโฟไลด์ของฟ้าทะลายโจร ได้ผลดีสุดในช่วงแรก ตอนที่เชื้อโรคเริ่มเข้าสู่ร่างกาย จะช่วยลดปริมาณเชื้อโรค ไม่ให้เพิ่มจำนวนได้มาก โดยการออกฤทธิ์นี้ จังหวะเดียวกับ การใช้ยา Favipiravir แต่ใช้คนละกลไกกัน คือ ยา Favipiravir ใช้สารตั้งต้นหลอกที่ทำให้ไวรัสที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์และตายไป แต่แอนโดรกราโฟไลด์ ทำให้ไม่มีการเพิ่มจำนวนไวรัส ซึ่ง ทั้ง 2 ตัว ออกฤทธิ์ ในจังหวะเดียวกัน แต่ถ้าใช้ร่วมกัน ไม่ได้ผลดีเพิ่มขึ้นเพราะ ถ้าแอนโดรกราโฟไลด์ ยังยั้งไม่ให้สร้างไวรัส ก็ไม่ได้เอา Favipiravir ไปใช้ จำนวนไวรัสที่ตายจึงเท่าเดิม


แอนโดรกราโฟไลด์ จะได้ผลหลังให้ยา 24 ชั่วโมง และ จะต้องให้ในขนาดที่มากเพียงพอ การต้มน้ำกิน อาจจะไม่ได้ผล


ฟ้าทะลายโจร จึงได้ผลในช่วงแรก แต่ไม่ช่วยเวลาที่ปอดอักเสบหรือ เยื่อบุปอดบวมแล้ว อีกทั้งยังอาจจะทำให้การซ่อมแซมเนื้อเยื่อปอดช้าลง เพราะ ช่วงของการซ่อมแซม ต้องการการสร้างโปรตีน และ ใช้พลังงาน


การเลือกใช้ ยาชนิดไหน คงต้องอยู่ที่ว่า เรามีอะไรอยู่ในมือ มีมากพอไหม เพียงพอให้ใช้ไหม ราคาถูก หาง่าย เข้าถึงได้ แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ได้เพิ่มภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถกินป้องกันได้ ได้ประโยชน์ เมื่อติดเชื้อแล้วเท่านั้นครับ

คุณอาจสนใจ

Related News