สังคม

สถาบันวิจัยซินโครตรอน ดัดแปลงรถตู้กู้ภัยเป็นรถตู้ความดันลบ รับผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา

โดย panisa_p

4 ส.ค. 2564

128 views

จากสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีนโยบายรับผู้ป่วยโควิดจากจังหวัดพื้นที่เสี่ยงกลับไปรักษาตัวตามภูมิลำเนาจังหวัดของตัวเอง เป็นการแบ่งเบาภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดพื้นที่เสี่ยง ล่าสุดสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้นำผลงานวิจัยสร้างห้องความดันลบ มาดัดแปลงรถตู้กู้ภัยให้กลายเป็นรถรับส่งผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้งบประมาณเพียง 30,000-50,000 บาทนั้น


วันนี้ (4 สิงหาคม 2564) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา หรือ ฮุก31 ได้โชว์ผลงานการดัดแปลงรถตู้โดยสารขนาด 9 ที่นั่ง ให้เป็นรถตู้โดยสารความดันลบ ใช้สำหรับรับส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรืออยู่ในกลุ่มสีเขียว กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาของผู้ป่วย ซึ่งรถตู้โดยสารความดันลบคันนี้ถือเป็นรถตู้ต้นแบบที่สามารถป้องกันผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรับส่งผู้ป่วยได้ 100% ทำให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่


นายเด่นชาย บำรุงเกาะ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบเชิงกล และสาธารณูปโภค สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า รถตู้โดยสารความดันลบนี้ได้ประยุกต์มาจากการพัฒนาห้องแยกโรคความดันลบสำหรับโรงพยาบาลสนาม โดยได้ดัดแปลงรถตู้โดยสารของมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา มีการออกแบบให้มีการปิดกั้นแยกห้องระหว่างคนขับ และห้องผู้โดยสาร เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส


และภายในห้องผู้โดยสารได้ติดตั้งระบบดูดอากาศผ่านแผ่นกรอง HEPA filter ที่ใต้เบาะผู้โดยสารด้านหลัง เพื่อให้มีความดันต่ำกว่าความดันบรรยากาศ และป้องกันเชื้อไวรัสกระจายสู่ภายนอก โดยการดัดแปลงรถตู้โดยสารความดันลบคันนี้ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 1 สัปดาห์ ใช้งบประมาณตั้งแต่ 30,000 - 50,000 บาท แล้วแต่จะเพิ่มออฟชั่นภายในรถมากขึ้นเท่าใด


นายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล เลขาธิการมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา เปิดเผยว่า รถตู้โดยสารความดันลบคันนี้เป็นรถต้นแบบคันแรก โดยระหว่างปฏิบัติงานผู้โดยสารภายในรถสามารถเปิดระบบเครื่องปรับอากาศเพื่อความเย็นสบายได้ตลอดระยะเวลาการเดินทาง และจากเดิมรถตู้โดยสารธรรมดาสามารถลำเลียงผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้เพียงเที่ยวละ 4 คน


แต่รถตู้โดยสารความดันลบสามารถลำเลียงผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้เป็นเที่ยวละ 9 คน ทำให้รับส่งผู้ป่วยได้จำนวนเพิ่มมากขึ้น และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในรถมีความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางหากมูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมากำลังดำเนินการดัดแปลงรถตู้โดยสารของทางมูลนิธิฯ ซึ่งมีอยู่จำนวนทั้งหมด 10 คัน ให้เป็นรถตู้โดยสารความดันลบทั้งหมดภายในปี 2564 นี้

คุณอาจสนใจ

Related News