สังคม

ส.อ.ท.หารือรองฯ อนุทิน ย้ำทุกโรงงานเข้มมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล สกัดการแพร่ระบาดโควิด-19

โดย panisa_p

29 ก.ค. 2564

200 views

ส.อ.ท.ประกาศแจ้งเตือนทุกโรงงานคุมเข้มขั้นสูง ตามมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล แบ่งกลุ่มย่อยแยกโซนทำงาน ห้ามข้ามโซน สั่งตั้งรพ.สนาม มีรถรับส่ง ห้ามแวะกลางทาง พร้อมทวงถามวัคซีนภาคอุตฯรัฐ หลังตัวเลขติดเชื้อโรงงานระบาดหนัก หวั่นต้องปิดโรงงาน กระเทือนเศรษฐกิจหนักแน่นทั้งส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภค จ่ายเงินเยียวยา


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 29 ก.ค. นี้ คณะทำงาน ส.อ.ท. เตรียมหารือร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทางส.อ.ท.จะสอบถามความคืบหน้าการจัดสรรวัคซีน ในการป้องกันการแพร่ระบาด ให้กับภาคอุตสาหกรรมล่าสุดเป็นอย่างไร


รวมทั้งจะแจ้งมาตรการที่ส.อ.ท. กำลังดำเนินการในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด -19 ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ตัวเลขการติดเชื้อในโรงงานขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ต้องเร่งกันช่วยกันป้องกัน ไม่เช่นนั้นจะกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งกระทบการแพร่ระบาดในชุมชน หากต้องปิดโรงงาน จะกระทบต่อกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งจะกระทบทั้งสินค้าในภาคการส่งออก และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในประเทศ เป็นเรื่องใหญ่มาก หรือถ้ารัฐสั่งปิดเอง ต้องจ่ายเงินเยียวยาอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ได้เร่งผลักดันให้ทุกโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข ประเมินตนเอง และโรงงาน ผ่านไทย สต็อป เซอร์วิส พลัส และไทย เซพ ไทย รวมทั้งล่าสุด ได้ยกระดับให้เข้มข้นขึ้น ให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทุกแห่ง ดำเนินการมาตรการ บับเบิล แอนด์ ซีล (bubble and seal) ซึ่งเป็นการควบคุมคนในโรงงาน ให้มีกิจกรรมปะปนกันเอง และกับคนนอกโรงงานให้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดการติดเชื้อ โดยแรงงานที่อาศัยนอกโรงงาน ต้องควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงานกับที่พักอาศัย ไม่แวะทำธุระระหว่างเดินทาง และเมื่อกลับถึงที่พัก ต้องอยู่ภายในที่พักอาศัยเท่านั้น ขณะที่แรงงานที่พักอาศัยในโรงงาน ต้องมีการควบคุมไม่ให้แรงงานออกนอกพื้นที่แรงงาน


นอกจากนี้ ได้แจ้งให้โรงงานขนาดใหญ่ เตรียมพร้อมแผนรับมือหากมีการติดเชื้อในโรงงานจำนวนมาก โดยให้จัดโรงพยาบาลสนาม และพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อ , จัดเตรียมสถานที่พักในโรงงานหรือในชุมชน เป็นที่พักสำหรับผู้สัมผัสผู้ป่วย แต่ยังตรวจไม่พบเชื้อหรือยังไม่มีอาการ , จัดเตรียมระบบเดินทางรับ-ส่ง คนงาน จากที่พักถึงโรงงานหรือสถานประกอบการ ป้องกันการแวะระหว่างทาง , จัดหาร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค ราคาย่อมเยา ในบริเวณโรงงานหรือที่พักลดการสัมผัสระหว่างคนงานและคนในชุมชน และให้จัดหาสถานพยาบาลที่พร้อมให้บริการตรวจหาเชื้อ ด้วยพีซีอาร์ และแอนทิเจน เทส คิท


ส่วนการบริหารจัดการคนทำงานร่วมกันในพื้นที่โรงงาน ให้จัดพนักงานแยกเป็นกลุ่มย่อย หรือแยกเป็นบับเบิล แต่ละกลุ่มสามารถทำงานร่วมกันโดยป้องกันตนเอง แต่ไม่ให้มีการทำงานหรือกิจกรรมข้ามกลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มมีสัญลักษณ์แสดงชัดเจน ไม่ให้มีกิจกรรมข้ามกลุ่มจำนวนคนแต่ละกลุ่มยิ่งน้อยยิ่งดี เช่น โรงงานมีพนักงาน 500 ราย กลุ่มหนึ่งไม่เกิน 20 ราย ถ้าเป็น 1 - 5 คน จะดีที่สุด หากบับเบิลใด มีผู้ติดเชื้อ กลุ่มผู้มีสัมผัสเสี่ยงสูงก็จะถูกจำกัดในบับเบิลนั้น ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง คนที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กก. หญิงตั้งครรภ์ ให้จัดทำงานที่ไม่สัมผัสคนจำนวนมาก หากให้อยู่ในบับเบิล เฉพาะกลุ่มนี้ได้ จะทำให้เกิดความปลอดภัยสำหรับกลุ่มนี้มากขึ้น


รวมทั้ง ให้มีการสุ่มคนงานตรวจหาเชื้อ ในสถานประกอลการขนาดใหญ่ ให้สุ่ม 75 ราย ต่อคนงานทุกๆ 500 ราย สถานประกอบการขนาด 100 - 500 ราย สุ่ม 75 รายโดยกระจายการสุ่มให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ ที่แยกไว้ หากพบผู้ติดเชื้อ ให้แยกไปอยู่ใน รพ.สนาม ศูนย์พักคอย หรือรักษาตนเองที่บ้าน ส่วนคนงานที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้ติดเชื้อ ถือว่าเป็นผู้สัมผัส ให้หยุดงานและกักตัว 14 วันทุกราย


ทั้งนี้ ที่เลือกกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ เพราะคลัสเตอร์ส่วนใหญ่ จะเกิดในโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งจะขยายวงกว้างติดกันเป็นจำนวนมาก และอีกส่วนการทำมาตรการนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการนี้เพื่อความปลอดภัยสูงสุด หากมีการแพร่กระจายเชื้อให้น้อยที่สุด ทำให้การควบคุมโรคง่าย และมีประสิทธิภาพ โรงงานหรือสถานประกอบการก็ไม่ต้องปิด รายได้ก็จะไม่หายไป รวมทั้งจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจมาก

คุณอาจสนใจ

Related News