สังคม

พม.ยกระดับดูแล ‘เด็กเชื่อมจิต’ หลังไม่ยอมตรวจสุขภาพจิตตามคำแนะนำ

โดย JitrarutP

25 เม.ย. 2567

60 views

รมว.พม. มอบหมายให้ พม.ติดตามดูแล กรณีเด็กเชื่อมจิต หลังพบปัญหาที่ผู้ปกครองเด็กไม่ให้ความร่วมมือพาเด็กตรวจสุขภาพจิตตามคำแนะนำ

นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุม คณะทำงาน ตามที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ รมว.พม. มอบหมาย

ที่ประชุมได้มีการรายงานถึงการติดตามกรณีเด็กชายวัย 8 ขวบ อ้างตัวเองว่าเป็นร่างอวตารองค์เพชรภัทรนาคานาคราช สามารถเชื่อมจิตได้ และสามารถหยั่งรู้เรื่องราวในอดีตและอนาคต

ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2566 กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ประสานไปยังมารดาของเด็ก เพื่อสอบถามข้อมูลด้านครอบครัว และลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวเด็ก พบว่า เด็กชายดังกล่าวกำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สภาพจิตใจโดยทั่วไป ไม่มีความเครียดหรือความกังวล สามารถสื่อสารพูดคุยได้เป็นเรื่องราวสมวัย มีความสนใจด้านพระพุทธศาสนาและสื่อออนไลน์เป็นพิเศษ ในขณะพูดคุยมีการยกตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องบุญและกรรม

ต่อมาในวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการสหวิชาชีพจังหวัดสุราษฎรธานี โดยมีมติให้มีการแบ่งทีมเพื่อให้การช่วยเหลือเด็กเชื่อมจิต รายนี้เป็น 3 ทีม ตามแนวทาง คือ

1) ทีมเยี่ยมบ้านเพื่อทำความเข้าใจกับครอบครัวและให้ผู้ปกครองของเด็กลงลายมือชื่อบันทึกการช่วยเหลือ

2) ทีมตรวจสุขภาพจิต โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสุขภาพจิตเด็กและครอบครัว

3) ทีมเยียวยาช่วยเหลือครอบครัว หลังจากได้ข้อยุติการตรวจประเมินสุขภาพจิตเด็กและครอบครัวแล้ว เพื่อแนะนำวิธีการดูแลเด็ก

แต่ปรากฎว่าเด็กและครอบครัวไม่ได้ไปตรวจสุขภาพจิตตามคำแนะนำ

ส่วนกรณีล่าสุดที่เป็นดรามาอีกครั้ง นายนิกร กล่าวว่า ทางบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี อาจจะมีการยกระดับการทำงาน ซึ่งอาจจะแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้ดำเนินการตามกระบวนการ เนื่องจากผู้ปกครองเด็กไม่ได้ให้ความร่วมมือตามมาตรการ แนวทาง หรือการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

เรื่องของเด็กเชื่อมจิต คนนี้ไปถึงขั้นที่กระทรวง พม. จะต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเด็กแล้วโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ดำเนินการปรับปรุง แก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ยังคงมีบทบัญญัติในการสงเคราะห์ ช่วยเหลือ และคุ้มครองเด็ก หากเกิดกรณีเช่นเดียวกันกับเด็กเชื่อมจิตดังกล่าว

ส่วนพฤติกรรมดังกล่าว จะเป็นความผิดด้านพระพุทธศาสนาหรือไม่นั้น คงต้องไปพิจารณาตามภารกิจของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าเข้าข่ายในลักษณะการกระทำความผิดตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือไม่



รับชมทางยูทูบที่ :https://youtu.be/EYTWYeGS1XQ

คุณอาจสนใจ

Related News