สังคม

สธ.ไทยมาถึงจุดนี้? รพ.ธรรมศาสตร์ ออกเกณฑ์พิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยโควิด

โดย nicharee_m

23 ก.ค. 2564

37 views

ระบบสาธารณสุขของไทย มาถึงขั้นที่ต้องเลือกแล้วว่าจะเลือกรักษาใคร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกประกาศเกณฑ์พิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยโควิด19


โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เพจโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โพสต์แจ้งในพื้นที่ตรวจพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่ม 7 คน และยังมีผู้มารอตรวจร่วมร้อยคน ยังไม่นับคำขอคนไข้อาการหนัก กลับมาจากโรงพยาบาลสนาม และบุคลากร นักศึกษามหาวิทยาลัย ที่ตรวจพบผลบวกที่อื่นแล้วขอกลับมารักษา ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ระบบสาธารณสุขล่มแล้ว ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก จนมีผู้เสียชีวิตในบ้านและตามท้องถนน


ขณะเดียวกันรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกประกาศลงนามวันที่ 22 กรกฎาคม ระบุว่า ด้วยสถานการณ์ระบาดโควิด-19 เข้าขั้นวิกฤตอย่างรุนแรง ส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์พิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ สำหรับการรักษาที่เข้าหลักเกณฑ์ สอดคล้องกับกฎหมาย และมาตรการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย ที่รักษากับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในสภาวะปัจจุบัน


ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบอนุมัติให้ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณา ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย ผู้ป่วยที่แสดงเจตนาล่วงหน้าที่ไม่ประสงค์ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือการประชุมครอบครัวตัดสินใจแทน และกลุ่มที่ผู้ป่วยไม่ได้แสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า โดยแพทย์ผู้ดูแล จะเป็นผู้พิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ


เมื่อเข้าเกณฑ์ที่กำหนด 2 ใน 4 ข้อ คือ อายุมากกว่า 75 ปี และมีโรคประจำตัวร่วม เช่น โรคประจำตัวเรื้อรัง, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคเรื้อรัง จนถึง ผู้ป่วยเปราะบาง และผู้ป่วยระยะท้าย ฯลฯ


ขณะที่ นายแพทย์ ธนิต จิรนันท์ธวัช นายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องนี้ ระบุว่า หลายคนไม่สบายใจกับประกาศของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งถือเป็นประกาศแรกของประเทศไทย เกี่ยวกับการพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยโควิด19 ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเหมาะสม สามารถให้แพทย์โรงพยาบาลอื่นๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้ กับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ป่วยโควิด ที่ระบบหายใจล้มเหลว มากเกินกว่าระบบการดูแลด้วยเครื่องช่วยหายใจจะรองรับได้


แต่ขออธิบายเรื่องหลักเกณฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกกับประกาศนี้ ซึ่งผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่ได้แจ้งเจตจำนงค์ล่วงหน้า ว่าจะใส่ท่อช่วยหายใจหรือไม่ ดังนั้นผู้ป่วยที่จะเข้าเกณฑ์ 2 ใน 4 ข้อ คือ ผู้ที่สูงอายุมากๆ และเป็นผู้ป่วยที่มีโรคร่วมรุนแรงหลายโรค ผู้ป่วยที่เปราะบางมาก และเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต แต่หากเป็นผู้ป่วยอายุไม่มาก 60 กว่าๆ โรคร่วมไม่มาก ยังแข็งแรง และทำงานได้ จะยังไม่เข้าเกณฑ์นี้ จึงยังไม่ต้องวิตกกังวล ห่อเหี่ยวใจกับประกาศนี้


ส่วนที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สถานการณ์หนักหน่วงไม่แพ้กัน โดยเพจหมอแม่สอด ระบุว่า ห้องฉุกเฉินไม่เคยว่าง คนไข้เก่าไป คนไข้ใหม่ก็มาตลอด คนไข้ที่เหนื่อยมาเกือบทุกคนปอดอักเสบ และตรวจเจอเชื้อโควิด ทั้งใส่ท่อช่วยหายใจหรือใช้เครื่องออกซิเจนแรงดันสูงหลายคน บางคนหมอจำเป็นต้องแจ้งตามตรงว่า เกินขีดการรักษาแล้ว ทำได้เพียงให้คนไข้ไปอย่างสบายที่สุด พื้นที่เสี่ยง ทุกตำบล กทม.2 is coming


สำหรับยอดผู้ติดเชื้อของอำเภอแม่สอด เมื่อวานนี้วันเดียว พบผู้ป่วยรายใหม่ถึง 73 คน อำเภอพบพระ 30 คน และอำเภออุ้มผาง 1 คน


ด้านนายแพทย์ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด ยืนยันว่า โรงพยาบาลจะรักษาทุกคนเต็มความสามารถ เพราะทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน จะไม่มีการปล่อยให้คนตาย สบายใจได้ โดยขอให้คนในกลุ่มเป้าหมาย 7 โรค ผู้สูงวัยรวมทั้งคนท้องมาฉีดวัคซีนให้มากที่สุด รวมทั้งด่านหน้าทุกคน ทหาร ตำรวจ อสม. เพราะผู้ป่วยหนักส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย

คุณอาจสนใจ