สังคม

เปิดเบื้องหลัง "สืบจากฟัน" ความรู้นิติทันตวิทยา ช่วยไขคดีแตงโม

โดย pattraporn_a

22 มี.ค. 2565

508 views

ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ยืนยันคดีการเสียชีวิตของนางสาวนิดา พัชรวีรพงษ์ หรือ แตงโม ยังอยู่ระหว่างการรอผลชันสูตรจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อพิจารณาประกอบแนวทางการสืบสวน สอบสวนเพิ่มเติม คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ โดยช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ากระบวนการนิติวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาท ต่อการสืบสวนสอบสวนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการพิสูจน์ฟันศพ หรือ นิติทันตวิทยา ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีนี้ถูกใช้มานานแล้ว


ข่าว 3 มิติได้พูดคุยกับ 1 ในทีมทันตแพทย์ผู้ร่วมชันสูตรกรณีฟันของคุณแตงโม ถึงหลักการนิติทันตวิทยา ที่ถูกนำมาใช้พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลในปัจจุบัน ซึ่งเคยใช้มาแล้วหลายครั้ง ทั้งเหตุฆาตกรรม อุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ แม้ในกรณีที่สภาพศพย่อยสลายไปแล้วก็ตาม โดยฟัน 1 ซี่สามารถบอกเรื่องราวได้มากมาย ติดตามกับคุณธีรุตม์ นิมโรธรรม


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิง ดร.พิสชา พิทยพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยประสบการณ์การทำงานด้านนิติทันตวิทยาเกือบ 20 ปี กับทีมข่าว 3 มิติ ถึงกรณีการสืบจากฟันสู่การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ซึ่งเป็นกระบวนการที่มักใช้กับกรณีศพเริ่มเปลี่ยนแปลงสภาพ จากการเน่าเปื่อย หรือ ถูกเผาจนไม่สามารถระบุเอกลักษณ์บุคคลได้ ควบคู่กับการตรวจพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ


นิติทันตวิทยา เป็น 1 ใน หลักการนิติวิทยาศาสตร์ ที่ประกอบด้วยนิติเวชวิทยา สำหรับการชันสูตรร่างกาย , นิติทันตวิทยา สำหรับพิสูจน์ฟัน และนิติมานุษยวิทยา สำหรับพิสูจน์อัตลักษณ์ทางโครงกระดูก


ขณะเดียวกันการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลก็ทำได้อย่างน้อย 3 วิธี คือ การตรวจลายนิ้วมือ การตรวจพันธุกรรม หรือ DNA และ การตรวจฟัน


นิติทันตวิทยา จึงสามารถนำมาใช้สืบประวัติทางทันตกรรม เพื่อระบุตัวบุคคล , อายุ และ เพศ ของผู้เสียชีวิตได้ ขณะเดียวกันก็สามารถสืบจากบาดแผลที่เกิดขึ้นทั้งกับฟัน และ ร่างกายของคนร้าย เช่น ร่องรอยความเสียหายของฟัน หรือ บาดแผลจากรอยกัด


ที่ผ่านมาทันตแพทย์ ด้านนิติทันตวิทยา ได้ร่วมงานกับเจ้าหน้านิติวิทยาศาสตร์ ใช้ความสามารถพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล มาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะเหตุฆาตกรรม เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ และอุบัติเหตุ เช่น กรณีฆ่าหั่นศพแล้วแช่แข็งอำพรางคดี , เหตุการณ์สึนามิถล่มภาคใต้แถบอันดามัน เมื่อ 26 ธันวาคม 2547 , เหตุระเบิดที่บริเวณสีแยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 และล่าสุดกรณีการเสียชีวิตของแตงโม นิดา


อย่างไรก็ตาม ทันตแพทยสภา ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญด้านนิติทันตวิทยาทั่วประเทศเพียง 24 คนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดด้านบุคลากรที่ยังไม่ครอบคลุมกระบวนการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ หากกรณีเกิดเหตุการณ์ที่มีความเสียหายเป็นวงกว้างขึ้นในประเทศ

คุณอาจสนใจ

Related News