สังคม

นักวิชาการ ชี้ ‘ซีเซียม-137’ อันตรายน้อยกว่าเหตุการณ์เชอร์โนบิล สงสัย หายจากโรงงานได้ยังไง?

โดย JitrarutP

21 มี.ค. 2566

152 views

วันที่ 21 มี.ค. 66 รายการโหนกระแสพูดคุยกับ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.รุ่งธรรม ทาคำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ, ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีชแห่งประเทศไทย, ดร.ทศดล สันถวไมตรี นักนิวเคลียร์เคมีชำนาญการพิเศษ และสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ นายกสมาคมรังสีเทคนิคนานาชาติ / ประธานวิชาการรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และ ดร.กิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินนิวเคลียร์และรังสี ถึงกรณี “ซีเซียม-137” หายไปจากโรงงาน


โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ตั้งคำถามว่า “ซีเซียม-137” หายไปจากโรงงานได้อย่างไร โลโก้ 3 ใบพัด คือสัญลักษณ์รังสี เครื่องหมายนี้น่ากลัวไม่แพ้กับเครื่องหมายหัวกะโหลกไขว้ ตอน “ซีเซียม-137” ตกจากปล่องสู่พื้น เจ้าหน้าที่โรงงานไม่ทราบเลยหรือ คนที่ขโมยไปขาย คนที่รับซื้อ ถ้ารู้จักสัญลักษณ์โลโก้นี้เห็นก็ต้องสะดุ้ง ที่มีการตรวจพบว่าซีเซียมถูกหลอมไปแล้ว ก็ต้องไปตรวจให้พบว่าเป็นตัวที่หายไปหรือเปล่า หรือมีตัวที่สองที่สามขึ้นมาอีก ภาครัฐต้องให้ความกระจ่างกับประชาชนโดยการบอกข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา

ขณะที่ ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ที่คุยกันว่าน่ากลัวเหมือนเชอร์โนบิล ต้องดูว่าความแรงอยู่ที่เท่าไหร่ จากข้อมูลถ้าเป็นแท่นนี้จริงๆ ความแรงตัวนี้อยู่ที่ 41 มิลลิกูว์รี ตัวซีเซียมโดยน้ำหนัก เทียบกับเชอร์โนบิล เมื่อคำนวณ Specific Activity แล้ว ได้น้ำหนักของซีเซียมอยู่ที่ 0.00047 ประมาณ 0.0005 กรัม ขณะที่เชอร์โนบิลตอนระเบิด ปล่อยซีเซียมออกมาถึง 27 กิโลกรัม ปริมาณรังสีของอุปกรณ์นี้น้อยกว่าเชอร์โนบิล 57 ล้านเท่า

“อันตรายถ้าจะเกิด ถ้าเอาไปหลอมแล้วฝุ่นออกมา ปริมาณขนาดนี้ ไม่อันตรายในวงกว้าง เช่น มีข่าวว่าจะปลิวไปหลายสิบกิโล ปลิวไปเป็นพันกิโล ซึ่งมองว่าออกไปจริงๆ จะถูกเจือจาง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่อันตรายเลย อันตายจะเกิดจากคนในระยะใกล้ คนที่เข้าไปสัมผัส ร่างกายผิวจะอักเสบ บวมแดง จากข้อมูลที่มีการวัดแปลว่าคนที่อยู่ใกล้ ผิวเกิดอักเสบ บวมแดง ต้องกอดแท่นนี้ไว้ประมาณ 15 ชมครึ่ง” นายกสมาคมรังสีเทคนิคนานาชาติ / ประธานวิชาการรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าว...

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีชแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีเซียมที่หายไปมันไม่ใช่ปริมาณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่เราต้องไม่ประเมินมันต่ำไป ประเด็นคือทำไมมันหายไปจากโรงไฟฟ้าได้ แล้วทำไมไม่มีใครบอกได้เลย ว่ามันหายไปได้ยังไง วันนี้ก็ยังบอกไม่ได้ ประชาชนก็ตั้งคำถามว่า เห้ย อิหยังวะ ปมแรกต้องสรุปให้ได้ ที่เจอในฝุ่นแดงคือแท่นซีเซียมที่หายจากโรงไฟฟ้าหรือไม่ ตกลงแท่นซีเซียมมันอยู่ไหน หน่วยงานต้องทำให้ชัดขึ้น จะช่วยคลายความกังวลของประชาชน

ด้าน ดร.รุ่งธรรม ทาคำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เผยว่า อัตราการสลายตัวของซีเซียม จากปริมาณเริ่มต้น จนเหลือครึ่งหนึ่งก็ 30 ปี แต่เอาเข้าจริงไม่ใช่ 30 ปี แต่ 300 ปี คือการหมดสภาพของการแผ่รังสี ส่วนกรณีที่เจอในฝุ่นแดงนั้น ต้องใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เป็นตัวชี้ว่าซีเซียมที่เจอที่โรงหลอม ใช่ซีเซียมที่หายไปไหม ถ้าไม่ใช่ก็ต้องหาต่อ

คุณอาจสนใจ

Related News