สังคม
ตา-ยายแจ้งความ ทนายดังบุรีรัมย์หลอกเอาเงิน 150,000 ค่าทำคดี แต่ไม่ทำจริง สุดท้ายบ้านโดนยึด
โดย panisa_p
10 ก.ย. 2567
161 views
วันที่ 10 ก.ย.67 นายสมเกียรติ โจนวรกมล ทนายความอาสาจังหวัดสกลนคร ได้พานางสุข อายุ 72 ปี และนายน้อย อายุ 72 ปี สองสามีภรรยา ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.อภิญญา ภัณฑะประทีป สารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองบุรีรัมย์ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ กล่าวหาทนายชื่อดังท่านหนึ่ง เคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง ว่าหลอกหลวงและฉ้อโกงเงินไปจำนวน 150,000 บาท
นางสุข เล่าว่า บ้านพร้อมที่ดินของตนเนื้อที่ 1 งาน 89 ตารางวา อยู่ที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ถูกธนาคารยึดไป หลังจากนั้นบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ประมูลมาจากสำนักงานบังคับคดี อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา แล้วนำทรัพย์ไปประกาศขายในราคา 795,000 บาท
ต่อมาลูกสาวได้เห็นทนายคนดังกล่าวในติ๊กต็อกว่าเป็นทนายช่วยเหลือประชาชน จึงประสานไปหาทนาย เบื้องต้นทนายคิดค่าดำเนินการจำนวนเงิน 50,000 บาทเป็นค่าวิชาชีพ ตนก็โอนไปให้ครบจำนวน
หลังจากทนายได้รับเงินไป ทนายได้เดินทางไปหาที่บ้านที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอรายละเอียดของคดี ต่อมาทนายได้เรียกเงินอีก 100,000 บาท เป็นค่ามัดจำบ้านที่ดินจากบริษัทฯ ลูกสาวก็หามาให้ตน ก่อนจะโอนต่อให้ทนายจนครบจำนวน ไม่นานทนายติดต่อมาอีกว่า ต้องใช้อีก 25,000 บาท คราวนี้ครอบครัวได้มาปรึกษากันว่า จะโดนหลอกหรือไม่ ลูกสาวจึงติดต่อกับทนายสมเกียรติทางติ๊กต็อก เพื่อขอคำแนะนำ
คราวนี้ทนายสมเกียรติ ออกมาช่วยเหลือเป็นอย่างดี โดยไม่คิดเงิน จนกระทั่งมารู้จากทนายสมเกียรติ ว่ายังไม่มีใครมาติดต่อกับบริษัทบริหารสินทรัพย์เกี่ยวกับบ้านและที่ดินดังกล่าวแม้แต่ครั้งเดียว สุดท้ายทนายที่บุรีรัมย์ น่าจะพอรู้ตัว โอนเงินกลับคืนมาให้ 100,000 บาท และ 10,000 บาท ยังขาดอีก 40,000 บาท แต่ไม่ยอมคืนให้ ก่อนทนายจะพามาแจ้งความดังกล่าว
ด้านนายสมเกียรติ โจนวรกมล ทนายอาสาจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ทนายคนดังกล่าวตนไม่เคยรู้จักเขามาก่อน มารู้ตอนพายายมาแจ้งความว่าเขาเป็นคนมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดบุรีรัมย์ เคยคุยกันทางโทรศัพท์ 1-2 ครั้งว่าขอร้องเขา ว่าเราเป็นทนายเรามีจริยธรรม เรามีวิชาชีพ ถ้าเราไม่ได้ทำงานให้เขา ควรจะคืนเขาไปซะ แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับมา ได้แต่ครับ ครับ ครับ แล้วหายไปเลย
จนลูกสาวของยายที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ ขอร้องให้ทนายคืนเงินให้ สุดท้ายโอนเงินส่วนที่เหลือจากค่าวิชาชีพมาให้ 10,000 บาทจากที่เรียกไป 50,000 บาท เงินจำนวนนี้เขาอ้างว่ามีทีมงานไปติดต่อกับบริษัท แต่ไม่เป็นความจริง ตนเดินทางไปติดต่อที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ และพบเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเคสนี้ ได้รับแจ้งว่า ”ไม่เคยมีใครมาติดต่อกับบริษัทเลย” อย่างนี้เรียกว่าเข้าข่ายฉ้อโกง หลอกลวง โดยเฉพาะถ้าเป็นทนายความแล้วไปกระทำแบบนี้จะได้รับโทษมากกว่าปกติ เพราะไปใช้ความรู้ที่มีอยู่ไปทำแบบนี้ไม่ได้
แท็กที่เกี่ยวข้อง ทนายความ ,หลอกลวง ,ทนายหลอก