สังคม
ชาวบ้านเกือบ 5,000 คน บุกศาลากลางเมืองนราฯ ทวงเงินเยียวยาน้ำท่วมไม่เป็นธรรม
โดย nut_p
27 มิ.ย. 2567
84 views
ชาวบ้านเกือบ 5,000 คน บุกศาลากลางเมืองนราฯ ทวงเงินเยียวยาน้ำท่วมไม่เป็นธรรม ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนประสบเหตุอุทภัยในรอบ 50 ปี91,085 ครัวเรือน รวม 352,773 คน
เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 27 มิ.ย.67 ได้มีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 8 อำเภอ ของ จ.นราธิวาส ประกอบด้วย ระแงะ รือเสาะ เจาะไอร้อง ยี่งอ เมือง ศรีสาคร สุไหงปาดีและแว้ง จำนวนเกือบ 5,000 คน ที่ประสบเหตุอุทภัยในรอบ 50 ปี ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งจังหวัดนราธิวาสสรุปพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย 13 อำเภอ 77 ตำบล 588 หมู่บ้าน 62 ชุมชน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 91,085 ครัวเรือน รวม 352,773 คน
โดยชาวบ้านที่ได้เดินทางมารวมตัวกันในครั้งนี้ แยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1. กลุ่มไม่ได้รับเงินเยียวยา หรือ กลุ่มที่ตกหล่นจากการสำรวจ และ 2. กลุ่มที่ได้รับการเยียวยาแต่ทางการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้รับเงินเยียวยาสูงสุด 77,000 บาท และได้รับเงินเยียวยาต่ำสุดเพียง 100 บาท ที่ได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าอาคารศาลากลาง จ.นราธิวาส โดยมีนางวิชชุเวช เอียดเต็ม ถูกชาวบ้านแต่งตั้งเป็นแกนนำ เพื่อต้องการมายื่นแบบร้องขอรับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 พร้อมหลักฐานรูปถ่ายความเสียหายของบ้านพักอาศัยและทรัพย์สิน ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น
ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยจำนวนหนึ่ง ได้นำคำร้องไปยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับขั้นตอนแล้วคำร้องขอรับการช่วยเหลือแต่ถูกบ่ายเบี่ยง ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย จึงได้มีการรวมตัวกันและพร้อมใจกันเดินทางนำ แบบคำร้องขอความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน มาส่งให้กับนายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส
และในขณะที่ชาวบ้านเกือบ 5,000 คน ที่ได้รวมตัวกันภายในศาลากลาง จ.นราธิวาส เพื่อแบบคำร้องขอความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน แก่ทาง ปภ.จ.นราธิวาส อยู่นั้น นายสังคคม เกิดก่อ ปลัด จ.นราธิวาส นายรุสดี ปูรียา นายอำเภอเมืองนราธิวาส และนายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส ได้เดินทางมาพบกับชาวบ้าน พร้อมทั้งได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากเงินงบประมาณการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา ทางจังหวัดไม่มีงบประมาณแต่จะรับเรื่องดำเนินการ โดยผ่านทางศูนย์ดำรงธรรม จ.นราธิวาส เพื่อส่งให้ทางสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาให้การช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งการรับเรื่องจากชาวบ้านในครั้งนี้คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในช่วงใกล้ค่ำ
ต่อมาเวลา 11.30 น. นายสุบัญชา อินทฤทธิ์ ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม จ.นราธิวาส ซึ่งติดราชการได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.นราธิวาส นำโต๊ะมาตั้งเพื่อรับแบบฟอร์มร้องขอรับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 พร้อมหลักฐานรูปถ่ายความเสียหายของบ้านพักอาศัยและทรัพย์สิน ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น ทุกรายเพื่อรวบรวมส่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาให้การช่วยเหลือ และเมื่อทางศูนย์ดำรงธรรม จ.นราธิวาส ส่งเอกสารต่างๆของชาวบ้านให้ทางสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางศูนย์ดำรงธรรม จ.นราธิวาส จะทำหนังสือส่งให้ชาวบ้านทราบทุกรายในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้สำหรับปัญหาชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเงินช่วยเหลือเยียวยาทั้ง 2 กลุ่ม เคยส่งหนังสือเอกสารต่างๆร้องทุกข์เพื่อขอความเป็นธรรมกับนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ปธ.คณะกรรมาธิการการกฏหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 25 พ.ค.67 ที่ผ่านมา และชาวบ้านได้เสนอตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาทบทวนการจ่ายเงินเยียวยาที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้การช่วยเหลือเยียวยาจะสิ้นสุดลงแล้วตามกำหนดเวลา แต่มีข้อกฎหมายยกเว้นสามารถพิจารณาการช่วยเหลือเยียวยาให้กับชาวบ้านได้ ซึ่งทุกฝ่ายที่เข้าร่วมประชุมรับปากจะดำเนินการ แต่หลังจากนั้นเรื่องได้เงียบหายไปต่างก็ผลัดไปหน่วยงานโน้นผลัดไปหน่วยงานนี้ จนเป็นที่มาของชาวบ้านได้ร่วมกันเดินทางมารวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดในวันนี้
ด้านนางวิชชุเวช เอียดเต็ม แกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า เดือดร้อนไม่ใช่แค่ 5 บ้าน 10 บ้าน ถ้าเขาไม่เดือดร้อนเขาไม่มากัน ต้องการให้คนทั้งประเทศเห็นเพราะเป็นเจ้าของเงินเป็นเจ้าของภาษี จะได้เห็นเงินที่เจียดมาช่วยชาวบ้านในครั้งนี้เขาเดือดร้อนจริง เพื่อต้องการสอดรับคนที่จะช่วยเรา ท่านกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ปธ.คณะกรรมาธิการการกฏหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร วันนั้นท่านรับเรื่องเห็นใจยอมเอาข้อกฎหมายงี่เง่าไปปรับเปลี่ยนให้ ท่านทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ท่านวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ปธ.สภาผู้แทนราษฏร ท่านเห็นใจวันนั้นถามท่านเลยว่า ภัยพิบัติขนาดนี้น้ำท่วมขนาดนี้ขอเงินเยียวยาชาวบ้านขั้นต่ำครอบครัวละ 30,000 มากไปไหม ท่านตอบว่าไม่มากใจฟูเลย มีคลิปประชุมอำเภอประจำเดือน นายอำเภอหรือปลัดจังหวัดพูดมาเลยเสียหายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยไม่จำเป็น ก็เลยให้ชาวบ้านลงทะเบียนผู้เดือดร้อนที่เดือดร้อนกันจริง ๆ เรากำชับมาตลอดต้องโปร่งใสถูกต้องไม่แอบอ้าง พอชาวบ้านลงทะเบียนเสร็จก็มีแรงกระทบมาหมด อบต.ต่อต้าน อำเภอต่อต้านและได้ข่าวว่าจังหวัดต่อต้าน คุณทำงานราชการต่อต้านประชาชนทำไม วันนี้เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาอย่างนี้เขาผิดมั๊ย ตอนแรกเราคุยกันอย่างดีเรามาใช้สิทธิ์ของตัวเองมาส่งเราจะทำให้เรียบร้อยไม่วุ่นวาย เป็นหมวดเป็นหมู่บ้านเป็นตำบลให้ตัวแทนตำบลส่งเวลาพูดน่ารักมาก นายก อบต.เดี๋ยวท่านเป็นตัวแทนส่งเอง ที่อื่นก็มีตัวแทนส่งก็ง่ายไง กลายเป็นว่าข่าวกดดันตัวเองตั้งแต่เมื่อวาน ทั้งนายก อบต.บางที่ทั้งรอง ปภ.บอกว่า ใครจะไปส่งให้กับตนเองพรุ่งนี้เสียเวลาเปล่าไม่ได้อะไร เพราะ ปภ.ไม่มีเงินถ้าไปอาเงินไปเอากับตัวเอง โดยในแบบคำร้องทาง ปภ.เขาแจ้งว่า ยื่นคำร้องได้ที่ว่าการอำเภอ หรือ สนง.ปภ.จังหวัด ทำไมว่าไม่ส่งที่อำเภอก็เมื่อทางอำเภอเมื่อครั้งก่อนทางอำเภอไร้จิตสำนึกส่งไปได้อย่างไร 9 คน ทั้งตำบลถ้ามีสมองต้องกลับไปย้อนดู
ด้านนายวสันต์ ไชยทวีวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส กล่าวว่า การประชุมของคณะกรรมาธิการการกฏหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎรกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อวันที่ 25 พ.ค.67 หลังจากประชุมเรามีหนังสือถึงพื้นที่เลย ให้อำเภอทุกอำเภอทบทวนและสำรวจใครตกหล่นบ้างแต่ยังใช้กลไกลเดิม คือ เริ่มตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับอำเภอ ส่งมาที่คณะกรรมธิการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยระดับจังหวัด นี้คือหลักการใช้เงินทดรองราชการอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด เราก็เสร็จไปส่วนหนึ่งแล้วแต่ก็ยังมีตกหล่น ก็ยังต้องใช้หลักการเดิมเพื่อที่จะให้เกิดความเสมอภาค ในส่วนครั้งนี้เราอยากที่จะให้มีการสำรวจอย่างแน่ชัดคาดว่าจะมีการประชุมที่จังหวัดไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นล็อดใหญ่อาจจะตกหล่นบ้างก็จะมีการประชุมครั้ง 2 ครั้ง เพื่อที่จะให้เรียบร้อยเพื่อที่จะดูและเสนอของบประมาณต่อไป