สังคม

เด็ก 8 ขวบเลือดกำเดาไหล หมอระบุจมูกอักเสบมาจากพิษ PM 2.5 คณะแพทย์ฯ ประกาศภาคเหนือวิกฤต

โดย parichat_p

21 มี.ค. 2567

532 views

เด็กหญิงวัย 8 ขวบ เลือดกำเดาพุ่ง พบแพทย์ระบุจมูกอักเสบเชื่อมาจากฝุ่นพิษ PM2.5 ขณะที่คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ส่งสารประกาศเตือนภัยวิกฤตหมอกควันภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ชี้รุนแรงกระทบหนักต่อสุขภาพประชาชน ย้ำเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันและใช้เวลาสั้นที่สุด เผยสถิติผู้ป่วยจากพิษฝุ่นควันPM2.5 เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่แล้วกว่า 30,000 คน พุ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2566 เกินเท่าตัวแล้ว


เด็กหญิงวัย 8 ขวบ เลือดกำเดาไหล หลังจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีอาการผิดปกติปวดหัว หายใจลำบากเหมือนเป็นหวัดแต่ไม่มีน้ำมูก และมีไข้ช่วงกลางคืนกับตอนเช้า แต่ตอนกลางวันไข้ลดมีอาการอ่อนเพลีย และเริ่มมีอาการปวดหูเพิ่ม เป็นอย่างนี้วนไปจนเกือบครบ 1 อาทิตย์ ผู้ปกครองจึงพาไปหาหมอที่คลินิกแพทย์เด็กในตัวเมืองเชียงใหม่ ตรวจวินิจฉัยพบว่าโพรงจมูกอักเสบ และส่งผลต่อไปยังหูเริ่มมีอาการอักเสบ แพทย์ให้ยาฆ่าเชื้อกลับมาดูอาการ 1 สัปดาห์หากไม่ดีขึ้นให้รีบพาไปโรงพยาบาล ผ่านไป 1 คืน รุ่งเช้าน้องข้าวหอมตื่นมาพร้อมกับมีเลือดกำเดาไหล ผู้ปกครองก็ปฐมพยายาลจนหาย


เชื่อว่าน่าจะมาจากอาการป่วยตามที่แพทย์ระบุ ส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากสาเหตุวิกฤติหมอกควันในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงปิดเทอมและต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านเปิดเครื่องฟอกอากาศ และเครื่องปรับอากาศโดยต้องเสียเวลาปิดเทอมที่ไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมสนุกสนานในช่วงปิดเทอมก็ตามแต่ก็ยังล้มป่วยลงได้



ขณะเดียวกันก็มีรายงานจากทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เผยแพร่สารจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง วิกฤตหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือต่อสุขภาพประชาชน โดยลงชื่อ ศาสตราจารย์(เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า



จากสถานการณ์วิกฤตหมอกควันมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นกับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือมาอย่างยาวนานโดยขณะนี้เกินค่ามาตรฐานอย่างหนักในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปางจังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน



ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-15 มี.ค. 2567) ด้วยผลกระทบจาก PM2.5 แล้วทั้งสิ้น จำนวน 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน1 เท่าตัว (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2566 จำนวนผู้ป่วย 12,671 คน) ส่วนใหญ่พบมีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล โรคถุงลมโป่งพอง ตามลำดับ



ฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดอาการไอ จาม แสบจมูก หายใจลำบาก เคืองตา คันผิวหนัง และในระยะยาว จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ สมรรถภาพปอดลดลง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง รวมทั้งมีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ ทารกตายในครรภ์ พัฒนาการหลังคลอดไม่สมบูรณ์



นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรง ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของระบบการหายใจและระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย มีผลต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดเฉียบพลัน และโรคถุงลมโป่งพอง โดยอาจทำให้มีอาการเพิ่มขึ้น หรือเกิดการกำเริบเฉียบพลัน ขอให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม สังเกตอาการ หากมีอาการเพิ่มขึ้น หรือมีการควบคุมโรคแย่ลง มีอาการกำเริบรุนแรง ขอให้รีบพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินทันที



บุคคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์วิกฤตหมอกควันในภาคเหนือที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ประชาชนทุกท่านเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว โดยเริ่มจากตัวท่านเองไม่เผาทั้งในบ้านและในที่โล่งแจ้ง ติดตามระดับฝุ่น PM2.5 หากระดับฝุ่น PM2.5มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้ใส่อุปกรณ์หรือหน้ากากป้องกัน PM2.5 ชนิด N95 โดยให้อยู่นอกอาคารให้สั้นที่สุด ให้ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้านหรือสถานที่ที่ปิดหน้าต่างและประตูอย่างมิดชิด ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM2.5



ขอให้ประชาชนมั่นใจทีมแพทย์พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมดูแลประชาชนในเขตพื้นที่ภาคเหนืออย่างเต็มประสิทธิภาพ

คุณอาจสนใจ