สังคม

ศาลฎีกายกฟ้อง 'ยิ่งลักษณ์' คดีเด้ง 'ถวิล เปลี่ยนศรี' อดีตเลขาฯ สมช. พบไม่มีเจตนาสร้างความเสียหาย

โดย paweena_c

26 ธ.ค. 2566

135 views

'ยิ่งลักษณ์' รอด ศาลฎีกานักการเมือง ยกฟ้องและเพิกถอนหมายจับ คดีย้าย 'ถวิล' ไม่เป็นธรรม ชี้ คำวินิจฉัยศาล รธน. และ ศาลปกครองสูงสุด ไม่มีผลผูกพัน พบไม่มีเจตนา พิเศษสร้างความเสียหาย ขณะที่ทีมทนายความรอติดตาม ว่าอัยการจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่

องค์คณะตุลาการ  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีที่เมื่อช่วงเดือน กันยายน 2564 น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีคำสั่งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคง ในขณะนั้น เข้าไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ หลังจากที่เลื่อนอ่านคำพิพากษามาถึง 2 ครั้ง

คดีดังกล่าว นายถวิล ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดและศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย และ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในวันที่ 1 ก.ค. 2563 และส่งให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยอัยการสูงสุดจึงได้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกา และมีการออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในที่สุด

โดย องค์คณะตุลาการ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง มีมติเสียงข้างมาก ยกฟ้อง และเพิกถอน หมายจับ นางสาวยิ่งลักษณ์ โดยจากการไต่สวน และใช้ดุลยพินิจ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำร้องดังกล่าวเป็นคนละประเด็น กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงไม่มีผลผูกพันกัน เพราะเป็นคนละประเด็นกัน เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาวินิจฉัยจากการกระทำ

ศาลจึงมีความเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้าย โดยไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะสร้างความเสียหายที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้กับ นายถวิล

ขณะเดียวกันการแต่งตั้งโยกย้าย เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว ตั้งแต่สมัย พลโทสุรพล เผื่อนอัยกา อีกทั้งการไต่สวนยังพบว่าไม่มีเจตนาสมคบคิดกันในการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล แม้จะเป็นการดำเนินการในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 4 วัน แต่เป็นการดำเนินการเพื่อให้ทัน เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้ง และถือเป็นไปตามปกติ ไม่พบพิรุธ ที่จะส่อให้เห็นถึงการทุจริตต่อหน้าที่ ที่จะเสนอให้พลตำรวจเอกเพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น

ขณะที่ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ ระบุว่า หากอัยการจะยื่นอุทธรณ์กับวินิจฉัยจะต้องมีหลักฐาน ที่ชัดเจนมากขึ้นและที่สำคัญต้องรอด้วยว่าศาล จะวินิจฉัยรับอุทธรณ์ตามพยานหลักฐานที่ยื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่


คุณอาจสนใจ

Related News