สังคม
'วิศวกร' ยัน! คำนวณได้ รถบรรทุกน้ำหนักเกินหรือไม่ แม้ผู้รับเหมาพิรุธ ขนดินหนีเลี่ยงตรวจสอบ
โดย paweena_c
9 พ.ย. 2566
315 views
วิศวกรไขข้อสงสัย! รถขนดินตกหลุมใจกลางเมือง ยืนยันสามารถคำนวณหาน้ำหนักรถบรรทุกได้ ผู้รับเหมารีบเอารถมาขนดินออก พิรุธต้องการเลี่ยงการตรวจสอบหรือไม่
จากกรณีเกิดเหตุรถบรรทุกดินเหนียว ตกลงหลุมกลางถนนสุขุมวิท เนื่องจากแผ่นปูนบนถนนที่ปิดท่ออุโมงค์สายไฟฟ้า รับน้ำหนักไว้ไม่ไหวและทรุดตัวลง นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตว่า รถคันเกิดเหตุนี้บรรทุกน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือไม่ เนื่องจากหลังเกิดเหตุพบพิรุธหลายประเด็นจากฝั่งผู้รับเหมาขนดิน
หลังเกิดเหตุรถตกหลุมกลางเมือง ส่งผลให้ถนนสายสุขุมวิทการจราจรเป็นอัมพาต ตั้งแต่ช่วงซอยสุขุมวิท 64/1 ขณะที่เจ้าหน้าที่กทม.เร่งเคลียร์พื้นที่ และกำลังนำเครื่องชั่งรถบรรทุกมาชั่งน้ำหนักรถที่เกิดเหตุ ทางผู้รับเหมาเจ้าของรถก็ได้แจ้งว่าจะดำเนินการเอง เพราะเกรงว่าจะเกิดความเสียหาย โดยได้นำรถมาตักขนดินแบ่งออกไป และในจังหวะชุลมุน ก็มีรถคันหนึ่งที่บรรทุกดินไว้จนเต็มคัน ขับแล่นออกไปโดยไม่ได้ชั่งน้ำหนักให้เสร็จสิ้นก่อน อีกทั้งยังนำดินที่ตักไปเทไว้ในไซต์ก่อสร้าง ยิ่งนำมาซึ่งความน่าสงสัย ว่าเป็นการพยายามเลี่ยงการตรวจสอบ เนื่องจากรถคันดังกล่าว บรรทุกน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือไม่
แม้ว่าในขณะนี้ ยังไม่สามารถนำดินออกมาชั่งน้ำหนักเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ ก็มีหลายเสียงออกมาคาดการณ์ว่า รถคันนั้นบรรทุกน้ำหนักเกินมาตรฐาน
ข้อสังเกตจาก สิตา การย์เกรียงไกร อดีตกรรมการศูนย์กลางนิสิตฯ และอดีตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ดูจากภาพ คำนวนแบบหยาบ ๆ ทั้งรถ กับดิน น้ำหนักรวมราว 46.5 ตัน ที่บรรทุกนั้น ดินนะครับ ถพ.ราว 1.8-2 ไม่ใช่นุ่น หรือน้ำ มากกว่า 25 ตัน ไปถึงเท่าตัว แผ่นพื้นฝาบ่อ caisson แผ่นไหน จะรับน้ำหนักบรรทุกขนาดนี้ไหว"
พร้อมมีรูปอธิบายเพิ่มเติมว่า
"ดูจากรถ ปริมาตรบรรทุก กว้างxยาวxสูง = 2.4x5.6x1.6 = 21.5 ลบ.ม. ความถ่วงจำเพาะ ดินหลวม = 1.8 รวมน้ำหนักดิน 38.7 ตัน
เมื่อคำนวณน้ำหนังรถบรรทุก 8-10 ตัน เข้าไปด้วย รวมแล้วน้ำหนักบรรทุกอย่างน้อยอยู่ที่ 46.5 ตัน ซึ่งตามกฎหมาย รถบรรทุก 10 ล้อ น้ำหนักบรรทุกสูงสุดที่อนุญาตให้บรรทุกได้ 25 ตัน ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว รถบรรทุกเกินไปเพียงเท่าตัวเท่านั้น"
อีกหนึ่งมุมมองในการหาคำตอบเรื่องน้ำหนักรถบรรทุก ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ความเห็นว่า ประเด็นการคำนวณจาก ความกว้าง ความยาว และความสูงของปริมาตรของรถบรรทุก ก็สามารถทำได้ แต่เป็นเพียงการคำนวณคร่าว ๆ เพราะดินแต่ละชนิดก็มีความหนาแน่นที่ต่างกัน วิธีการคือต้องชั่งน้ำหนักเท่านั้น เพื่อสามารถคำนวณน้ำหนักลงเพลาด้วยจะได้แม่นยำมากขึ้น
“การหาน้ำหนักลงเพลาก็เพื่อหาคำตอบต่อไปว่า เหตุการณ์รถตกหลุมดังกล่าว เป็นเพราะรถบรรทุกน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือการก่อสร้างของถนนในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้มาตรฐาน”
ทั้งนี้ ดร.เอ้ กล่าวว่า ดูจากเบื้องต้นรถก็น่าจะบรรทุกเกิน แต่จะเกินเท่าไหร่ต้องคำนวณละเอียดอีกครั้งโดยการชั่งน้ำหนัก และยังเสริมว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีองค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ มาดูแลเรื่องความปลอดภัย แก้ปัญหาซ้ำซากนี้เสียที ซึ่งตนก็กำลังเสนอกฏหมายตั้งองค์กรนี้อยู่
ขณะที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตถึงพิรุธในการเลี่ยงการตรวจสอบน้ำหนักดินของผู้รับเหมา โดยพูดถึงประเด็นน้ำหนักรถบรรทุกว่า หากคิดตามหลักวิศวกรรม ความหนาแน่นของดิน 1 คิว หรือ 1 ลบ.ม. หนักอย่างน้อย 1.2 ตัน ซึ่งรถบรรทุกคันหนึ่งสามารถบรรทุกได้ 15-20 คิว
จากการคำนวนเฉพาะดินก็คาดว่าหนักประมาณ 20-30 ตัน เมื่อรวมน้ำหนักตัวรถเข้าไป ก็เป็นไปได้ว่าจะถึง 40 ตัน ซึ่งเกินมาตรฐานกำหนด นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ผู้รับเหมาพยายามถ่ายเอาดินออกไป เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบน้ำหนักเกินหรือไม่ และมีอีกประเด็นที่ต้องให้วิศวกรมาตรวจสอบคือ รถมีการดัดแปลงเพื่อให้รองรับน้ำหนักได้มากขึ้นด้วยหรือไม่
"ถ้าจะชั่งน้ำหนักหาคำตอบจริง ๆ ตอนนี้ก็ยังทำได้ ใช้วิธีชั่งน้ำหนักดินที่เหลืออยู่ที่ท้ายรถ ชั่งน้ำหนักดินที่อยู่บนรถบรรทุกที่สกัดไว้ได้ และชั่งดินที่ผู้รับเหมาเอาไปเทไว้ในไซต์ก่อสร้าง แล้วนำผลมารวมกันก็ยังทำได้เช่นกัน"
เรื่องนี้ดูจะไม่ใช่แค่เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะมีหลายประเด็นเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากเรื่องน้ำหนักรถบรรทุกแล้ว ก็ยังมีเรื่องสติกเกอร์ตัวอักษร B (บี) ในดาวสีเขียว ที่ติดอยู่ด้านหน้ากระจก ที่คาดว่าเป็นสัญลักษณ์การจ่ายส่วย เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกในการเดินรถ
ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเรื่องมาตรฐานการสร้างถนน ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกับการไฟฟ้านครหลวง เพราะเป็นผู้รับผิดชอบในการนำสายไฟฟ้าลงถนน ที่ยังต้องตรวจสอบเพื่อหาข้อสรุปในการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไป