สังคม

รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดแผนงานเด็กปฐมวัย รับเด็กเพิ่ม - เสริมสวัสดิการครู ขอ CSR ทำ ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’

โดย parichat_p

12 ก.ย. 2566

99 views

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. แถลงข่าวเปิดแผนงานเด็กปฐมวัย เล็งรับเด็กเข้าระบบการศึกษาให้มากขึ้นในปีการศึกษา 2567 และเสริมสวัสดิการคุณภาพชีวิตครู ส่วน ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’ ขอเอกชนช่วยเหลือผ่าน CSR


12 กันยายน 2566 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวถึงแผนงานยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัยช่วง 2-6 ปี ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร


นายศานนท์กล่าวว่า ภาพรวมเด็กปฐมวัยในพื้นที่กทม. ซึ่งอายุ 0-6 ปี ตามข้อมูลทะเบียนราษฎรมีอยู่ 259,264 คน แต่กทม. ดูแลได้แค่เพียง 82,990 คน ซึ่งคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนเด็กทั้งหมด การเพิ่มจำนวนให้สามารถดูแลได้มากขึ้น จะขยายการรับเด็กอนุบาลตั้งแต่ 3 ขวบ จากการสำรวจใน 429 โรงเรียนซึ่งสังกัด กทม. มี 189 โรงเรียนที่มีความพร้อมด้านอาคาร จึงสามารถรับเพิ่มได้ในปีการศึกษา 2567 อย่างน้อย 7,000 คน โดยนายศานนท์เชื่อว่าจำนวนเด็กที่จะเข้ามาอาจมากถึง 10,000 หรือ 15,000 คน


นอกจากนี้ กทม. จะเสริมสวัสดิการคุณภาพชีวิตครู ด้วยการก่อสร้างที่พักครูเพิ่มเติม และลดภาระงานครูที่ไม่ใช่การสอน ด้วยการจ้างเหมาเจ้าหน้าที่ธุรการมาทำงานเอกสาร และเพิ่มอัตรากำลังครูให้เหมาะสม รวมถึงกำชับให้เขตจ่ายค่าตอบแทนให้ตรงเวลา


ด้านศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน กทม. จะเพิ่มค่าอาหารเด็กและนม จาก 20 เป็น 32 บาท/คน/วัน และเพิ่มงบค่าวัสดุอุปกรณ์เด็ก จาก 100 เป็น 600 บาท/คน/ปี รวมถึงจะปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้กับอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กด้วย


สำหรับประเด็น ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’ ซึ่งเพิ่งถูกสภากทม. ตัดงบประมาณไป 219 ล้านบาทนั้น นายศานนท์ระบุว่า ต้องปรับปรุงห้องเรียนใน 3 ส่วน คือ

1.ปิดช่องอากาศ เพื่อเปลี่ยนห้องเรียนระบบเปิดให้กลายเป็นระบบปิด

2.ติดแอร์ขนาด 30,000 BTU จำนวน 2 เครื่อง เนื่องจากห้องเรียนมาตรฐานมีขนาด 49-64 ตารางเมตร

3.ติดพัดลมระบายอากาศ


ส่วนเครื่องฟอกอากาศ กทม. ได้รับงบประมาณที่อนุมัติจากสภากทม. มาก่อนหน้านี้แล้ว


นายศานนท์ได้ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นค่าไฟว่า สำนักการศึกษา กทม. ได้คำนวณค่าไฟไว้อย่างละเอียดแล้ว แบ่งเป็น 3 กรณี คือ

1.เปิดช่วงนอนกลางวัน 2 ชม. จะกินไฟเพิ่มขึ้น 12.48 บาท/วัน/เครื่อง หรือ 2,995.2 บาท/ปี/เครื่อง

2.เปิดช่วงวิกฤติฝุ่นครึ่งวัน 4 ชม. จะกินไฟ 24.96 บาท/วัน/เครื่อง หรือ 5,990 บาท/ปี/เครื่อง

3.เปิดช่วงวิกฤติฝุ่นเต็มวัน 8 ชม. จะกินไฟ 49.92 บาท/วัน/เครื่อง หรือ 11,980.8 บาท/ปี/เครื่อง

ซึ่งค่าไฟ กทม. ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล คือ ค่าจัดการเรียนการสอน ประมาณ 640 ล้านบาท ซึ่งกทม. ใช้ไปแค่ประมาณ 172.24 ล้านบาท


ไม่ได้รับงบแล้วทำอย่างไรต่อ?


นายศานนท์ระบุถึงแนวทางการปรับปรุง ‘ห้องเรียนปลอดฝุ่น’ หลังจากถูกตัดงบประมาณ ไว้ 2 แนวทาง คือ

1.Positive Pressure คือ การปิดช่องอากาศ และใช้พัดลมเติมอากาศสะอาด

2.โซลาร์เซลล์ ซึ่งจะร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง เพื่อลดค่าไฟในโรงเรียน ไม่ให้กระทบกับรายจ่ายระยะยาว นอกจากนี้จะร่วมมือกับเอกชนในรูปแบบ CSR เอกชนที่สนใจสนับสนุน สามารถติดต่อ ได้ที่ 02-437-6631

คุณอาจสนใจ