สังคม

“ชีวิตที่ไร้บ้านของผม มันน่ารังเกียจขนาดนั้นเลยหรือ” เสียงสะท้อนจากส่วนหนึ่งในสังคมที่ถูกลืม

โดย paweena_c

11 ก.ย. 2566

1.2K views

“ผมไม่ได้อยากสกปรกหรือตัวเหม็นและก็ไม่ได้อยากเป็นปัญหาสังคม ผมแค่ต้องการเข้าห้องน้ำทำไมต้องไล่ผมด้วย คนอย่างผมไม่มีสิทธิเข้าห้องน้ำเหมือนกับคนอื่นเขาเลยหรือ” เสียงสะท้อนจากกลุ่มคนไร้บ้านที่ถูกสังคมรังเกียจ

ปัญหาคนไร้บ้านในสังคมไทยเป็นสิ่งที่มีมายาวนานไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคก็ตาม ก็ยังไม่สามารถแก้ไขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ ในหลักมนุษยธรรม ‘คนไร้บ้าน’ ก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกับเรา แต่ด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาควรจะได้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการรักษา การได้รับประทานอาหาร หรือแม้กระทั่งการใช้ห้องน้ำสาธารณะ สำหรับเราอาจจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับพวกเขาทำไมถึงเป็นเรื่องที่ยากเย็นขนาดนั้น

ทีมข่าวได้พูดคุยกับ ลุงเต้ย อำนาจ บุลประพันธ์ ผู้ที่เคยใช้ชีวิตข้างถนนมาก่อน ลุงเต้ยเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนเคยทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง พอเจอวิกฤตโควิดทำให้บริษัทเขาจ้างออก “คุณรู้ไหมตั้งแต่มีโรคระบาดโควิดชีวิตผมลำบากมากแค่ไหน” ตอนนั้นมีเงินเก็บอยู่ไม่ถึงหมื่นบาทก็ต้องใช้ระหว่างที่หางาน ระหว่างนั้นก็ไปสมัครเป็น รปภ.ตามบริษัทต่างๆ แต่ด้วยความที่เราอายุมาก เขาก็ถามเราว่า “ลุงผมถามลุงตรงๆ นะ ลุงอายุขนาดนี้ ลุงจะวิ่งจับโจรไหวหรอ” พอเราได้ยินแบบนั้นก็ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมว่าคงไม่ได้งาน ไม่มีงานเข้ามาก็ไม่มีเงินไปจ่ายค่าห้อง สุดท้ายก็ต้องออกมาอยู่ข้างถนน

จำได้ว่าตอนนั้นต้องไปนอนแถวราชดำเนิน เวลานอนก็ต้องปะปนกับผู้คนไร้บ้านหลายรูปแบบ บางครั้งต้องนอนรวมกับคนเสียสติบ้าง หรือคนติดยาบ้าง พอคนเดินผ่านไปผ่านมาเห็นเขาก็รังเกียจ เหมารวมว่าเราเป็นพวกติดยาก็มี

เมื่อถูกถามถึงการใช้ห้องน้ำลุงเต้ยเล่าว่า การจะอาบน้ำสักครั้งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากเพราะแถวราชดำเนิน หรือแถวตรอกสาเก เขาไม่ได้มีห้องน้ำฟรีให้เราใช้ แค่เข้าไปถ่ายหนัก ถ่ายเบา ก็ต้องเสียเงิน 5 บาท อาบน้ำทีนึงก็ต้องเสียเงิน 20 บาท จะไปใช้ห้องน้ำวัดเขาก็ไม่ให้ถึงขึ้นปิดประตูใส่ก็เคยมี  

บางครั้งก็ไปขอใช้ที่ปั๊มก็เจอก็เขาต่อว่า “พวกมึงมาอีกแล้วหรอ มาใช้แล้วก็ชอบทำสกปรก” ผมฟังแล้วก็รู้สึกไม่ดี ก็ต้องไปหาเข้าที่อื่น มีทางเดียวก็คือต้องเสียเงินเข้าห้องน้ำ ระหว่างที่อยู่ข้างถนนลุงเต้ยก็ไปรับจ้างยกของบ้าง กวาดถนนบ้าง ได้เงินวันนึง 50-60 บาท ซึ่งก็ต้องเก็บเงินส่วนนี้ไว้เข้าห้องน้ำ แต่จะให้อาบน้ำหรือเข้าห้องน้ำแบบเสียตังทุกวันก็ไม่ไหวเพราะตัวเองก็ไม่ได้มีรายได้ทุกวัน อย่าว่าแต่ซักผ้าเลย ขนาดอาบน้ำผมก็อาบบ้างไม่อาบบ้าง บางทีปวดท้องหนักก็ต้องแอบไปถ่ายตรงริมคลองหลอดบ้าง เทศกิจเห็นเขาก็มาไล่

“บางคนหนักกว่าผมอีกนะ เขาไม่มีเงินไปเข้าห้องน้ำจะแอบไปถ่ายลงคลองก็โดนไล่ สุดท้ายทนไม่ไหวก็ต้องปล่อยตรงนั้น ใครผ่านไปผ่านมาเขาก็รังเกียจ จนคนแถวนั้นเขาก็ต้องพาไปอาบน้ำหรือเอาน้ำมาฉีดให้ก็มี”

“เรื่องอาหารผมไม่ได้กังวลเพราะทางกทม. เขามีอาหารมาแจกอยู่แล้ว แม้บางวันจะได้กินบ้างไม่ได้กินบ้าง แต่ถ้าให้เลือกความสำคัญของคนไร้บ้าน ผมว่าห้องน้ำจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนไร้บ้าน” ลุงเต้ยกล่าว

พี่ภัศพล คือคนที่ประสบปัญหาเรื่องการใช้ห้องน้ำเหมือนกับลุงเต้ย โดยพี่ภัศพลเล่าให้เราฟังว่า ปกติแล้วนอนอยู่แถวถนนราชดำเนิน เวลากลางคืนต้องเอาขวดที่ใช้แล้วไปกรอกน้ำ เพื่อใช้อาบในตอนเช้า โดยจะไปขออาบตามห้องน้ำสาธารณะของเอกชนตรงแยกบางลำภู บางครั้งก็โดนไล่บ้าง โดนด่าบ้างก็มี เพราะเขามองว่า เราเป็นภาระและสร้างความเดือดร้อนให้เขา ทั้งๆ ที่เราเพียงแค่ขอใช้ห้องน้ำเท่านั้นเอง

ซึ่งพี่ภัศพลจะใช้ขวดน้ำที่เตรียมมาในการอาบน้ำแต่ละครั้ง โดยไม่มีสบู่ใช้ ถ้าวันไหนมีเงินก็จะไปอาบแถวราชดำเนิน ซึ่งก็จะเสียเงิน 20 บาทต่อครั้ง แต่จะให้อาบแบบเสียเงินทุกวันผมก็คงทำไม่ได้ เพราะไม่ได้มีรายได้มากขนาดที่จะเข้าห้องน้ำแบบเสียเงินได้ทุกวัน

ลุงสุนทร เป็นอีกหนึ่งคนไร้บ้านที่ประสบปัญหาเรื่องห้องน้ำ ลุงสุนทรเล่าให้ฟังว่าปกติแล้วจะอาบน้ำที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือบางวันก็ไปที่ราชดำเนิน แต่ส่วนใหญ่จะที่แม่น้ำมากกว่า เพราะคิดว่าน่าจะเป็นสถานที่เดียวที่รู้สึกว่าไม่เป็นภาระต่อคนอื่น แล้วไม่ต้องคอยอาบแบบหลบๆ ซ่อนๆ เนื่องจากเคยไปอาบที่อื่นแล้วโดนไล่ ส่วนการซักผ้าลุงสุนทรก็จะซักในแม่น้ำเหมือนกัน ถึงแม้น้ำจะไม่สะอาด บางครั้งก็มีคราบน้ำมันจากเรือปะปนมาบ้าง หรือมีซากสุนัขตายลอยมาบ้าง ก็ต้องทำใจเพราะถ้าไม่ซักในแม่น้ำ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปซักที่ไหน จะให้ไปหาซักตามปั๊มน้ำมันใครเขาจะไปให้

“เมื่อห้องน้ำเป็นสิ่งที่คนไร้บ้านให้ความสำคัญมากกว่าอาหาร”

ดูเหมือนห้องน้ำจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน เพราะเรื่องอาหารการกินพวกเขาจะได้รับจากกทม. ที่มาแจกเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว

มูลนิธิกระจกเงา ได้เล็งเห็นปัญหาเหล่านี้ จึงได้จัดทำโครงงาน 'สดชื่นสถาน' ซึ่งนำโดย พี่เอ๋ สิทธิพล ชูประจง เป็นหัวหน้าโครงการ

พี่เอ๋ได้เล่าให้ฟังว่า ที่มาของโครงการนี้เริ่มจากอยากหาพื้นที่ไว้เป็นจุดศูนย์รวมของคนไร้บ้าน รวมถึงต้องการให้คนไร้บ้านเหล่านี้ได้กลับเข้ามาในระบบอีกครั้ง ทั้งในเรื่องการรักษา หรือสิทธิที่จะได้รับ โดยเฉพาะระบบสาธารณสุข เพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ เนื่องจากผมทำงานกับคนไร้บ้านมานานเลยเข้าใจถึงปัญหาดีว่าพวกเขาต้องการอะไร “การที่เห็นคนไร้บ้านถอดกางเกงแล้วแอบถ่ายตรงนั้น คุณคิดว่าเขาอยากทำหรอ เขาไม่ได้อยากทำเพียงแต่เขาไม่มีห้องน้ำให้ใช้เท่านั้นเอง”

ผมรู้สึกว่าถ้าเกิดเราสร้างพื้นที่ที่เป็นจุดศูนย์รวมอำนวยความสะดวกให้กับคนไร้บ้าน ก็จะสามารถตอบโจทย์ให้กับพวกเขาได้ ฉะนั้นเราจึงเอาโจทย์การอาบน้ำและการซักผ้าเป็นที่ตั้ง

ช่วงกันยายนปีที่แล้ว เราจึงได้เริ่มทดลองก่อนโดยการเปิดจุดบริการซักผ้าฟรีสำหรับคนไร้บ้านด้วยการสนับสนุนจาก OTTERI ซึ่งมอบรถซักผ้ามาให้ และได้ผลตอบรับที่ดีมาก มีผู้มาใช้บริการมากถึง 30 คิวต่อวัน และเห็นได้ชัดว่าคนซักผ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลง แต่ผมก็คิดต่อว่าเมื่อมีจุดซักผ้าจะทำอย่างไรที่จะสามารถต่อยอดจากจุดเดิมที่เรามีได้ โชคดีที่ทาง OTTERI เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทบุญถาวร หลังจากนั้นก็ได้พูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ที่จะมีห้องน้ำให้คนไร้บ้าน ทางบริษัทบุญถาวร ก็ให้การสนับสนุนด้วยการสร้างห้องน้ำไว้ให้กับเรา ก็ต้องขอขอบคุณมาก

แต่ปัญหาหาคือ ณ เวลานั้นเรายังไม่มีสถานที่ที่เป็นหลักเป็นแหล่ง ช่วงแรกก็มองหาอยู่ว่าจะเอาตรงไหนดี เพราะที่ส่วนใหญ่เป็นของหน่วยงานราชการ จนมาเจอที่นี่ (ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า) เราก็คิดว่าตรงนี้แหละเหมาะสมที่สุด ก็เลยนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อทางกรุงเทพมหานคร ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีทั้งสถานที่และนโยบายการช่วยเหลือต่างๆ จนมาถึงวันนี้มีจุดซักผ้า มีห้องน้ำสะอาดๆ ให้ใช้ รู้สึกดีใจมากที่เราสามารถทำให้ความฝันของพวกเขาเป็นจริงเสียที

“เปิดตัว 'สดชื่นสถาน' อย่างเป็นทางการ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งถนนพระอาทิตย์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเปิดโครงการ 'สดชื่นสถาน' อย่างเป็นทางการว่า คนไร้บ้านถือว่าเป็นประชากรกรุงเทพฯ 100% เหมือนกัน ดังนั้น จะทิ้งให้เขาลำบากไม่ได้ เขาก็เป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นกลุ่มเปราะบางกลุ่มหนึ่ง จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ ก็มีคนที่สบายอยู่แล้วจำนวนพอสมควร เราก็ต้องดูแลคนเปราะบางเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น คนไร้บ้าน คนพิการ เด็กอ่อน เด็กต่างๆ ที่ ขาดทรัพยากร ซึ่งคนไร้บ้านไม่ใช่เรื่องถาวร เป็นแค่จังหวะในชีวิต เรียกว่าโชคร้าย ถ้าโอบกอดเขา ให้โอกาส คิดว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถกลับมายืน และเข้าสู่ภาวะปกติได้ไม่ยาก แต่หากปล่อยให้เขาอยู่แบบไร้บ้านต่อไปจะยิ่งลำบากขึ้น และจะยิ่งออกจากวงจรยาก เพราะฉะนั้นเรื่องง่ายๆ เช่น มีห้องน้ำ ที่ซักผ้า อาหาร สิทธิประโยชน์ การดูแลรักษา การมีบัตรประชาชน สิ่งเหล่านี้จะทำให้หลุดจากวงจรได้ รวมทั้งต้องให้เขามีงานทำ พอมีงาน ก็สามารถไปเช่าบ้าน ไปตั้งชีวิตได้ ซึ่งกรุงเทพมหานครเต็มที่กับเรื่องนี้

ด้านรองผู้ว่าฯ กทม.ศานนท์ หวังสร้างบุญ กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา เห็นแล้วว่าการร่วมมือช่วยกันคือหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงาน ซึ่งกรุงเทพมหานครก็คงไม่ได้มีงานมากเท่ากับภาคเอกชน รวมทั้งเรื่องการสร้างจุดสวัสดิการต่างๆ ให้เกิดขึ้นมากขึ้น ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาร่วมไม้ร่วมมือกัน และขอให้ร่วมมือกันต่อไปในอนาคต

ส่วนพี่เอ๋ สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการสดชื่นสถาน กล่าวว่า  ผมสังเกตุคนไร้บ้านมานานเข้าใจปัญหาดีว่าพวกเขาต้องการอะไร คำตอบที่เราได้คือเรื่องห้องน้ำ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสผมก็ได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับ คุณคิม กวิน นิทัศนจารุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (OTTERI) ทางคุณคิมก็ได้สนับสนุนเราด้วยการมอบรถซักผ้ามาให้ไว้บริการคนไร้บ้าน จากนั้นเราก็เลยมองหาทางเลือกต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้คนไร้บ้านมีห้องน้ำไว้ใช้เพื่อชำระร่างกายให้สะอาด ทางคุณคิมก็เลยแนะนำ คุณตู่ สิทธิศักดิ์ ทยานุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญถาวร คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งทางคุณตู่ก็สนับสนุนในเรื่องการสร้างห้องน้ำ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากกทม.ที่ต้องการผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านอยู่แล้ว จึงทำให้ทุกอย่างครบวงจรพอดี และหวังว่าในอนาคตจะสามารถแก้ไขคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านให้ดีขึ้นต่อไปได้


สำหรับ สดชื่นสถาน เป็นสถานที่สำหรับปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้คนไร้บ้านเข้าถึงความสะอาดและการรักษาสุขอนามัยได้โดยง่าย สามารถเข้าถึงห้องน้ำ ห้องสุขา ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งทาง กทม. ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา และเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน อาทิ OTERI และบุญถาวรในการจัดสร้างห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งแบ่งออกเป็นห้องสุขาแยกชาย-หญิงจำนวนอย่างละ 2 ห้อง และห้องอาบน้ำแยกชาย-หญิงอย่างละ2 ห้อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 8 ห้อง บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งถนนพระอาทิตย์

นอกจากห้องน้ำและเครื่องซักผ้าแล้วภายในงานก็ยังมีกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแจกอาหาร ตัดผม แจกเสื้อผ้าสวยๆ รวมถึงบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพและเปิดรับสมัครงานสำหรับคนไร้บ้าน ภายใต้โครงการ “จ้างวานข้า โดย มูลนิธิกระจกเงา”

“เพราะความชรา ทำให้การซักผ้าเป็นเรื่องที่ยาก”

คุณยายท่านนี้ ซักผ้าด้วยมือมาทั้งชีวิต เธอบอกว่า ยอมนั่งรถเมย์จากบางหว้า เพื่อมาซักผ้าที่สดชื่นสถานแห่งนี้ เพราะด้วยความชราทำให้งานซักผ้าเป็นเรื่องยากกว่าเดิม คุณยายยังบอกอีกว่า “เครื่องซักผ้าที่นี่หอมฟุ้งเลยทีเดียว”

คุณลุงท่านนี้มารับแฮมเบอเกอร์ด้วยความดีใจเพราะก่อนหน้านี้ทานแต่อาหารที่เขาเอามาแจกซึ่งไม่ได้หรูหราอะไรมาก แต่วันนี้ได้มีอาหารดีๆให้ทานเพียบเลย รู้สึกดีใจ “ขอบคุณทุกคนที่ยังนึกถึงคนไร้บ้านอย่างพวกเรา”

“เสริมหล่อซะหน่อย”

ลุงสมชาย เดินทางมาจากสวนลุมพินีด้วยรถเมย์ มาใช้บริการตัดผม คุณลุงบอกช่างว่า “ขอทรงแบบเน้นสั้นๆ ดูแลง่าย เพราะไม่ได้หวังว่าจะดูสวยอะไร เอาเป็นว่าให้มันไม่ร้อนก็ใช้ได้”

นอกจากห้องน้ำและบริการด้านอื่นๆแล้ว สุขภาพก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ภายในกิจกรรมวันนั้นก็จะมีหน่วยงานจากสภากาชาดไทยมาให้คำปรึกษาด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน



“เพราะเราเชื่อว่าการมีสุขภาพดี เริ่มจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด”

นอกจากอาบน้ำให้สดชื่น ซักผ้าให้สะอาดแล้ว ตรงโซนแฟชั่นสัญจรมีเสื้อผ้ากว่า 400 ตัว ให้คนไร้บ้านเลือกหยิบกลับไปตามความชอบ ได้ซักเสื้อผ้าเก่า แถมเสื้อผ้าตัวใหม่ไว้เปลี่ยนใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

“สมัครงานผ่านโครงการจ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา”

คุณป้าสุจิตรเดินทางมาจากดาวคะนองด้วยรถเมย์ คุณป้าเล่าให้ฟังว่า ตั้งใจจะมาสมัครงาน เพราะอยากได้งานมาก เนื่องจากไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน แม้จะอายุมากแล้วก็ตาม เชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านได้แน่นอน

“ชีวิตฟ้าหลังฝนมักสวยงามเสมอ”

แม้โครงการสดชื่นสถานจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านได้ในทันที แต่ก็เชื่อว่าหลังจากนี้ชีวิตของคนไร้บ้านจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พวกเขาจะมีงานทำ มีห้องน้ำให้ใช้ มีเสื้อผ้าที่สะอาดให้ใส่ สุดท้ายใช่ว่าคนไร้บ้านจะกลับมามีที่อยู่อีกครั้งไม่ได้ “ผมโชคดีมากนะที่ได้ห้องเช่า ช่วงนี้พายุเข้าพอดี ไม่งั้นต้องไปหลบหาที่นอนแบบชื้น ๆ นอนเบียดกับคนอื่น โคตรลำบากเลย” ชีวิตประจำวันของลุง เช้าอาบน้ำมาทำงาน เย็นจะกลับมาอาบน้ำ นอนฟังเพลง และค่อยไปซื้อกับข้าว ซื้อน้ำแข็งมากินที่ห้อง มันไม่ได้ใช้ชีวิตแบบนี้มานานมากแล้ว ปัจจุบันลุงเต้ย มีงานทำแล้วหลังจากที่ได้มาสมัครงานที่สดชื่นสถาน และที่สำคัญตอนนี้ลุงเต้ยได้กลับมาใช้ชีวิตที่ดีอีกครั้ง



คุณอาจสนใจ

Related News