สังคม

คนไร้บ้านหน้าห้างดัง ปฏิเสธเข้าศูนย์พักพิง 'วราวุธ' ชี้ถ้าไม่สมัครใจ กฎหมายทำอะไรไม่ได้

โดย nattachat_c

31 ก.ค. 2567

19 views

‘วราวุธ’ เผย ‘นายกฯ’ โทรสั่งแก้ปัญหาด่วนคนไร้บ้าน ยึดป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้าดัง ส่ง จนท.ศรส.ลงพื้นที่ทันที พบ 5 คนเร่ร่อนไม่ประสงค์รับการช่วยเหลือเข้าศูนย์คนไร้ที่พึ่ง บอกเรื่องนี้แก้ยาก ถ้าไม่สมัครใจ กฎหมายทำอะไรไม่ได้ ต้องแก้กฎหมายเพิ่มแรงจูงใจและโทษทางกฎหมาย


จากกรณี สาวอัดคลิปรีวิวป้ายรถเมล์หน้าห้างดังบางกะปิ ทำใหม่ น่าใช้งาน แต่คนไร้บ้านยึดเป็นที่นอนเต็มทุกที่นั่ง จนไม่มีที่นั่งรอรถ หวั่นอันตรายช่วงกลางคืน ชาวบ้านวอนจัดระเบียบ 


วานนี้ (30 ก.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวกลุ่มคนไร้บ้านอาศัยหลับนอนในเวลากลางคืน บริเวณป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ กรุงเทพฯ นั้น กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะว่าเมื่อท่านเห็นข่าวตามที่ปรากฏในสื่อ ได้โทรมาสั่งการตนทันที และต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในเรื่องกรณีคนไร้บ้าน ซึ่งกระทรวง พม. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด


ทั้งนี้ เมื่อกลางดึก คืนวันที่ 29 ก.ค. 67 เวลา 22.30 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ได้ส่งทีมหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ศรส. จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางกะปิ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าว ลงพื้นที่บริเวณป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ กรุงเทพฯ พบกลุ่มคนไร้บ้านในที่สาธารณะ จำนวน 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน ซึ่งมีผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย 2 คน


นายวราวุธ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ ศรส. ได้พยายามพูดคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านในการเข้ารับความช่วยเหลือคุ้มครองในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่ทั้งหมดไม่ประสงค์เข้ารับความช่วยเหลือคุ้มครอง เนื่องจากมีอาชีพรับจ้างทั่วไปในบริเวณดังกล่าว แต่รายได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้ต้องมาอาศัยป้ายรถเมล์เป็นที่หลับนอน และบางรายเพิ่งพ้นโทษ ไม่รู้ว่าจะขอรับความช่วยเหลือได้อย่างไร ในขณะที่ผู้สูงอายุมีปัญหาครอบครัว ลูกหลานไม่สามารถดูแลได้


ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศรส. ได้ย้ำกับกลุ่มคนไร้บ้านว่า หากประสบปัญหา และต้องการความช่วยเหลือ ขอให้โทรมาแจ้งที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน พม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


และหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ ศรส. ร่วมกับสำนักงานเขตบางกะปิ และ สน.ลาดพร้าว จะลงพื้นที่จัดระเบียบคนขอทาน และคนไร้ที่พึ่ง อย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน


นายวราวุธ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลคนไร้ที่พึ่ง ตั้งแต่ปี 2562 มีจำนวน 2,700 กว่าคน แต่พอมาถึงปี 2566 มีจำนวนลดลงเหลือ 2,499 คน และ ปี 2567 มีจำนวนคนไร้ที่พึ่งเฉพาะในกรุงเทพฯ 500 กว่าคน


ซึ่งกรณีคนเร่ร่อน ทางกระทรวง พม. มีสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งอยู่ทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ ให้ความดูแลพี่น้องคนไร้ที่พึ่งประมาณ 4,800 - 5,000 คน พบปัญหาส่วนใหญ่ของคนไร้ที่พึ่ง เริ่มจากอาการป่วยทางจิต จากนั้น เมื่อมีอาการทางจิตมากขึ้น หนักขึ้น แล้วจะไม่ยอมกลับเข้าบ้านในที่สุด ดังนั้น ส่วนใหญ่เมื่อเราเจอคนเร่ร่อน จะต้องเร่งประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. / กรุงเทพมหานคร / กระทรวงสาธารณสุข เพื่อที่จะเชิญตัวเข้าสู่กระบวนการบำบัดทางด้านจิตใจ


ถึงแม้ว่าทางเจ้าหน้าที่ พม. จะทำงานกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดอย่างเช่นเมื่อวานนี้ พอตนทราบข่าวคนไร้บ้าน ได้สั่งการให้รีบออกดำเนินการทันที ซึ่งต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ พม.


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเจ้าตัวปฏิเสธในการเข้ารับการคุ้มครอง แต่กฎหมายในปัจจุบันที่มีใช้อยู่ในขณะนี้ ต้องมีมาตรการจูงใจให้มากขึ้น รวมทั้งต้องมีความเข้มงวด หรือเพิ่มความเข้มในบทลงโทษให้มากขึ้น เพราะเมื่อเจ้าตัวปฏิเสธในการเข้ารับการคุ้มครอง หรือว่าเข้ารับการฝึกวิชาชีพต่าง ๆ โดยกฎหมายแล้ว ทางกระทรวง พม. ไม่สามารถที่จะไปจับกุม หรือนำตัวออกมาจากสถานที่ได้ ถ้าหากทำเช่นนั้น จะไปเข้าข่ายกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายอุ้มหาย ซึ่งอาจจะเกิดเป็นประเด็นอื่นตามมา


แต่ถ้าหากไปดำเนินการพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจจะใช้กฎหมายอื่นได้สำหรับการดำเนินการกับคนไร้ที่พึ่ง หรือว่าการนอนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ อาจเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายกัดขวางทางเท้าหรือไม่


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การลงโทษเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าชั่วคราว เมื่อคนไร้ที่พึ่งไม่ยอมเข้าสู่ระบบ ซึ่งต้องใช้ความสมัครใจ ถ้าหากว่าเจ้าตัวไม่สมัครใจ จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ หรืออาการป่วยทางจิต


ทั้งนี้ ตามกฎหมาย หรือว่าตามอำนาจ ที่กระทรวง พม. สามารถดำเนินการได้นั้นเราทำได้เพียงแค่เชิญตัวเข้าสู่ระบบ แล้วมาพัฒนาทักษะฝึกอาชีพ และมีโครงการห้องเช่าคนละครึ่ง พร้อมที่จะหางานให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน แต่ด้วยสถานการณ์ของประเทศไทยที่พื้นฐานของสังคมไทยที่เป็นสังคมเอื้ออาทร คนไทยนั้นมีจิตกุศล เมื่อเห็นคนลำบากก็จะช่วยเหลือ ดังนั้น กลุ่มคนไร้บ้านรวมถึงกลุ่มคนขอทาน เมื่อเห็นคนใจบุญเช่นนี้ ก็จะใช้โอกาสนี้ สังเกตได้ว่าทุกครั้งในกรุงเทพฯ เวลามีการแจกของ เราจะเห็นคนเข้ามาเยอะมาก บางครั้งเอาของแจกไปขายต่อ อาจเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันพอสมควร ว่าเป็นการสนับสนุนให้มีคนไร้บ้าน คนขอทานหรือไม่


สำหรับกรณีเรื่องขอทาน ต้องขออนุญาตเรียนย้ำว่า ที่ผ่านมา เราขอประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนไปอย่างพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่งว่า การขอทานผิดกฎหมาย ดังนั้น สาเหตุเดียวที่ยังมีการขอทานคือว่า ขอทานยังได้เงิน รายได้จากพี่น้องประชาชน ถ้าหากว่าไม่มีการให้เงินขอทานซึ่งวันนี้ ขอทานมาหลากรูปแบบ อาทิ การนำสัตว์เลี้ยง เด็กเล็ก คนพิการ มาขอทาน ซึ่งบางครั้งคนพิการ หรือเด็กเล็ก นั้น เป็นผลพวงมาจากการค้ามนุษย์


ดังนั้น ต้องขอความกรุณาพี่น้องประชาชนหยุดให้ทานกับขอทาน และถ้าหากเจอคนไร้ที่พึ่งที่ใดหรือว่าคนเร่ร่อนที่ใด ขอให้แจ้งเข้ามาได้ที่ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผ่าน สายด่วน พม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง


และขณะนี้ กระทรวง พม. กำลังหารือเกี่ยวกับเรื่องมาตรการทางกฎหมายสนับสนุนให้มีการช่วยเหลือคนไร้บ้านมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ให้มีบทลงโทษที่เข้มงวดมากขึ้นด้วย

-------------

ทั้งนี้ นายวราวุธ ยังได้ทวีตเพื่อชี้แจงเพิ่มเติม โดยระบุว่า “จากกรณีที่สื่อโซเชียลได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ซึ่งใช้พื้นที่หน้าห้างเดอะมอลล์บางกะปิเพื่อหลับนอนเป็นจำนวนมาก เมื่อวานนี้ (29 ก.ค. 67) เวลา 22.30 น. หน่วยเคลื่อนที่เร็ว ศรส. โดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางกะปิ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าว ได้ลงพื้นที่แล้วครับ


เราพบคนไร้บ้านจำนวน 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน ทั้ง 5 คน ไม่ประสงค์เข้ารับการคุ้มครอง สาเหตุการมาหลับนอนตรงนี้ เนื่องจากรายได้จากการรับจ้างทั่วไปไม่เพียงพอ


ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 2 คนซึ่งมีปัญหาครอบครัว ลูกหลานไม่สามารถดูแลได้ รวมทั้งเป็นผู้พ้นโทษที่ไม่รู้จะขอรับการช่วยเหลือทางไหน เจ้าหน้าที่จึงได้แนะนำบริการ และช่องทางการช่วยเหลือ ผ่านสายด่วน 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


และแผนการดำเนินการต่อจากนี้ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานเขตบางกะปิ และสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว จะติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งต่อคนไร้บ้าน และประชาชนทั่วไป


เราตระหนักดีว่า กรณีคนไร้บ้าน และปัญหาผู้สูงอายุขาดการดูแล เป็นปัญหาที่อาจไม่สามารถบรรเทาได้โดยง่าย และรวดเร็ว ด้วยสาเหตุจากหลายปัจจัยรอบด้าน แต่กระทรวง พม. และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะพยายามดูแลสอดส่อง และคลี่คลายปัญหาอย่างเต็มที่ ขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตาอีกครั้งมา ณ ที่นี้ครับ”

-------------



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/cojwzdZPwhs

คุณอาจสนใจ

Related News