สังคม

หมอเตือน! อย่าหักดิบงดเหล้าเอง ควรหยุดภายใต้การดูแลของแพทย์

โดย chiwatthanai_t

30 ก.ค. 2566

247 views

วันที่ 30 กรกฎาคม 2566 กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เชิญชวนประชาชนลดการดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันเข้าพรรษา เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง โดย นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุรา คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้สมองเสื่อม ความคิด ความจำบกพร่อง การตัดสินใจและการใช้เหตุผลผิดพลาด ผลต่อตับในระยะแรกจะเกิดไขมันสะสมในตับ ต่อมาจะเกิดภาวะตับอักเสบ และภาวะตับแข็ง ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้ามีเลือดออกมากอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้


พิษของสุราแบบเฉียบพลัน ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย พิษของสุราแบบเรื้อรัง ผู้ดื่มจะหมกมุ่นในการหาสุรามาดื่มตลอดเวลา ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ขาดความรับผิดชอบ เสียสุขภาพและเสียสัมพันธภาพกับคนในครอบครัวรวมถึงสูญเสียหน้าที่การทำงาน การดื่มสุรานอกจากส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มเองแล้วยังส่งผลกระทบต่อสังคมในอีกหลายด้าน


นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาประจำปี 2566 นี้ ขอเชิญชวนประชาชนคนไทย ลด ละ เลิก ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขภาพที่ดี ทั้งนี้ผู้ดื่มไม่ควรหยุดดื่มเองทันที ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายได้ ควรหยุดดื่มภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือ เข้ารับการบำบัดรักษาอาการติดสุราได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง


การบำบัดรักษาอาการติดสุรา มี 2 รูปแบบ คือ แบบผู้ป่วยนอกและแบบผู้ป่วยใน การบำบัดแบบผู้ป่วยนอกเหมาะสำหรับผู้ติดสุราไม่รุนแรงมาก สามารถกินยาเองและควบคุมการหยุดดื่มได้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางกายหรือทางจิตที่รุนแรง หลังจากบำบัดอาการถอนพิษสุราแล้ว จะได้รับการนัดเข้าร่วมกิจกรรมบำบัด เพื่อส่งเสริมการหยุดดื่มอย่างต่อเนื่อง สำหรับการบำบัดแบบผู้ป่วยใน เหมาะสำหรับผู้ติดสุราที่ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ แพทย์จะบำบัดรักษาอาการถอนพิษสุราและภาวะแทรกซ้อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพ

คุณอาจสนใจ

Related News