สังคม

ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 'ธาริต' 2 ปี ไม่รอลงอาญา

โดย panisa_p

10 ก.ค. 2566

2.7K views

วันนี้ (10 ก.ค. 66) ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา นายธาริต อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในคดี ถูกนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ฟ้องกล่าวหาว่าสั่งฆ่าประชาชน เหตุการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 2553 หลังธาริต ยื่นคำร้องต่อศาล 3 ข้อ


นาย ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ยื่นฟ้องพร้อมพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวม 4 คน ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกลั่นแกล้งผู้อื่นให้ได้รับโทษทางอาญา จากการกล่าวหาว่าใช้อาวุธสั่งฆ่าประชาชนจากการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 หลังก่อนหน้านี้นายธาริตได้เลื่อนฟังคำพิพากษามาแล้ว 9 ครั้ง


นายธาริต เปิดเผยว่าได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา 3 ฉบับ ฉบับแรกคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาชุดเดิม เพราะมีหลักฐานว่านายสุเทพมีความเกี่ยวข้องกับอดีตประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาอีกจำนวนหนึ่ง ฉบับที่สองคือขอให้ศาลฎีกา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความการฟ้องตามกฎหมายมาตรา 157 และ 200 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคำร้องที่สามคือเปลี่ยนคำให้การเป็นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา


ต่อมาเวลา 17.30 น. ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำร้องที่นายธาริต จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลฎีการวม 5 ฉบับ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งหมด


ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานมีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยจำเลยที่1 ทราบอยู่แล้วว่า ตนเองและหน่วยงานไม่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนบุคคลทั้ง 2 ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ที่มีอำนาจหน้าที่สรุปสำนวนเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นข้อพิรุธ


และในที่ประชุมเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2555 จำเลยที่ 1 ได้แสดงความคิดเห็นชี้นำให้พนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนหาหลักฐาน และรวบรัดเชิญโจทก์ทั้งสองมารับทราบข้อกล่าวหา อีกทั้งในขณะนั้นเป็นช่วงรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นน้องสาวของนายทักษิณ ชินวัตรซึ่งอยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองกับโจทก์ทั้งสอง ฟังได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญา เพื่อสนองความต้องต้องการของรัฐบาลใหม่ หลังจากนั้นนายธาริตได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีก 1 ปี


พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องจริง


มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2-4 กระทำผิดตามฟ้องด้วยหรือไม่ เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่1 และ 2 ยังไม่แน่ชัดและไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 2-4 ได้รับประโยชน์อย่างไรจากการแจ้งข้อกล่าวหาต่อโจทก์ทั้งสอง แต่ที่ทำสำนวนมาจากการรับคดีและการชี้นำของจำเลยที่1 ซึ่งจำเลยที่2-4 อาจทำคดีโดยสุจริต ยังมีข้อสงสัยในข้อกล่าวหาในคำฟ้อง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2-4


การลงโทษตามที่ศาลอุธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ให้จำคุกจำเลยที่1 ตามคำพิพากษาศาลอุธรณ์ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2-4 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างฟังคำพิพากษานายธาริต มีสีหน้าเรียบเฉย ไม่แสดงอาการแต่อย่างใด ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เดินมาควบคุมต่อนายธาริต เพื่อนำตัวไปควบคุมไว่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

คุณอาจสนใจ