สังคม

ตื่นตา! 'พะยูน' โผล่ว่ายน้ำสบายใจ ในทะเลตรัง ขณะจนท.วางทุ่นลดความเสี่ยงสูญพันธุ์

โดย nut_p

18 มิ.ย. 2566

120 views

เมืองหลวงพะยูน วางแนวทุ่นชะลอความเร็วเรือ กลางทะเลตรัง เพื่ออนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของพะยูน หวังเป็นเซฟโซน ลดการรบกวน และอันตรายต่อพะยูน ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ขณะเดียวกันได้พบพะยูนโผล่เล่นน้ำระหว่างวางแนวทุ่นอีกด้วย ส่วนรายงานพบพะยูนไม่น้อยกว่า 180 ตัวในปีนี้ ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย



วันนี้ 18 มิ.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณบ้านเกาะมุกด์ หมู่ 2 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 นายอำเภอกันตัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านบ้านเกาะมุกด์ ให้การต้อนรับ นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะ ฯ ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวางแนวทุ่นชะลอความเร็วเรือ เพื่ออนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม โดยมีนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง กล่าวต้อนรับ



ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน จ.ตรัง โดยเฉพาะเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายประมงพื้นบ้าน มูลนิธิอันดามัน และพี่น้องชาวเกาะมุกได้ตระหนักถึงความสำคัญ มีความตื่นตัวและมุ่งมั่นในการผลักดันกิจกรรมดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางระบบนิเวศของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี อันเป็นการการขับเคลื่อน จ.ตรังสู่ “เมืองแห่งคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” และส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวทางทะเลของ จ.ตรังอีกด้วย



จากการสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่จังหวัดตรัง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ปีนี้พบพะยูนไม่น้อยกว่า 180 ตัว มากที่สุดในประเทศไทย ทำให้ จ.ตรังได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของพะยูน ซึ่งที่ผ่านมา กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเลและพะยูน เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ดังนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช



จึงได้จัดกิจกรรมวางแนวทุ่นชะลอความเร็วเรือ เพื่ออนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ขณะเดียวกัน จ.ตรัง ได้ขับเคลื่อนการทำแผนการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล จ.ตรัง และผลักดันให้เกิดแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ นอกจากนี้ จ.ตรังยังได้มีการวางทุ่นแสดงแนวเขตอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล เพื่อแสดงขอบเขตการกำหนดมาตรการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพะยูนทั้งแหล่งหากินและแหล่งอาศัย ลดการรบกวน ลดปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับพะยูน ซึ่งมีที่มาจากการจัดทำกติการ่วมกันของชุมชนในการเข้าไปใช้ประโยชน์ การทำประมงในพื้นที่ ด้วยเครื่องมือที่ไม่เป็นอันตรายต่อพะยูน การกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการเดินเรือ และการดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวที่เหมาะสมด้วย



สำหรับบริเวณบ้านเกาะมุก นอกจากเป็นเกาะที่สวยงาม เป็นที่ตั้งของถ้ำมรกตแล้ว ยังเป็นแหล่งการกระจายของหญ้าทะเลผืนใหญ่ของ จ.ตรังอีกแหล่งหนึ่ง ปัจจุบันเกาะมุกยังจัดเป็นจุดชมพะยูนที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอีก สามารถพบเห็นพะยูนได้อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในทะเลตรังจะมุ่งหน้าแวะชมพะยูนบริเวณสะพานเกาะมุกเป็นจำนวนมาก



ดังนั้น อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เล็งเห็นความสำคัญจึงได้เสนอโครงการวางแนวทุ่นชะลอความเร็วเรือ บริเวณบ้านเกาะมุก เพื่ออนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล จำนวนทุ่นชะลอความเร็วเรือ 18 ทุ่น ความยาวตลอดแนวทุ่น ประมาณ 4,749.44 เมตร ครอบคลุมพื้นที่หญ้าทะเล 1,787.96 ไร่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ปกป้องพะยูนและแหล่งหากินของพะยูน ควบคุมการเข้าออกและจัดระเบียบของเรือในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ทั้งจากการเดินเรือของผู้ประกอบการการท่องเที่ยว การทำประมงพื้นบ้าน รวมถึงการเข้าออกของเรือชาวเกาะมุกเอง



ทั้งนี้ชาวประมงพื้นบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต้องร่วมมือกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว หรือการทำประมง หากไม่มีความร่วมมือกันก็จะทำให้ทรัพยากรหมดไปอย่างรวดเร็ว การวางแนวทุ่นชะลอความเร็วเรือ เพื่ออนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ของจังหวัดตรังนั้น และต้องการให้เรือประมงหรือเรือท่องเที่ยวไม่รบกวนการดำเนินชีวิตของพะยูน และป้องกันใบพัดเรือที่อาจจะทำอันตรายกับพะยูน ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

คุณอาจสนใจ

Related News