สังคม
แถลงบ่าย 3 นี้! สารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’ หายจากโรงไฟฟ้าฯ ปราจีนบุรี
โดย chutikan_o
14 มี.ค. 2566
748 views
ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี พร้อมเลขาฯ สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ เตรียมแถลงบ่าย 3 นี้ กรณีซีเซียม 137 สารอันตราย หายจากอุปกรณ์ดักจับฝุ่นในโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำในนิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เกรงจะเกิดอันตราย
วันนี้ (14 มี.ค. 2566) มีรายงานว่า ในเวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุม 402 ที่ศาลากลาง จ.ปราจีนบุรี จะมีแถลงการ เรื่องสารซีเซียม 137 (Cs-137) หายจากโรงไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ บริเวณนิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เบื้องต้นทราบว่า ซีเซียม 137 ที่หายไป ใช้กับเครื่องเลเซอร์ เพื่อใช้จับฝุ่นขี้เถ้า ในโรงงานผลิตไฟฟ้าไอน้ำ ติดตั้งใช้งานมานาน และหลุดหล่นลงมาจากจุดติดตั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า คนที่พบเห็นอาจไม่รู้ว่ามันคืออะไรจึงเก็บไป โดยยังไม่รู้จุดประสงค์
ทั้งนี้ สารนี้ ทางการแพทย์ยืนยันว่า มีอันตรายต่อสุขภาพ ล่าสุดเลขาฯ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ลงพื้นที่พร้อมเจ้าหน้าที่คณะใหญ่ เพื่อติดตามเรื่องนี้ด้วยตัวเอง และจะแถลงร่วมกับ ผู้ว่าฯ ตอน 15.00 น.
สำหรับอุปกรณ์นี้ ติดตั้งตั้งแต่ ปี 2534 รวมทั้งหมด 10 เครื่อง แต่เพิ่งทราบว่า หายไปเมื่อ 23 ก.พ. 2566 ตัวที่หายเป็นท่อกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว โดยมีข้อกังวลว่า หากเอาไปขาย หรือ ขโมยไปแลัวเอาไปกำจัดไม่ถูกวิธี จะมีผลกระทบด้านสุขภาพของคนเอาไป หรือ คนที่เก็บไปได้
ข้อมูลทางวิชาการ ซีเซียม-137 (Cs-137) เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชันที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30.17 ปี ซีเซียม-137 ปริมาณ 1 กรัม มีกัมมันตภาพรังสี 3.215 เทราเบคเคอเรล (terabecquerel, TBq) โฟตอนจากไอโซโทปรังสีแบเรียม-137m มีพลังงาน 662 keV
สามารถใช้ประโยชน์ในการฉายรังสีอาหาร ใช้ในด้านรังสีรักษา สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง มีการใช้ซีเซียม-137 สำหรับการถ่ายภาพด้วยรังสีทางอุตสาหกรรมไม่มากนัก เนื่องจากเป็นวัสดุที่ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี เกลือของซีเซียมละลายน้ำได้ดีทำให้ควบคุมความปลอดภัยได้ยาก จึงมีการใช้โคบอลต์-60 (Cobalt-60) ในงานด้านการถ่ายภาพด้วยรังสีมากกว่า นอกจากจะเป็นโลหะที่ไวต่อปฏิกิริยาน้อยกว่าแล้ว ยังให้รังสีแกมมาพลังงานสูงกว่า การนำมาใช้งาน เราจะพบซีเซียม-137 ได้ในอุปกรณ์วัดความชื้น เครื่องวัดอัตราการไหลหรืออุปกรณ์ตรวจวัดชนิดอื่นที่ใช้หลักการทำงานคล้ายกัน