สังคม

ย้อนรอย 'หวยบนดิน'

โดย nattachat_c

8 มิ.ย. 2565

420 views

ปัญหาการขายสลากเกินราคา ปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งรัฐบาลก็ถูกเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา


ซึ่งงวดที่ผ่านมาก็มีการการจำหน่าย ‘สลากดิจิทัล’ ผ่านทางแอปฯ ‘เป๋าตัง’ ในราคา 80 บาท ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัล จำนวน 4,802 ราย มีสลากรวมกันถึง 5,173,500 ล้านฉบับ ซึ่งจะเป็นสลากงวดที่ 16 มิ.ย. 65 และเปิดจำหน่ายวันแรก วันที่ 2 มิ.ย. 65 และจำหน่ายหมดเกลี้ยงในเวลา 5 วัน


จนล่าสุด  ‘คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาการขายสลากเกินราคา’  ที่มี นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็ได้เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ จะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาจำหน่าย คือ

  • สลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก ซึ่งจะคล้ายกันกับสลากปัจจุบัน 
  • สลากตัวเลข 3 หลัก ซึ่งจะคล้ายกันกับหวยใต้ดิน 2 ตัว 3 ตัว 


การจำหน่ายสลาก 2 ตัว 3 ตัว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นแล้วในชื่อ “หวยบนดิน”  เรามาย้อนรอยดูว่า  ครั้งนั้นเกิดอะไรขึ้น และทำไมถึงหายไป และคนที่ทำครั้งนั้นต้องเจอกับอะไรบ้าง


‘สลากเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว’ เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 -2549 ภายใต้รัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร”


โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2546 มีมติให้สำนักงานสลากฯ ดำเนินการจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว เพิ่มเติมจากการจำหน่ายสลากกินเแบ่ง(ลอตเตอรี่) ตามเดิมอยู่แล้ว


โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำ ‘หวยใต้ดิน’ ซึ่งผิดกฎหมาย มาผ่านกระบวนการทางกฎหมายและปรับปรุงให้เป็นของรัฐบาล อีกทั้งยังกวาดล้างเจ้ามือหวยใต้ดินและนำรายได้ไปสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ


และเนื่องจาก ‘หวยบนดิน’ นี้ ถูกใจคอหวยอย่างมาก ทำให้จำนวนเงินการซื้อสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว วิ่งแซงหน้าเงินค่าจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ภายในปีแรกที่เปิดขาย และเพิ่มขึ้นอย่างพุ่งพรวดในปีต่อๆ มา โดยระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2546 - 16 พฤศจิกายน 2549 มียอดขายถึง 135,000 ล้านบาท


แต่ด้วยเหตุผลที่มีผู้ร้องว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 เพราะหวยบนดิน มีการดำเนินการเข้าข่ายสลากกินรวบ (สลากชนิดที่ขายเป็นการเสี่ยงโชค โดยผู้ซื้อกรอกเลขที่ต้องการลงบนสลาก) ไม่ใช่สลากกินแบ่ง (มีเลขพิมพ์ลงไปแล้ว) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกสลากกินรวบ จึงทำให้นโยบาย ‘สลากเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว’ ต้องยุติลง


โดย ในวันที่ 6 มิ.ย.62 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษา ในคดีดังกล่าว โดยบอกว่า การออกสลากหวยบนดินโดยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกองสลาก และไม่แก้ไขข้อกฎหมายก่อน เข้าลักษณะเป็นเจ้ามือรับกินใช้ ซึ่งมีเงื่อนไขเดียวกับหวยใต้ดิน เป็นการพนันขันต่อให้มัวเมาประชาชน ทั้งการนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีก็เข้าสู่วาระจรเป็นเหตุให้ครม.อนุมัติโดยเข้าใจว่าเป็นการกระทำโดยชอบตามกฎหมาย


แม้การออกสลากหวยบนดินจะมีรายได้ 123,339,890,730 บาท แต่มีผลขาดทุน 7 งวด จำนวน 1,668,192,060 บาท


นอกจากนี้ ยังปรากฎข้อเท็จจริงว่ากองสลากยังได้เบิกงานเกินบัญชีจากธนาคารออมสินประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินสำรอง แสดงให้เห็นว่ารู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยง แต่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงเหมือนขั้นตอนการออกสลากอย่างที่เคยเป็นมา อีกทั้งเงินรายได้ไม่นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่นำไปออกระเบียบจัดสรรเอง


จึงพิพากษาให้จำคุก “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นเวลา 2 ปี และให้ออกหมายจับมาปฏิบัติตามคำพิพากษา


อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ “ทักษิณ” ที่ต้องโทษ เพราะคนที่เกี่ยวข้องต่างก็โดนคดีทั้งสิ้น และมีคำพิพากษาไม่ว่าจะเป็น "นายวราเทพ รัตนากร" รมช.คลัง  ในขณะนั้นให้จำคุก 2 ปีปรับ 20,000 บาท 


"นายสมใจนึก เองตระกูล" ปลัดกระทรวงการคลังและประธานบอร์ดกองสลากฯ จำคุก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท


"นายชัยวัฒน์ พสกภักดี" ผอ.กองสลาก จำคุก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท


แต่จำเลยทั้งสามไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ประกอบกับพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไว้คนละ 2 ปี


เมื่อมาย้อนดูจะเห็นว่าแนวทางการออก “หวยบนดิน” อาจจะไม่ราบรื่น และหากจะทำจริงจะมีการอุดช่องว่าง เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำรอยอย่างไร
00

คุณอาจสนใจ

Related News