สังคม

3 นายก ส.อสังหาฯ วิเคราะห์ "สั่งปิดแคมป์" แนะรัฐเร่งตรวจ-ฉีดวัคซีน ดีกว่าจ่ายเยียวยา

โดย pattraporn_a

28 มิ.ย. 2564

191 views

เปิดมุมมอง 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ คือ สมาคมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย ต่อคำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง เป็นเวลา 1 เดือน




ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย พูดถึงคำสั่งดังกล่าวว่า นับตั้งแต่เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันขึ้นมาหลัก 4 พัน ก็หวั่นใจอยู่แล้วว่าจะล็อกดาวน์ แต่ไม่คิดว่าจะมาลงที่งานก่อสร้าง จึงยังไม่รู้ว่าต้องปรับตัวรองรับวิกฤตอย่างไร เนื่องจากผลกระทบต่ออาคารชุดอาคารสูงคงมหาศาล ปัญหาที่เกิดขึ้นคืองานที่ต้องหยุดก่อสร้างทันที


โดย ดร.อาภา คิดว่าการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ รัฐมุ่งเน้นมาที่กลุ่มแรงงานก่อสร้าง ปิดกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เมื่อกล่าวโทษว่ากลุ่มนี้เป็นต้นเหตุของปัญหาการระบาด ก็สมควรที่รัฐจะต้องทำ 2 อย่าง คือ 1.เข้ามาตรวจคัดกรอง คนไม่ติดเชื้อจะได้ปลอดภัย ไม่เป็นภาระต้องระวัง และ 2.มุ่งเน้นวัคซีนมาที่กลุ่มนี้ ทำทั้งสองอย่างคู่ขนานไปกับการสั่งปิด ถือเป็นการดับไฟที่ต้นเพลิง


"เร่งตรวจ เร่งฉีด จัดสรรวัคซีนมาให้กับกลุ่มที่ถูกชี้หน้าว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นเรื่องที่สมควรทำทันที"


ส่วนในเรื่องผลกระทบต่อผู้ประกอบการนั้น เมื่อถูกสั่งปิด ทำอะไรไม่ได้ ธุรกิจที่กำลังก่อสร้าง คงต้องได้รับผลกระทบอย่างแรงไปเอง ผู้ประกอบการต้องเตรียม Cash Flow เพราะหากไม่มีเงินชำระหนี้ ปัญหาจะลุกลามมายังผู้ประกอบการทันที ทั้งนี้ อยากร้องขอรัฐช่วยผู้ประกอบการ หากยังไม่ให้เปิดไซต์งานก่อสร้าง ก็ขอให้อนุญาติซ่อมเก็บงานเพิ่มเติมเล็กๆน้อยๆ คนงานที่ทำประมาณ 2-3 คน เพื่อให้ยังดำเนินธุรกิจไปได้ในส่วนของการโอน


ดร.อาภา ยังได้เปิดเผยมูลค่าความเสียหายจากคำสั่งปิดแคมป์ โดยอิงจากข้อมูลอสังหาฯ ทั้งแนวราบและแนวสูง ซึ่งในแต่ละปีมีรายได้ประมาณ 9 แสนล้าน ตกเดือนละ 7-8 หมื่นล้าน ไม่รวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น บริษัทวัสดุ เป็นต้น


ซึ่งหากเทียบวิกฤตเหมือนร้านอาหาร ส่วนตัว ดร.อาภา เชื่อว่าเป็นไปได้ว่าจะเกิดการปิดแล้วปิดอีกเหมือนกัน เพราะเมื่อรัฐทนเสียงเรียกร้องไม่ได้ก็จะมีคำสั่งให้เปิดแคมป์ได้ แต่แล้วสักพักเมื่อมีการระบาดก็ต้องสั่งปิดอีก


และทิ้งท้ายอยากเสนอภาครัฐว่า มาตรการที่ประกาศไปแล้ว แบบครอบคลุมไปหมด สามารถปรับให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ได้ เพราะไม่ใช่ทุกไซต์ก่อสร้างที่จะพบการติดเชื้อ




ทางด้าน คุณพรนริศ ชวน​ไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาฯ ระบุว่า ต้องยอมรับความจริงว่าแคมป์ก่อสร้างประเทศเรา ไม่ได้มาตรฐานแบบเมืองนอก ต้องปรับมาตรฐานทั้งเชิงอนามัย และเชิงพฤติกรรมของคนในแคมป์ด้วย เพราะหลายๆ อย่างเป็นจุดเสี่ยงในการติดเชื้อ อีกทั้งคนงานส่วนมากไม่มีความรอบรู้ทางด้านอนามัย หรือการควบคุมโรค จึงควรให้ความรู้ด้านสาธารณสุข โดยมีทั้งภาษาไทย, เขมร, อังกฤษ และที่สำคัญคือควรเข้าตรวจคัดกรองอย่างเร็ว


ส่วนประเด็นว่าทำไมไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดในแคมป์คนงานได้นั้น คุณพรนริศ ตอบว่า รัฐบาลยังควบคุมไม่ได้เลย แคมป์ก็เป็นส่วนหนึ่งในประเทศไทย มันก็ติดกันได้


เชื่อว่าถ้าเอาไม่อยู่ คงไม่ใช่ 1 เดือน แต่ไปเรื่อยๆ เหมือนร้านอาหาร กอดคอกันตายทั้งอุตสาหกรรม และถ้ายังปิดๆเปิดๆจนถึงปลายปี หนีไม่พ้นภาวะขาลงอย่างรุนแรง


ทั้งนี้ คิดว่ารัฐควรมีมาตรการในแนวทางเดียวกันก่อน เนื่องจากปัจจุบันแต่ละหน่วยงานบางครั้งยังให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ซึ่งทาง ส.อสังหาฯ จะมีการยื่นหนังสือถึงทางภาครัฐ โดยได้พิมพ์ออกมาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังขอไม่เปิดเผยถึงเนื้อหาข้างใน


คุณพรนริศ ยังตั้งคำถามด้วยว่า "มีข่าวว่าจะสร้าง รพ.สนามเพิ่ม แล้วผู้รับเหมาที่ไปสร้างนั้นไม่ผิดกฎหมายเหรอ?"




ขณะที่ คุณวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เชื่อว่าผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมีมาตรการที่ครอบคลุมหมดในทุกระดับ สิ่งที่ตามมาคือความเสียหาย และสิ่งที่ภาครัฐต้องชดเชยเยอะมาก จึงคิดว่าหากมาปรับที่ต้นเหตุ ความเสียหายปลายเหตุก็จะลดลง


โดยยกเป็นเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายคนงาน ซึ่งห่วงว่าจะเป็นการแพร่ระบาดมากขึ้น ดังนั้นหากเปลี่ยนเป็นแค่ควบคุมไม่ให้ออกมานอกไซต์ แบบ 'บับเบิ้ลแอนด์ซีล' (Bubble and Seal) แต่ไม่จำเป็นต้องหยุดกิจกรรมการก่อสร้าง ก็จะสามารถดำเนินงานไปได้ตามปกติ ดีกว่าเอาเงินไปเยียวยาที่ปลายเหตุ


ส่วนกรณีที่แคมป์กับไซต์อยู่คนละที่ ก็แนะให้มีการเข้าตรวจเชิงรุกก่อน ถ้าไม่พบผู้ป่วย อาจผ่อนปรนให้ทำกิจกรรมก่อสร้างได้ โดยมีรถรับส่งและมีการควบคุมตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด


และเมื่อถามถึงประเด็นผู้ประกอบการควรปรับตัวรับมืออย่างไร คุณวสันต์ กล่าวว่า ภายใต้มาตรการปัจจุบันไม่สามารถทำอะไรได้เลย ผลกระทบจะทวีคูนไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงมองว่าหากจุดไหนซีลได้ และทำงานได้ตามเดิมอย่างต่อเนื่อง ความเสียหายจะลดลง ลดภาระภาครัฐที่จะต้องเยียวยาด้วย


"ถ้าปิดต่อเนื่อง ไม่ว่าธุรกิจใดก็ไปไม่ไหว ถ้าเสียหายเยอะขนาดนี้ ประเทศเราจะไปไม่ไหว"

คุณอาจสนใจ