สังคม
'กรมทรัพยากรธรณี' เผย การทรุดเขาหินปูน จ.พังงา เกิดจากปัจจัยธรรมชาติ และการกระตุ้นจากรากต้นไม้
โดย parichat_p
8 ธ.ค. 2567
67 views
กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยผลการศึกษาวิจัย เพื่อประเมินรูปแบบการวิบัติ บริเวณฐานเขาตาปู จังหวัดพังงา พร้อมกับศึกษาแนวทางการรักษาเสถียรภาพของเขาตาปู ให้มั่นคงแข็งแรง ข่าว 3 มิติ พบว่ากรณีเขาหินปูนถล่มในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.พังงา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ที่จะอธิบายถึงสาเหตุและลักษณะที่เขาหินปูน อายุนับหมื่นปี จะพังถล่มลงมาได้ พร้อมกับมาตรการเตือนภัย ที่กรมทรัพยากรธรณีแจ้งไปยังท้องถิ่น หรือชุมชนที่อยู่ใกล้ภูเขาลักษณะดังกล่าว
เขาหินปูนลูกนี้ตั้งอยู่ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ต.ท้ายช้าง อ.เมือง พังงา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เมื่อเวลาราว 03.00 น. ต่อเนื่องถึง 05.00 น. ได้เกิดเหตุการณ์การร่วงหล่นของหิน หรือในทางธรณีวิทยาเรียกว่า Rock fall ทำให้เห็นก้อนหินแตกแยก ออกจากกันชัดเจน
เหตุการณ์นี้แม้ไม่มีผู้ได้รับอันตราย เพราะเกิดเช้ามืด แต่ในทางธรณีวิทยาถือว่าเมื่อส่วนใดส่วนหนึ่ง ได้ทรุดพัง หรือสลายลงแล้ว มีโอกาสที่สวนอื่นๆจะพังลงตามมาด้วย ทำให้กรมทรัพยากรธรณี ต้องสำรวจให้ชัด และแจ้งเตือนภัยให้ชุมชนหรือองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่รับผิดชอบได้รับทราบเพื่อรับมือป้องกัน
กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าการทรุดหรือร่วงลงของหินปูนดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยธรรมชาติ ที่ก้อนหินมีรอยแตกร้าวลึกกระจายกันอยู่ตามแนวเขา และส่วนหนึ่งก็เกิดการกระตุ้น จากรากของต้นไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทำให้ร่องรอยหินที่แตกนั้นถูกกัดเซาะด้วยน้ำฝนดิน หรือความชื้น นานเข้าก็เกิดการการทรุดตัวลงได้
รองอธิบดีกรมธรณีวิทยา ชี้ให้เห็นว่าลักษณะของเขาตาปู ในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ที่กรมทรัพยากรธรณีเฝ้าระวังการทรุดตัวอยู่ ก็มีลักษณะคล้ายกัน คือตัวเขาหินปูน มีรอยแตก และมีรากไม้ไปกระตุ้นในรอยแตกนั้นด้วย แต่ส่วนที่ต่างกันคือเขาตาปูมีความเสี่ยงที่ฐาน ซึ่งมีขนาดบางกว่ายอดบนและยังพบโพรงที่ฐานเขาตาปูด้วย
ตอนนี้กรมทรัพยากรธรณี พบการร่วงของหินมากถึง 14-15 จุด เฉพาะในสวนสาธารณแห่งนี้แห่งนี้ โดยได้แจ้งให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทราบ พร้อมแนะนำให้เฝ้าระวังป้องกัน เพราะเขาหินปูนที่มีส่วนร่วงหรือพังลงมานี้ ยังมีโอกาสที่จะพังลงเพิ่มในลักษณะการสไลด์ของแผ่นหิน ที่อยู่เหนือขึ้นไปจากจุดที่พังลงมาก่อนหน้านี้
การพังลงในลักษณะหินร่วง หรือ Rock fall เขาภูเขาหินปูนลูกนี้ บ่งนี้ชัดเจนว่าทั้งมาจากปัจจัยธรรมชาติของหินที่พร้อมจะทรุด เพราะมีรอยแตกผุ ตามการเวลา และปัจจัยกระตุ้นทั้งจากต้นไม้ รากไม้ น้ำฝน ความชื้น และแรงสั่นสะเทือนทั้งที่เกิดจาก การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกและสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ของมนุษย์ ทั้งหมดล้วนมีส่วนให้เกิดการทรุดตัว โดยการศึกษาวิเคราะห์ ประเมินและแจ้งเตือนล่วงหน้า ของกรมทรัพยากรธรณี จะเป็นหนึ่งมาตรการป้องกันความสูญเสียต่อชวิตและทรัพย์สินได้
แท็กที่เกี่ยวข้อง กรมทรัพยากรธรณี ,เขาหินปูน ,เขาตาปูทรุด