สังคม
ถอดบทเรียนมหาอุทกภัย 'แม่สาย' แนะรัฐบาลวางแผนรับมือทั้งระยะสั้นและระยะยาว
โดย chawalwit_m
11 พ.ย. 2567
531 views
เหตุการณ์น้ำป่าหลากทะลักทั้งที่ "แม่สาย" เเละ "เวียงป่าเป้า" ของ จ.เชียงราย เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผ่านมาจนครบ 2 เดือนเเล้ว เเต่ร่องรอยความเสียหายยังปรากฏชัดเจน ท่ามกลางข้อห่วงกังวลจากหลายฝ่าย ซึ่งเกรงว่า ถ้าไม่เร่งกำหนดเเผนหรือมีมาตรการป้องกัน พอถึงช่วงฤดูฝนปีหน้า เหตุการณ์อาจจะกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง
ล่าสุด "คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม วุฒิสภา" ลงพื้นที่สำรวจเเละนำผลศึกษามาวิเคราะห์ พบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความรุนเเรงของภัยธรรมชาติ ก็คือสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในลำน้ำ เเละเห็นว่าในจุดเสี่ยงทุกพื้นที่ ควรมีระบบเเจ้ง-เตือนภัยที่เข้าถึงง่ายเพื่อรักษาชีวิต
มหาอุทกภัยที่เเม่สายเมื่อ 2 เดือนก่อน สร้างความเสียหายเเละส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ความรุนเเรงของกระเเสน้ำในขณะนั้น ทำให้อาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ติดริมเเม่น้ำสาย เเละที่อยู่ในทิศทางไหลของน้ำ ยังคงมีสภาพอย่างที่เห็น
จากผลกระทบที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายร่วมกันถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม วุฒิสภา นำโดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภาในฐานะประธานกรรมาธิการฯ หยิบยกประเด็นนี้เป็นวาระด่วน ก่อนหน้านี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ-เสนอเเนวทาง ก่อนจะลงพื้นที่เข้าสำรวจเเละพบว่า
นอกจากปริมาณฝนสะสมที่เกิดจากการเเปรปรวนของสภาพอากาศ ตะกอนดินที่เกิดจากการทำเหมืองในฝั่งพม่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลต่อความความรุนเเรงก็คือ สิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในล้ำน้ำ จะเห็นว่าทั้ง 2 ฝั่งเเม่น้ำสาย โดยเฉพาะช่วงที่ไหลผ่านเขตเทศบาลตำบลเเม่สาย ตลาดสายลมจอย เเละชุมชนใกล้เคียง เกาะทราย ไม้ลุงขน เเม่น้ำมีลักษณะถูกบีบเเละเเคบ
ขณะนี้ท้องถิ่นเเละจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาระยะร่น 40 เมตรจากลำน้ำ ซึ่งจะต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชน ขอย้ายจุดที่ตั้งอาคารบ้านเรือนออกมาเพื่อป้องกันความสูญเสียทั้งชีวิตเเละทรัพย์สิน
บ้านหวยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นอีกหนึ่งจุดพื้นที่ห่างไกลที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำหลาก สาดซัดอาคารเรียน ทรัพย์สิน เเละบ้านเรือนบางส่วนหายไปกับกระเเสน้ำ เหตุการณ์วันนั้น ยังสร้างความหวาดผวาให้กับผู้คนที่นี่ โดยเฉพาะในวันที่ฝนตกหนักต่อเนื่อง พวกเขากังวลว่า เหตุการณ์อาจจะกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง
กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิสภา พบว่า ที่นี่โดดเด่นเรื่องการอนุรักษ์ดินเเละน้ำ มีเครือข่ายที่เข้มเเข็ง เเต่การตั้งถิ่นฐานบริเวณร่องน้ำเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง เเละมีโอกาสเกิดได้อีก จึงเป็นโจทย์ที่จะต้องร่วมกันออกเเบบเพื่อลดผลกระทบ
การเตือนภัยที่เข้าถึงง่ายเเละทั่วถึง ก็เป็นอีกข้อเสนอ ที่กรรมาธิการฯเห็นว่ารัฐต้องสนับสนุน มีการฝึกอบรม เเละเอามาปรับใช้ โดยเฉพาะที่บ้านห้วยหินลาดใน ซึ่งมีเเค่ไฟฟ้าระบบโซล่าเซลล์ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์
ข้อมูล ข้อเสนอเเนะ เเละรายงานการศึกษาทั้งหมด กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม จะรวบรวมเสนอต่อสภาเเละส่งถึงรัฐบาล เพื่อกำหนดเป็นนโยบาย วางเเผนระยะสั้นเเละระยะยาว
เช่นเดียวกับปัญหาดินโคลนถล่ม ปีนี้มีผู้เสียชีวิต เเละบ้านเรือนพังเสียหายจำนวนมาก ล่าสุด ก็มีชาวบ้านที่ อ.เเม่อาย จ.เชียงใหม่ สะท้อนปัญหานี้ฝากถึงกรรมาธืการเเละรัฐบาลด้วย
แท็กที่เกี่ยวข้อง แม่สาย ,อำเภอแม่สาย ,น้ำท่วมแม่สาย ,แก้น้ำท่วม ,น้ำท่วมใหญ่