สังคม

'กรมป่าไม้' แถลงผลตรวจ 'ไร่เชิญตะวัน' พบไม่รุกป่า เพราะไม่ได้ใช้พื้นที่เกินกว่าที่ขออนุญาต

โดย panwilai_c

25 ต.ค. 2567

63 views

ความคืบหน้า ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ของศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ที่เชียงราย ล่าสุด กรมป่าไม้ออกมาแถลงยืนยัน "พื้นที่ขอใช้ประโยชน์ทั้ง 3 แปลง ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ในปี 2566 เจ้าหน้าที่เข้าตรวจรังวัดพิกัด ไม่พบการบุกรุกหรือใช้พื้นที่เกินกว่าที่ขออนุญาต"



บางช่วงจากถ้อยแถลงของรองอธิบดีกรมป่าไม้ นายบรรณรักษ์ เสริมทอง แจ้งผลตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ราว 140 ไร่ ในจุดที่มีสภาพป่าเสื่อมโทรม ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย อ.เมือง จ.เชียงราย ยืนยันไม่พบการบุก หรือ ทำเกินกว่าที่ขอหรือได้รับอนุญาต



กรมป่าไม้ ระบุว่า พื้นที่ขอใช้ประโยชน์ทั้ง 3 แปลง ได้รับอนุญาตในปี 2566



แปลงแรก ยื่นขอโดยมูลนิธิวิมุตตยาลัย เนื้อที่ 113 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ เมื่อ 13 มีนาคม 2566 จนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2596 เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ธรรมสมโภช 750 ปี รัตนบุรีเชียงราย โรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ และเพื่อใช้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐาน



แปลงที่ 2 เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา ขอในนาม "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนฯ เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566 ถึง 22 พฤศจิกายน 2596 เพื่อจัดตั้งวัดไร่เชิญตะวัน



และแปลงที่ 3 เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 1 ตารางวา อนุญาตให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สร้างศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ได้รับอนุญาตเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566 ถึง 22 พฤศจิกายน 2596



นี่คือสำเนาหนังสืออนุญาต ซึ่งทั้ง 3 แปลง กรมป่าไม้อนุญาตให้ทำประโยชน์ ระบุระยะเวลา 30 ปี แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เช่น ต้องช่วยปลูกป่าดูแลรักษาป่า การก่อสิ่งปลูกสร้างต้องไม่ส่งผลกระทบหรือเกินกว่าที่กำหนด



นี่คือแผนภาพถ่ายดาวเทียม ที่กรมป่าไม้นำมาใช้ประกอบการอธิบาย จากภาพแรกจะเห็นสภาพเดิมก่อนอนุญาต ปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์และไม่ได้มีสภาพเป็นป่า



เมื่อนำพิกัดเดิม มาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมปัจจุบัน จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชัดเจน กรอบแดงแสดงพื้นที่ที่มูลนิธิฯขอใช้ กรอบเหลืองคือที่ตั้งวัดไร่เชิญตะวัน และกรอบม่วง คือที่ตั้งของศูนย์วิปัสสนาฯ จากตรวจรังวัดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ครั้งล่าสุด ไม่พบการบุกรุก หรือใช้เกินกว่าที่ขออนุญาต



กรมป่าไม้ ระบุว่า มีวัดที่ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ป่า ไม่น้อยกว่า 9,000 แห่ง ปัจจุบันผ่านการพิจารณาและอนุญาตแล้วราว 1,000 แห่ง เนื้อที่ไม่น้อยกว่าหมื่นไร่ การอนุญาตจะอยู่ภายใต้เงื่อนไข และในพื้นที่นั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชนด้วย



จะมีกรรมการลงไปตรวจทุกปี หากพบการละเมิดก็มีมาตรการกำหนดไว้แล้ว สูงสุดคือยกเลิก-ให้ออกจากพื้นที่ และจะมีโทษทางอาญาด้วย หากพบการเปิดป่า-บุกรุกครอบครองเกินขอบเขต

คุณอาจสนใจ

Related News